ชาวสวีเดน 2 คนเสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่บรัสเซลส์

ชาวสวีเดน 2 คนถูกยิงเสียชีวิตในกรุงบรัสเซลส์เมื่อค่ำวันจันทร์โดยผู้ต้องสงสัยซึ่งยังคงลอยนวล ซึ่งการโจมตีดังกล่าวถูกนายกรัฐมนตรีเบลเยียมระบุว่าเป็น "การก่อการร้าย"

เจ้าหน้าที่ตำรวจเบลเยียมยืนเฝ้าพื้นที่บนถนนที่มีผู้เสียชีวิต 2 รายจากเหตุกราดยิงในกรุงบรัสเซลส์ เมื่อค่ำวันที่ 16 ตุลาคม โดยผู้ต้องสงสัยอยู่ในระหว่างการหลบหนี (Photo by Kenzo TRIBOUILLARD / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2566 กล่าวว่า เกิดเหตุกราดยิงในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ทำให้ชาวสวีเดน 2 รายเสียชีวิต และคนร้ายหลบหนีไปได้

มือปืนสวมแจ็กเก็ตสีส้มเรืองแสงและขี่สกู๊ตเตอร์หนีไปได้หลังก่อเหตุกราดยิง ทำให้หน่วยงานความมั่นคงของเบลเยียมจำเป็นต้องยกระดับการแจ้งเตือนก่อการร้ายสำหรับภูมิภาคบรัสเซลส์เป็นระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด และแจ้งเตือนระดับ 3 สำหรับพื้นที่อื่นทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรีอเล็กซานเดอร์ เดอ ครู ของเบลเยียม กล่าวว่าเหตุกราดยิงดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่พลเมืองสวีเดน

"ผมได้แสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อนายกรัฐมนตรีสวีเดนภายหลังเหตุโจมตีพลเมืองสวีเดนในกรุงบรัสเซลส์เมื่อคืนนี้ และขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่สูญเสียคนที่รัก ในฐานะพันธมิตรที่ใกล้ชิด เราจะต่อสู้กับการก่อการร้ายนี้เคียงข้างกัน" เดอ ครู กล่าวผ่านโซเชียลมีเดีย ขณะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและมหาดไทยที่ศูนย์วิกฤตแห่งชาติ

สื่อเบลเยียมหลายแห่งกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายสวมเสื้อฟุตบอลของทีมชาติสวีเดน ก่อนการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสวีเดนและเบลเยียมซึ่งต่อมาถูกยกเลิกการแข่งขันไปในช่วงพักครึ่งเวลา เนื่องจากเหตุการณ์กราดยิงดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวในสนามแข่งขัน Roi Baudouin ของกรุงบรัสเซลส์กล่าวว่า แฟนบอลราว 35,000 คนถูกกักตัวไว้ในสนาม และเว็บไซต์ของยูฟ่ากล่าวว่าการแข่งขันถูกยกเลิกไปในขณะที่ทั้งสองทีมเสมอกันอยู่ 1 ประตู ต่อ 1

สื่อเบลเยียมรายงานว่า นักเตะสวีเดนไม่อยากแข่งขันต่อหลังแฟนบอลถูกยิง

อัยการรัฐบาลกลางที่รับผิดชอบคดีก่อการร้ายเปิดการสอบสวนทันที พร้อมข้อมูลที่ว่ามีการเผยแพร่วีดีโอบนโลกออนไลน์ของชายคนหนึ่งที่พูดภาษาอาหรับและอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุกราดยิงดังกล่าวซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากกลุ่มไอเอส

ทั้งนี้ เหตุกราดยิงเกิดขึ้นทางตอนเหนือของเมืองหลวง และตำรวจได้รับแจ้งเหตุดังกล่าวหลังเวลา 19.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันอังคาร (เที่ยงคืนวันพุธ ตามเวลาประเทศไทย)

ปัจจุบัน ตำรวจได้ปิดล้อมบริเวณที่เกิดเหตุกราดยิงเพื่อทำการเก็บหลักฐาน

สถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งในกรุงบรัสเซลส์ถูกสั่งปิดให้บริการเช่นกัน

กรุงบรัสเซลส์เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่สหภาพยุโรป ซึ่งรวมถึงคณะกรรมาธิการยุโรปและรัฐสภายุโรป ทำให้เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ออกแถลงการณ์ประณามเหตุกราดยิงดังกล่าวและให้กำลังใจผู้สูญเสีย

"คืนนี้ ดิฉันขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของเหยื่อทั้งสองรายจากเหตุโจมตีอันน่ารังเกียจในกรุงบรัสเซลส์ และขอส่งกำลังใจด้วยใจจริงไปยังตำรวจเบลเยียม เพื่อให้พวกเขาสามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยได้อย่างรวดเร็ว และเราจะยืนหยัดต่อสู้กับความหวาดกลัวไปด้วยกัน" ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าว

ประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส กล่าวต่อเหตุกราดยิงครั้งนี้เช่นกันว่า "ยุโรปกำลังสั่นคลอนจากการโจมตีของอิสลามิสต์ในกรุงบรัสเซลส์"

เบลเยียมและฝรั่งเศสต่างตกเป็นเป้าหมายของการโจมตีโดยกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) มาตลอด และพยายามเพิ่มมาตรการร่วมกันในการเฝ้าระวังกลุ่มหัวรุนแรงทุกเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอาหรับมุสลิม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง