ผู้นำเกาหลีใต้อนุญาตให้นาวิกโยธินยิงก่อนแล้วค่อยรายงานทีหลัง หากถูกยั่วยุ

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้อนุมัติให้เหล่านาวิกโยธินสามารถดำเนินการโจมตีก่อนแล้วค่อยรายงานทีหลังได้ หากถูกยั่วยุจากเกาหลีเหนือ 

ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ (Photo by Kiyoshi Ota / POOL / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ ใช้โอกาสในการเยือนหน่วยนาวิกโยธินซึ่งทำหน้าที่อยู่แนวหน้าของประเทศ ด้วยการอนุญาตให้หน่วยดังกล่าวสามารถดำเนินการตอบโต้ได้ตามสมควรโดยไม่ต้องรอคำสั่ง หากเกิดการยั่วยุจากฝั่งเกาหลีเหนือซึ่งมีท่าทีคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆในระยะหลัง

ผู้นำเกาหลีใต้ซึ่งได้สนับสนุนความร่วมมือด้านกลาโหมกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2565 กล่าวต่อเหล่านาวิกโยธินว่า "หากศัตรูยั่วยุเรา ให้ยึดหลักการ 'จัดการก่อน รายงานทีหลัง' และตอบสนองอย่างเด็ดขาด โดยไม่ลังเลที่จะทำลายเจตจำนงของศัตรูให้สิ้นซาก" ซึ่งเป็นการแสดงจุดยืนเดิมเหมือนที่เคยให้ไว้ระหว่างการเยือนหน่วยทหารแนวหน้าในเดือนธันวาคม

นอกจากนี้ เขายังได้ร่วมชมการทดสอบระบบโจมตีด้วยการยิงหลายครั้งในวันเสาร์ซึ่งเป็นวันปีใหม่ของเกาหลี และเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเตรียมพร้อมเต็มที่เพื่อตอบโต้อย่างทันท่วงที ในกรณีที่ศัตรูทำการยั่วยุ

ผู้นำเกาหลีใต้กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลอันธพาลเปียงยางมีแนวโน้มที่จะดำเนินการยั่วยุหลายครั้ง รวมถึงการโจมตีทางไซเบอร์และการบุกรุกด้วยโดรน ก่อนการเลือกตั้งของเกาหลีใต้ในวันที่ 10 เมษายน

ในปีนี้ เกาหลีเหนือได้ประกาศให้เกาหลีใต้กลายเป็นศัตรูตัวฉกาจต่อประเทศของตน พร้อมยกเลิกความร่วมมือในการรวมประเทศทั้งหมดและขู่ว่าจะทำสงครามเต็มตัวหากมีการละเมิดดินแดนแม้เพียง 0.001 มิลลิเมตร

คิมจองอึนกล่าวย้ำเมื่อวันศุกร์ว่า เกาหลีเหนือไม่ลังเลที่จะถล่มเกาหลีใต้ให้ราบคาบหากถูกโจมตีก่อน โดยเรียกดินแดนทางใต้ว่าเป็น "รัฐที่เป็นอันตรายที่สุดและเป็นศัตรูตัวฉกาจที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้"

นอกจากนี้ ทั้งสองชาติยังได้เพิ่มการรักษาความมั่นคงบริเวณชายแดนในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และดำเนินการฝึกซ้อมด้วยกระสุนจริงตามแนวชายแดนที่ใช้ร่วมกัน

เมื่อเดือนที่แล้ว เกาหลีเหนือยิงถล่มด้วยปืนใหญ่ใกล้เกาะชายแดนเกาหลีใต้ 2 เกาะ ส่งผลให้เกิดการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงโดยเกาหลีใต้ และคำสั่งอพยพประชาชน

ยุน ซ็อก-ยอล เข้ารับตำแหน่งผู้นำเกาหลีใต้โดยให้คำมั่นว่าจะดำเนินนโยบายเข้มงวดกับรัฐบาลเปียงยาง และพรรคอนุรักษนิยมของเขาตั้งเป้าที่จะได้เสียงข้างมากในรัฐสภากลับคืนมาเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559 จากการเลือกตั้งในปีนี้

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เกาหลีเหนือมีประวัติการยั่วยุมายาวนานก่อนการเลือกตั้งของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ก่อกวนความสงบของดินแดนร่วมคาบสมุทร.

เพิ่มเพื่อน