ดูเตอร์เตขึ้นศาลโลกผ่านวีดีโอ คดีก่ออาชญากรรมในสงครามยาเสพติด

โรดริโก ดูเตอร์เตเข้าร่วมการพิจารณาคดีเบื้องต้นที่ศาลอาญาระหว่างประเทศด้วยระบบถ่ายทอดผ่านวีดีโอ ภายหลังถูกจับกุมในข้อกล่าวหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการปราบปรามยาเสพติด

อดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ปรากฎตัวบนจอในห้องพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลอาญาระหว่างประเทศในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการปราบปรามยาเสพติด ในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม (Photo by Peter Dejong / POOL)

รองประธานาธิบดีซารา ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ (กลาง) กล่าวปราศรัยต่อผู้คนที่มารวมตัวกันด้านนอกศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 14 มีนาคม (Photo by Nicolas TUCAT / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 กล่าวว่า อดีตประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ระหว่างการควบคุมตัวที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในกรุงเฮกของเนเธอร์แลนด์ ได้เข้าร่วมการพิจารณาคดีเบื้องต้นที่ศาลอาญาระหว่างประเทศด้วยระบบถ่ายทอดผ่านวีดีโอ

ภายหลังถูกจับกุมในข้อกล่าวหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติจากการปราบปรามยาเสพติด ดูเตอร์เตวัย 79 ปีได้รับฟังการพิจารณาคดีสั้นๆ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงอาชญากรรมที่เขาถูกกล่าวหาว่ากระทำ รวมถึงสิทธิของเขาในฐานะจำเลย

เขากล่าวสั้นๆ เพื่อยืนยันชื่อและวันเกิดของตนเอง และผู้พิพากษาอนุญาตให้เขาติดตามการพิจารณาคดีแบบลับหลังได้ เนื่องจากเขายังต้องใช้เวลาปรับตัวหลังการเดินทางอันยาวนานจากฟิลิปปินส์

ทนายความของดูเตอร์เตกล่าวต่อศาลว่าลูกความของเขาถูก "ลักพาตัวมาจากประเทศของตนเอง"

"เขาถูกส่งตัวด่วนมายังกรุงเฮกซึ่งสำหรับทนายความแล้วถือเป็นการส่งตัวไปนอกศาล แต่สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยมีความรู้ทางกฎหมายแล้วถือเป็นการลักพาตัวโดยแท้" ทนายความกล่าว

ทนายความยังกล่าวอีกว่าดูเตอร์เตกำลังประสบกับปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง และเสริมว่าเขาคงทำได้แค่ระบุตัวตนเท่านั้นในการพิจารณาคดีครั้งนี้

ดูเตอร์เตดูง่วงนอนระหว่างการพิจารณาคดี โดยหลับตาอยู่บ่อยครั้งเป็นเวลานาน

แต่ผู้พิพากษาบอกกับดูเตอร์เตว่า แพทย์ของศาลลงความเห็นว่าเขามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนและมีสุขภาพแข็งแรง

ผู้พิพากษาได้กำหนดให้วันที่ 23 กันยายนเป็นวันไต่สวนครั้งต่อไปของกระบวนการพิจารณาคดี เพื่อยืนยันข้อกล่าวหา

ดูเตอร์เตถูกกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติด้วยการฆาตกรรมในช่วงหลายปีที่เขารณรงค์ต่อต้านผู้ใช้และผู้ค้ายาเสพติด ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนอ้างว่าทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

ในคำร้องเพื่อขอหมายจับ อัยการกล่าวว่าอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหาของดูเตอร์เตเป็นส่วนหนึ่งของการโจมตีในวงกว้างและเป็นรูปธรรม ต่อประชาชนพลเรือนในฟิลิปปินส์

"อาจมีการก่ออาชญากรรมต่อพลเรือนหลายหมื่นคน" อัยการกล่าวหาการดำเนินการที่มุ่งเป้าไปที่ผู้ชายยากจนเป็นส่วนใหญ่ซึ่งมักไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ครอบครัวของเหยื่อยินดีกับการพิจารณาคดีนี้เพราะเป็นโอกาสที่จะได้รับความยุติธรรม ในขณะที่ผู้สนับสนุนดูเตอร์เตเชื่อว่าเขาถูกลักพาตัวและถูกส่งไปที่กรุงเฮกท่ามกลางความขัดแย้งครั้งใหญ่กับครอบครัวมาร์กอสที่กำลังปกครองประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศระบุว่า การจับกุมและส่งตัวไปพิจารณาคดีทันทีถือเป็นเรื่องดีสำหรับศาลอาญาระหว่างประเทศที่กำลังถูกโจมตีจากทุกด้านและถูกคว่ำบาตรโดยสหรัฐอเมริกา

"ผมมองว่าการจับกุมและส่งมอบตัวดูเตอร์เตเป็นของขวัญในช่วงเวลาที่สำคัญ" วิลเลม ฟาน เกนุกเทน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยทิลเบิร์กในเนเธอร์แลนด์ กล่าวกับเอเอฟพี

ก่อนหน้านี้ในวันศุกร์ รองประธานาธิบดีซารา ดูเตอร์เต ของฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นลูกสาวของโรดริโก ดูเตอร์เต กล่าวกับเอเอฟพีว่าเธอได้ยื่นคำร้องในนาทีสุดท้ายเพื่อขอให้เลื่อนการพิจารณาคดี

ต่อมาเธอเปิดเผยว่าเธอไปเยี่ยมพ่อที่ศูนย์กักขังเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง และพ่อของเธอยังคงอารมณ์ดี, ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี และได้พักผ่อนเพียงพอ แต่ตำหนิเรื่องอาหารไม่ถูกปาก

"คุณพ่อบอกดิฉันว่าเขาทำได้แค่หลับและดูทีวี ข้อตำหนิเพียงอย่างเดียวคือเขาคิดถึงอาหารฟิลิปปินส์จริงๆ" ซารา ดูเตอร์เตกล่าวกับสื่อในงานแถลงข่าวที่วุ่นวายซึ่งมีผู้สนับสนุนจำนวนมากมารวมตัวกันหน้าอาคารกระจกขนาดใหญ่ในกรุงเฮกและตะโกนว่า "พาเขากลับบ้าน"

ขณะที่เขาเดินทางมาถึงกรุงเฮก อดีตผู้นำฟิลิปปินส์ดูเหมือนจะยอมรับผิดต่อการกระทำของตนเอง โดยกล่าวในวิดีโอบนเฟซบุ๊กว่า "ผมบอกกับตำรวจและกองทหารแล้วว่านี่คือหน้าที่ของผมและผมต้องรับผิดชอบ"

ในคำร้องขอจับกุม อัยการได้อ้างอิงคำกล่าวของดูเตอร์เตบางส่วนเมื่อครั้งที่เขาลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี

เขากล่าวว่าจำนวนผู้ต้องสงสัยในคดีอาญาที่ถูกฆ่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คน และเขาจะฆ่าคนเหล่านั้นทั้งหมด โดยปลาในอ่าวมะนิลาจะอ้วนขึ้นเพราะนั่นคือที่ที่เขาจะโยนทิ้งศพคนเหล่านั้น

ทั้งนี้ ในการพิจารณาคดียืนยันข้อกล่าวหา ผู้ต้องสงสัยสามารถโต้แย้งคำให้การของอัยการได้

หลังจากนั้น ศาลจึงจะตัดสินใจว่าจะดำเนินการพิจารณาคดีต่อไปหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี.

เพิ่มเพื่อน