นายกฯ กัมพูชา ยันชาวบ้านต้องย้ายออกจากนครวัด

นายกรัฐมนตรีกัมพูชายืนยันจะเดินหน้าย้ายชุมชนออกจากพื้นที่นครวัดต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ขององค์การยูเนสโก แม้มีเสียงคัดค้านจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนก็ตาม

นักท่องเที่ยวเยี่ยมชมนครวัดในจังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา (Photo by TANG CHHIN SOTHY and TANG CHHIN SOTHY / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธันวาคม 2566 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต ของกัมพูชา ยืนยันจะดำเนินการย้ายชุมชนหลายพันครัวเรือนออกจากนครวัดต่อไป แม้ว่ากลุ่มสิทธิมนุษยชนและนานาชาติจะประณามก็ตาม

รัฐบาลพนมเปญเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า ชุมชนกว่า 10,000 ครัวเรือนยินยอมที่จะออกจากพื้นที่อันกว้างใหญ่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก เพื่อไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ “รุนตาเอก” ซึ่งเป็นชุมชนใหม่ที่สร้างขึ้นจากอดีตนาข้าวและอยู่ห่างออกไปจากถิ่นฐานเดิมประมาณ 25 กิโลเมตร

เมื่อเดือนที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวหากัมพูชาว่าฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศด้วยการ "บังคับขับไล่" ผู้คนออกจากสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของประเทศ และเรียกร้องให้ระงับการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าวทันที

แต่ฮุน มาเนตกล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า การย้ายถิ่นฐานจะดำเนินต่อไปเพื่อให้นครวัดซึ่งถือเป็นจิตวิญญาณของประเทศ ได้รับการปกป้อง และกระตุ้นให้ชาวกัมพูชามีส่วนร่วมปกป้องสิ่งนี้มากขึ้น

“เราจะต้องร่วมมือกันอนุรักษ์และดำเนินการเพื่อให้จิตวิญญาณนี้คงความสดใสต่อไปอีกหลายพันปี นี่เป็นเพียงก้าวแรกให้เราดำเนินการ” เขากล่าว พร้อมออกคำสั่งเจ้าหน้าที่ให้ป้องกันไม่ให้ผู้คนเข้าไปตั้งถิ่นฐานภายในพื้นที่มรดกโลก

ในระหว่างภารกิจมอบโฉนดที่ดินทำกินให้ประชาชนกว่า 5,000 ครัวเรือน นายกรัฐมนตรีกัมพูชายอมรับว่า "ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะย้ายถิ่นฐานที่อยู่มานานจากแห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง"

เขาให้คำมั่นที่จะสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างเพียงพอที่รุนตาเอก พร้อมทั้งจัดให้มีรถรับส่งฟรี 10 เที่ยวต่อวันระหว่างถิ่นฐานเดิมและถิ่นฐานใหม่

ฮุน มาเนตกล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานดังกล่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะเงื่อนไขบางประการของยูเนสโก เพื่อให้นครวัดยังดำรงสถานะเป็นมรดกโลก

องค์การนิรโทษกรรมกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอัปสราแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ดังกล่าวและกระทรวงที่ดินกัมพูชา กำลังใช้ยูเนสโกเป็นข้ออ้างในการบังคับผู้คนให้ย้ายถิ่นฐาน

ไม่นานมานี้ ยูเนสโกเพิ่งแสดงความกังวลอย่างมากในประเด็นบังคับย้ายถิ่นฐานดังกล่าว และยืนยันว่าองค์การฯไม่เคยร้องขอหรือสนับสนุน และไม่เคยมีส่วนร่วมในการกระทำเช่นนั้น

แหล่งท่องเที่ยวอันมีชื่อเสียงแห่งนี้สร้างขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 และในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นครโบราณแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากกว่า 2 ล้านคนต่อปี

การมาเยือนของนักท่องเที่ยวในแต่ละปีก่อให้เกิดเศรษฐกิจระดับจุลภาคในพื้นที่ จากธุรกิจแผงขายของ, ขายอาหารและของที่ระลึก เช่นเดียวกับอาชีพขอทาน และจำนวนประชากรในท้องถิ่นก็เพิ่มขึ้นจากประมาณ 20,000 คนในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เป็นประมาณ 120,000 คนภายในปี 2013

ทางการกัมพูชากล่าวว่าการตั้งถิ่นฐานอย่างไม่เป็นทางการได้ทำลายสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นด้วยการผลิตขยะและการใช้ทรัพยากรน้ำมากเกินไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ครม.เห็นชอบ 'สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา' เข้าบัญชีเบื้องต้นมรดกโลก

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. (9 เมษายน 2567) มีมติเห็นชอบเอกสารนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลาและชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” ภายใต้ชื่อ Songkhla and its Associated Lagoon Settlements

'แพทองธาร' บอกดีมากๆ ไปเยือนกัมพูชา ใช้โมเดลการเมือง มาปรับใช้กับไทย

น.ส.แพทองธาร นางสาว แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการเดินทางไปเยือนกัมพูชาว่า เป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ