รมว.ต่างประเทศสหรัฐทัวร์อาเซียน เป่าหูพันธมิตรต้านจีน

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ประเดิมทริปอาเซียนที่อินโดนีเซีย กล่าวสุนทรพจน์ถล่มจีนชุดใหญ่ ระบุทั่วภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกังวลและต้องการให้จีนเปลี่ยน "พฤติกรรมก้าวร้าว" ชี้สหรัฐจะร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อปกป้องระเบียบโลกที่อิงอยู่บนกฎกติกา

แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ใช้ข้อศอกชนกับเรตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย แทนการจับมือ ระหว่างการพบหารือที่กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีและรอยเตอร์เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ มาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกนับแต่รับตำแหน่งในรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่กำลังพยายามตั้งต้นความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้งและตอกย้ำอิทธิพลของสหรัฐในเอเชีย หลังความปั่นป่วนและคาดคะเนไม่ได้ในยุคสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์

อินโดนีเซียเป็นประเทศแรกจากกำหนดการเยือน 3 ประเทศ ซึ่งรวมถึงไทยและมาเลเซีย ในการกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียเมื่อวันอังคาร บลิงเคนเปิดเผยถึงแนวทางของสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกว่า รัฐบาลสหรัฐจะทำงานร่วมกับชาติพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อ "ปกป้องระเบียบที่ตั้งอยู่บนกฎกติกา" และว่า ประเทศต่างๆ ควรมีสิทธิที่จะ "เลือกเส้นทางของตนเอง" โดยปราศจากการบีบบังคับและข่มขู่ ซึ่งเป็นการเหน็บจีนกลายๆ

"นั่นเป็นเหตุผลที่มีความกังวลกันอย่างมาก ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตั้งแต่แม่น้ำโขงไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิก เกี่ยวกับการกระทำที่ก้าวร้าวของจีน" บลิงเคนกล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างเรื่องการอ้างสิทธิของจีนเหนือน่านน้ำสากล, การบิดเบือนตลาดเปิด ผ่านการให้เงินอุดหนุนบริษัทที่ดำเนินการโดยรัฐ, ปฏิเสธการส่งออก หรือเพิกถอนข้อตกลงสำหรับประเทศที่จีนไม่เห็นด้วยกับนโยบาย "ประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคต้องการให้เปลี่ยนพฤติกรรมนี้ เราก็เช่นกัน"

รัฐมนตรีสหรัฐเสริมด้วยว่า สหรัฐมุ่งมั่นที่จะรับประกันเสรีภาพในการเดินเรือในทะเลจีนใต้ และว่า การกระทำของจีนที่นี่คุกคามการเคลื่อนไหวทางการค้าที่มีมูลค่ามากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ทุกปี

เขากล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรตามสนธิสัญญา เช่น ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไทย และฟิลิปปินส์ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการป้องกันและข่าวกรองกับหุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิก รวมไปถึงปกป้องอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและปลอดภัย

กระนั้น บลิงเคนย้ำว่า นี่ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างภูมิภาคที่มีสหรัฐเป็นศูนย์กลาง หรือภูมิภาคที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นอินโด-แปซิฟิกที่เป็นภูมิภาคของตนเอง สหรัฐต้องการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งที่นี่

รัฐบาลสหรัฐในยุคของประธานาธิบดีไบเดนยังมุ่งมั่นจะสร้างกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกที่ครอบคลุมขึ้นมาใหม่ และต้องการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรทางทหารในภูมิภาคนี้

ประเทศในภูมิภาคนี้ต้องเผชิญกับงานที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ในการพยายามส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีทั้งกับจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญ กับสหรัฐ ที่มีความสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงของภูมิภาค

บลิงเคนกล่าวถึงไต้หวันด้วย โดยบอกว่าสหรัฐต้องการทำให้แน่ใจใน "สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน"

ส่วนประเด็นเมียนมาซึ่งรัฐบาลสหรัฐใช้คำเรียกชื่อแบบเก่าว่าพม่า บลิงเคนย้ำว่าสหรัฐจะกดดันให้พม่า "ยุติการใช้ความรุนแรง, ปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรมทุกคน, อนุญาตให้เข้าถึงได้โดยไม่จำกัด และรื้อฟื้นเส้นทางสู่ประชาธิปไตยที่ครอบคลุมของพม่า".

เพิ่มเพื่อน