อินโดฯ อพยพหลายพันคน หลังภูเขาไฟระเบิด เสี่ยงสึนามิ

กู้ภัยอินโดนีเซียเร่งอพยพผู้คนหลายพันคนหลังภูเขาไฟปะทุ 5 ครั้ง ส่งผลให้ทางการต้องปิดสนามบินใกล้เคียง และออกคำเตือนสึนามิ

กลุ่มควันที่ยังคงปะทุออกมาจากภูเขาไฟรวง (Mount Ruang) ในพื้นที่จังหวัดสุลาเวสีเหนือของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 18 เมษายน (Photo by Handout / National Search and Rescue Agency (BASARNAS) / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2567 กล่าวว่า จากเหตุภูเขาไฟรวง (Mount Ruang) เกิดปะทุตั้งแต่ช่วงดึกวันอังคาร ในพื้นที่จังหวัดสุลาเวสีเหนือของอินโดนีเซีย และพ่นเถ้าถ่านควันขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร

ล่าสุด เกิดการปะทุเพิ่มเติมอีก 4 ครั้งในวันพุธ ส่งผลให้ทางการต้องยกระดับการแจ้งเตือนภัยขึ้นสู่ระดับสูงสุด

ภูเขาไฟบนเกาะห่างไกลในภูมิภาคนอกสุดของอินโดนีเซียยังคงปล่อยกลุ่มควันออกมาเมื่อเช้าวันพฤหัสบดี ทำให้ทางการต้องปิดสนามบินนานาชาติที่ใกล้ที่สุดในเมืองมานาโดบนเกาะสุลาเวสี เป็นเวลา 24 ชั่วโมงจนถึงเย็นวันพฤหัสบดี

บ้านเรือนบนเกาะตากูลันดังที่อยู่ใกล้เคียง เต็มไปด้วยหลุมจากหินภูเขาไฟที่ตกลงมา และชาวบ้านกำลังเตรียมที่จะอพยพออกจากพื้นที่เป็นการชั่วคราว ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยอินโดนีเซียเองก็เร่งอพยพประชาชนมากกว่า 11,000 คน

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังได้อพยพเรือนจำบนเกาะตากูลันดัง โดยขนส่งนักโทษ 17 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ 11 คน และผู้อยู่อาศัย 19 คนโดยทางเรือไปยังท่าเรือลิกูปัง ทางตอนเหนือของเกาะสุลาเวสี

"หัวหน้าเรือนจำร้องขอให้อพยพ เนื่องจากสถานที่นี้ตั้งอยู่ทิศทางตรงข้ามกับภูเขาไฟ" เจ้าหน้าที่กู้ภัยกล่าว

ทางการยังได้กำหนดเขตห้ามเข้าระยะทาง 6 กิโลเมตรรอบๆ ปล่องภูเขาไฟ และออกคำเตือนนักท่องเที่ยวและผู้อยู่อาศัยให้อยู่ห่างจากพื้นที่ดังกล่าว

เบื้องต้น ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บใดๆ แต่ประชาชนมากกว่า 800 คนได้อพยพออกจากหมู่บ้าน 2 แห่งบนเกาะรวง ไปยังเกาะตากูลันดังที่อยู่ใกล้เคียงหลังการปะทุครั้งแรกเมื่อวันอังคาร ก่อนที่จะเกิดการปะทุอีก 4 ครั้งในวันพุธ และทำให้เกิดการอพยพประชาชนอีกรอบออกจากเกาะตากูลันดัง

นอกจากนี้ ทางการยังได้เตือนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดสึนามิอันเป็นผลมาจากการปะทุดังกล่าว

"ชุมชนต่างๆ บนเกาะตากูลันดัง โดยเฉพาะชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้ชายหาด จำเป็นต้องตื่นตัวต่อความเป็นไปได้ของภาวะหินเรืองแสง, เมฆร้อน และสึนามิที่เกิดจากการพังทลายของเศษภูเขาไฟลงสู่ทะเล" เฮนดรา กุนาวัน หัวหน้าหน่วยงานภูเขาไฟวิทยาของอินโดนีเซีย ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ.

เพิ่มเพื่อน