เด็กชาวปาเลสไตน์ใช้ชีวิตท่ามกลางบรรยากาศของบ้านเมืองที่ล่มสลาย ตามท้องถนนในเมืองข่าน ยูนิส ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังคงดำเนินอยู่ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส (Photo by Bashar TALEB / AFP)
หลังจากสมาชิกกลุ่มฮามาสซึ่งเป็นนักรบชาวปาเลสไตน์ได้ก่อเหตุโจมตีที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์อิสราเอล เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 อิสราเอลได้ตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางทหารที่ทำลายล้างในฉนวนกาซาซึ่งกระทรวงสาธารณสุขของดินแดนที่ปกครองโดยฮามาสระบุว่าปฏิบัติการทางอากาศและภาคพื้นดินได้สังหารผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 39,677 ราย
สงครามในตะวันออกกลางครั้งนี้ดำเนินเข้าสู่เดือนที่ 12 แล้ว ต่อไปนี้คือการย้อนดูช่วงเวลาสำคัญของสงครามตั้งแต่ Day 1
- การโจมตีของกลุ่มฮามาส -
รุ่งสางของวันที่ 7 ตุลาคม นักรบฮามาสหลายร้อยคนได้แทรกซึมเข้าไปในอิสราเอล
กลุ่มนักรบทำการสังหารพลเรือนบนท้องถนน, ในบ้านของพวกเขา และในงานเทศกาลดนตรีในทะเลทราย และโจมตีทหารในฐานทัพของกองทัพอิสราเอล
กลุ่มนักรบจับตัวประกัน 251 คนและนำตัวกลับฉนวนกาซา โดย 111 คนยังคงถูกควบคุมตัวอยู่จนถึงปัจจุบัน รวมถึง 39 คนที่กองทัพอิสราเอลระบุว่าเสียชีวิตแล้ว
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูของอิสราเอลประกาศทำลายล้างกลุ่มฮามาสซึ่งถูกสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำเป็นองค์กรก่อการร้าย
- การอพยพออกจากฉนวนกาซาเหนือ -
อิสราเอลเริ่มโจมตีและปิดล้อมฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม อิสราเอลเรียกร้องให้พลเรือนในฉนวนกาซาเหนืออพยพลงใต้ก่อนที่จะมีการโจมตีภาคพื้นดิน
ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 สหประชาชาติคาดว่าประชากรของฉนวนกาซาเกือบทั้งหมดถูกสถานการณ์สงครามบังคับให้อพยพออกจากพื้นที่อย่างน้อยหนึ่งครั้ง
- การรุกรานภาคพื้นดิน -
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม อิสราเอลเปิดฉากโจมตีภาคพื้นดิน
เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน กองทหารอิสราเอลบุกโจมตีโรงพยาบาลอัลชิฟา ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในฉนวนกาซา โดยอิสราเอลอ้างว่าฮามาสใช้เป็นศูนย์บัญชาการ ซึ่งฮามาสปฏิเสธ
- สงบศึกและแลกเปลี่ยนตัวประกัน -
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ข้อตกลงสงบศึกระหว่างอิสราเอลและฮามาสเป็นเวลา 1 สัปดาห์มีผลบังคับใช้
ฮามาสปล่อยตัวตัวประกันชาวอิสราเอล 80 คน เพื่อแลกกับชาวปาเลสไตน์ 240 คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำของอิสราเอล ตัวประกันอีก 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานฟาร์มชาวไทย ได้รับการปล่อยตัวนอกข้อตกลงเช่นกัน
อิสราเอลอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือเพิ่มเติมเข้าไปในฉนวนกาซาระหว่างช่วงพักรบ แต่สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ที่ถูกปิดล้อมยังคงเลวร้าย
เมื่อสงครามเริ่มขึ้นอีกครั้ง อิสราเอลจึงขยายการดำเนินการเข้าไปในฉนวนกาซาตอนใต้
- คำสั่งศาลเพื่อป้องกันการ "ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" -
ในคำตัดสินชั่วคราวเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ในคดีที่ยื่นฟ้องโดยแอฟริกาใต้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศสั่งให้อิสราเอลทำ "ทุกวืถีทาง" เพื่อไม่ให้นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
- การเหยียบกันตายของผู้คน -
เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 กองกำลังอิสราเอลเปิดฉากยิงประชาชนในฉนวนกาซาตอนเหนือที่วิ่งเข้าหาขบวนรถบรรทุกอาหารช่วยเหลือ โดยอ้างว่าพฤติกรรมเหล่านั้น "เป็นภัยคุกคาม"
กระทรวงสาธารณสุขของกาซาเปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิต 120 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน โดยเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็น "การสังหารหมู่"
กองทัพอิสราเอลระบุว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากการเหยียบกันเองหรือถูกรถบรรทุกทับ
ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2567 หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกาได้ส่งความช่วยเหลือทางอากาศมายังฉนวนกาซา ขณะที่สหประชาชาติเตือนว่าอาจเกิดภาวะอดอยากในเร็วๆ นี้ และเรือปฐมพยาบาลจากไซปรัสเดินทางมาถึงพื้นที่สู้รบเมื่อวันที่ 15 มีนาคม
- เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์เสียชีวิต -
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ 7 รายจากองค์กรการกุศล 'World Central Kitchen' ของสหรัฐฯ เสียชีวิตจากการโจมตีของอิสราเอล ซึ่งกองทัพระบุเพียงว่าเป็น "ความผิดพลาดที่น่าเศร้า"
เนทันยาฮูขู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าจะส่งทหารภาคพื้นดินเข้าไปในเมืองราฟาห์ทางใต้สุดของกาซา ซึ่งประชาชนกว่า 2.4 ล้านคนได้หลบภัยอยู่
- อิหร่านโจมตีอิสราเอล -
ความกลัวต่อความขัดแย้งที่ขยายตัวถูกปลุกปั่นเมื่อวันที่ 13 เมษายน 2567 เมื่ออิหร่านส่งโดรนและขีปนาวุธถล่มใส่อิสราเอลเพื่อตอบโต้การโจมตีสถานกงสุลอิหร่านในกรุงดามัสกัสเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567
- ปฏิบัติการทางตอนใต้ -
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 กองทัพอิสราเอลเปิดฉากโจมตีภาคพื้นดินที่เมืองราฟาห์ โดยยึดครองจุดผ่านแดนกับอียิปต์ และปิดกั้นจุดสำคัญสำหรับการให้ความช่วยเหลือ
ทางการกาซาระบุว่าการโจมตีของอิสราเอลเมื่อช่วงดึกของวันที่ 26 พฤษภาคม 2567 เป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้ในเต็นท์พักแรม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 45 ราย โดยอิสราเอลอ้างว่าต้องการสังหารเจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮามาส 2 ราย
ในช่วง 8 วันของเดือนกรกฎาคม 2567 กองทัพอิสราเอลโจมตีโรงเรียน 5 แห่งซึ่งเป็นที่พักพิงของผู้พลัดถิ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวฮามาสในฉนวนกาซา
ฮามาสกล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 การโจมตีของอิสราเอลใกล้กับเมืองข่าน ยูนิส ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 92 ราย
- หวั่นเกิดความขัดแย้งในภูมิภาค -
กลุ่มกบฏฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านในเยเมน ซึ่งได้ออกปฏิบัติการโจมตีการเดินเรือในทะเลแดงและอ่าวเอเดนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา อ้างว่าได้โจมตีด้วยโดรนในเทลอาวีฟเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2567 จนเป็นเหตุให้พลเรือนเสียชีวิต 1 ราย
วันรุ่งขึ้น อิสราเอลได้โจมตีท่าเรือโฮเดดาในทะเลแดงที่กลุ่มกบฏฮูตีควบคุมอยู่ ทำให้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่และคร่าชีวิตผู้คนไป 6 ราย
ที่ชายแดนอิสราเอล-เลบานอน การยิงตอบโต้กันระหว่างกองทัพอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธฮิซบุลเลาะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ได้ทวีความรุนแรงขึ้นเกือบทุกวันในเดือนกรกฎาคม
เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2567 การโจมตีด้วยจรวดได้สังหารเยาวชน 12 รายในเมืองมัจดาลชามส์ของชาวอาหรับดรูซในเขตที่ราบสูงโกลันซึ่งอิสราเอลผนวกเข้าเป็นดินแดนของตน
อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีหลายครั้ง รวมถึงการโจมตีที่ชานเมืองทางใต้ของเบรุตเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ซึ่งสังหารฟูอัด ชุคร์ ผู้บัญชาการทหารระดับสูงสุดและหัวหน้าหน่วยยุทธศาสตร์ของกลุ่มฮิซบุลเลาะห์
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำทางการเมืองของกลุ่มฮามาสถูกสังหารจากการลอบโจมตีในอิหร่าน โดยปฏิบัติการดังกล่าวถูกโยนความผิดให้กับอิสราเอล ซึ่งปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 กลุ่มฮามาสได้แต่งตั้งยาห์ยา ซินวาร์ ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มในฉนวนกาซาตั้งแต่ปี 2560 ให้ดำรงตำแหน่งผู้นำทางการเมืองคนใหม่
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ยืนยันว่าต่อให้ฮามาสตั้งหัวหน้ากลุ่มคนใหม่อีกกี่คน ก็จะตามกำจัดให้สิ้นซากต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝนและความหนาวเย็นทำให้สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นและตัวประกันในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น
ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นตั้งแต่เริ่มสงคราม ขณะนี้พวกเขากำลังเผชิญกับภาว