แนวคิด "ยึดครองฉนวนกาซา" ของทรัมป์ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อนโยบายของสหรัฐฯ

ป้ายโฆษณาที่มีรูปประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา พร้อมข้อความ 'ขอบคุณ ท่านประธานาธิบดี' ซึ่งติดไว้ที่ด้านหน้าอาคารโรงแรมแห่งหนึ่งในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ (Photo by JACK GUEZ / AFP)

จากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เสนอที่จะ "เข้ายึดครองฉนวนกาซา" ไม่เพียงแต่ทำให้โลกตกตะลึงเท่านั้น แต่ยังเป็นการละทิ้งนโยบายระยะยาวของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์อีกด้วย

ประธานาธิบดีซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการออกแถลงการณ์ยั่วยุ ได้กล่าวล่าสุดเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างถาวร โดยแสดงความปรารถนาที่จะเปลี่ยนดินแดนปาเลสไตน์ให้กลายเป็น "ริเวียราแห่งตะวันออกกลาง"

ความคิดเห็นของเขาทำให้เกิดการประท้วงในวงกว้างทันที โดยเฉพาะในโลกอาหรับ เพราะดูเหมือนจะเป็นการท้าทายสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเองของชาวปาเลสไตน์ โดยถึงขั้นประณามว่าการกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่าย "การล้างเผ่าพันธุ์"

มหาเศรษฐีจากพรรครีพับลิกันผู้แสดงตนว่าเป็นนักปฏิบัตินิยมที่มีแนวทางการทำธุรกรรมกับนโยบายต่างประเทศ ไม่ได้ตัดทิ้งความเป็นไปได้ในการส่งทหารไปยังภูมิภาคดังกล่าว

ขณะที่ทำเนียบขาวได้ออกมาแก้ต่างอย่างรวดเร็วต่อแนวคิดของทรัมป์ พร้อมชี้แจงว่าสหรัฐฯ จะไม่ให้เงินทุนเพื่อการฟื้นฟูฉนวนกาซา และไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะส่งกองกำลังทหารไปประจำการ

มาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออกมาปกป้องเจตนาของทรัมป์ โดยกล่าวว่า "ผมคิดว่านั่นเป็นการเคลื่อนไหวที่ใจกว้างมากในการเสนอให้สร้างดินแดนขึ้นใหม่ และรับผิดชอบในการสร้างนั้น"

เขายังกล่าวอีกว่าทรัมป์ต้องการให้ชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาชั่วคราวเท่านั้นในระหว่างการสร้างดินแดนขึ้นใหม่

- กลยุทธ์การเจรจาหรือการเบี่ยงเบนความสนใจ? -

ยังไม่ชัดเจนว่าประธานาธิบดีสหรัฐเสนอความเห็นของเขาในฐานะกลยุทธ์การเจรจาหรือเป็นเพียงการเบี่ยงเบนความสนใจ เนื่องจากอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเตรียมเจรจาข้อตกลงหยุดยิงระยะที่สองซึ่งมีเป้าหมายให้เกิดการปล่อยตัวตัวประกันที่เหลืออยู่และยุติสงครามอย่างถาวร

นักวิชาการจากศูนย์นโยบายระหว่างประเทศกล่าวว่า "คำพูดของทรัมป์เกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์นั้นแทบจะรับประกันได้เลยว่าจะก่อความขัดแย้งขยายวงกว้างในภูมิภาค หากมีการดำเนินการตามแนวคิดนี้อย่างจริงจัง" พร้อมทั้งเสริมว่าคำพูดดังกล่าวจะทำลายนโยบายระยะยาวของสหรัฐฯ เกี่ยวกับแนวทางสองรัฐซึ่งมีรัฐปาเลสไตน์รวมถึงฉนวนกาซาด้วย

ในระยะสั้น คำถามสำคัญก็คือ ทรัมป์จะกดดันให้เบนจามิน เนทันยาฮูปฏิบัติตามข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซาให้ครบถ้วนได้หรือไม่ ซึ่งรวมถึงขั้นตอนสำคัญของระยะที่สองด้วย หรือจะปล่อยให้เนทันยาฮูและคณะรัฐมนตรีที่มีท่าทีแข็งกร้าวเริ่มสงครามใหม่อีกครั้ง

ในการเยือนวอชิงตันของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล มีการพูดคุยประเด็นดังกล่าวจริง โดยสตีฟ วิทคอฟฟ์ ผู้แทนตะวันออกกลาง และไมค์ วอลทซ์ ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูฉนวนกาซาในตอนแรก โดยระบุว่าดินแดนปาเลสไตน์จะไม่สามารถอยู่อาศัยได้เป็นเวลาหลายปี

- จริงจังแค่ไหน? -

ทรัมป์ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งไปแล้ว 10 วันก่อนหน้านี้ด้วยข้อเสนอแนะให้ "ทำความสะอาดฉนวนกาซา" โดยอ้างว่าชาวปาเลสไตน์อยากออกจากดินแดนดังกล่าว ซึ่งเขาอธิบายว่าเป็น "เขตรื้อถอน"

ในการต้อนรับเนทันยาฮูอย่างอบอุ่นที่ทำเนียบขาว ทรัมป์เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการย้ายถิ่นฐานชาวปาเลสไตน์ ก่อนที่จะเสนออย่างไม่คาดคิดว่าจะ "ครอบครอง" ดินแดนปาเลสไตน์เพื่อทำให้เป็น "สถานที่ที่สวยงาม"

เนทันยาฮู ซึ่งเป็นผู้คัดค้านการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ ยกย่องทรัมป์ว่าเป็นผู้ที่ "คิดนอกกรอบ" อย่างแท้จริง

ในการออกแถลงการณ์ดังกล่าว ทรัมป์ซึ่งไม่ค่อยได้กล่าวถึงแนวโน้มของการมีรัฐปาเลสไตน์อย่างชัดเจน ได้ละเมิดนโยบายต่างประเทศของชาติตะวันตกที่ยึดถือกันมายาวนานหลายสิบปีในการสนับสนุนแนวทางสองรัฐซึ่งอิสราเอลและปาเลสไตน์สามารถอยู่ร่วมกันได้

เป็นเรื่องยากมากที่จะรู้ว่าควรจริงจังกับคำพูดของทรัมป์แค่ไหน แม้ว่าคำพูดเหล่านั้นดูเหมือนจะบั่นทอนแนวคิดที่ว่ารัฐบาลของเขาสนับสนุนแนวทางสองรัฐก็ตาม แต่ที่แน่ๆคือชาวปาเลสไตน์ไม่สมัครใจออกจากฉนวนกาซา และประเทศต่างๆ ในภูมิภาคก็ไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว.

เพิ่มเพื่อน