ศาลปากีสถานได้ตัดสินประหารชีวิตชาย 4 คนในข้อหาโพสต์เนื้อหาหมิ่นศาสนาทางออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในคดีอาชญากรรมทางศาสนาที่เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง โดยเฉพาะในหมู่คนรุ่นใหม่

อาคารศาลสูงของปากีสถาน ในกรุงอิสลามาบัด (Photo by Farooq NAEEM / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 27 มกราคม 2568 กล่าวว่า ศาลปากีสถานได้ตัดสินประหารชีวิตชาย 4 คนในข้อหาโพสต์เนื้อหาหมิ่นศาสนาทางออนไลน์ โดยชายทั้งสี่คนถูกตัดสินโทษที่เมืองราวัลปินดี ซึ่งเป็นเมืองกองทหารที่อยู่ติดกับเมืองหลวงอิสลามาบัด
การหมิ่นประมาทศาสนาถือเป็นข้อกล่าวหาที่ยั่วยุให้เกิดความโกรธแค้นในปากีสถานซึ่งมีชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ โดยแม้แต่ข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐานก็สามารถปลุกปั่นให้เกิดความโกรธแค้นในที่สาธารณะและนำไปสู่การประหารชีวิตแบบแขวนคอได้
ทางการปากีสถานพบว่า คดี "หมิ่นประมาทศาสนาออนไลน์" เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มเอกชนดำเนินการฟ้องร้องต่อเยาวชนนับร้อยคนที่ต้องสงสัยว่ากระทำการหมิ่นประมาทศาสนา
ราโอ อับดูร์ ราฮีม ทนายความจากคณะกรรมาธิการกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นศาสนาในปากีสถาน (LCBP) บอกกับเอเอฟพีว่า "นักโทษทั้งสี่คนถูกตัดสินประหารชีวิตฐานเผยแพร่เนื้อหาหมิ่นประมาททางศาสนาอิสลามบนอินเทอร์เน็ตต่อศาสดาโมฮัมเหม็ดและคัมภีร์อัลกุรอาน"
"คดีของเราได้รับการสนับสนุนด้วยหลักฐานทางนิติเวชจากอุปกรณ์ที่ใช้ในกิจกรรมอันสกปรกนี้" เขากล่าวถึงการดำเนินคดีครั้งล่าสุด
แม้จะถูกตัดสินลงโทษ แต่ปากีสถานก็ไม่เคยประหารชีวิตใครฐานหมิ่นประมาทศาสนาเลย
สมาชิกกลุ่มสนับสนุนที่จัดตั้งโดยครอบครัวของผู้ที่โดนฟ้องร้องคดีในลักษณะเดียวกันกล่าวว่าจะท้าทายคำพิพากษานี้
"รูปแบบการจับกุมและดำเนินคดีในกรณีนี้สอดคล้องกับครั้งก่อนๆ" สมาชิกกลุ่มสนับสนุนซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยกล่าว และเสริมว่า "เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อสอบสวนการเพิ่มขึ้นของคดีเหล่านี้ ก่อนที่เยาวชนของประเทศเราจะต้องใช้ชีวิตช่วงที่ดีที่สุดในคุก"
ทั้งนี้ คดีหมิ่นศาสนาทางออนไลน์หลายคดีถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาคดีโดย "กลุ่มพิทักษ์สันติเอกชน" ซึ่งนำโดยบรรดาทนายความ และได้รับการสนับสนุนจากอาสาสมัครที่ค้นหาผู้กระทำความผิดบนอินเทอร์เน็ต
เชอราซ อาหมัด ฟารูกี หนึ่งในผู้นำกลุ่ม LCBP ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องนี้มากที่สุดในปากีสถานกล่าวกับเอเอฟพีว่า "พระเจ้าทรงเลือกพวกเขาเพื่อจุดประสงค์อันสูงส่งนี้"
รายงานที่เผยแพร่โดยคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ระบุว่ามีผู้ต้องขัง 767 คน (ส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่ม) อยู่ในเรือนจำเพื่อรอการพิจารณาคดีในข้อกล่าวหาหมิ่นศาสนา
การดำเนินคดีหมิ่นศาสนามักพบการละเมิดขั้นตอนที่สำคัญในหลายขั้นตอน และการจับกุมส่วนใหญ่ดำเนินการโดยบุคคลทั่วไป มากกว่าการจับกุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
คดีประเภทนี้อาจต้องใช้เวลาในศาลเป็นเวลาหลายปี ถึงแม้ว่าโทษประหารชีวิตมักจะได้รับการลดหย่อนเป็นจำคุกตลอดชีวิตเมื่ออุทธรณ์ต่อศาลสูงก็ตาม
รัฐบาลปากีสถานจึงก่อตั้งศาลพิเศษขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เพื่อเร่งรัดคดีศาสนาที่อยู่ระหว่างพิจารณาหลายสิบคดี.