ขยับเพดานหนี้ อีกสิบปีก็ลดไม่ได้

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนของปีที่แล้ว ผมเขียนบทความเรื่อง “เงินกู้สู้โควิด ช่วยกันคิดให้รอบคอบ” ลงในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดยได้แสดงความห่วงใยในภาระการเงินการคลังของภาครัฐที่จะพุ่งสูงขึ้นอย่างมากมายจากการใช้เงินของรัฐบาลในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในบทความนั้น ผมได้คาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP น่าจะแตะ 60% ในปี 2564 และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น  หากไม่มีการขยับเพดานหนี้ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังที่ 60% นี้ รัฐบาลก็จะทำผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

ดูเหมือนว่ากระทรวงการคลังจะเห็นด้วยกับผมในเรื่องนี้ จึงได้เสนอเมื่อเร็วๆ นี้ให้ปรับเพดานหนี้เป็น 70% ของ GDP  ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการกู้ยืมที่ได้กำหนดไว้แล้วที่ 1.5 ล้านล้านบาท และเพื่อเปิดช่องให้มีการกู้ยืมเพิ่มเติมได้อีกมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท แถมยังคุยด้วยความมั่นใจว่ารัฐบาลยังมีความสามารถที่จะจ่ายคืนหนี้เหล่านี้ได้ และจะลดเพดานหนี้กลับไปเป็น 60% ของ GDP ในโอกาสหน้า

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เออออห่อหมกไปกับกระทรวงการคลัง หนุนให้กู้เงินมาเพื่อใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอีก เพราะเห็นว่าที่ใช้จ่ายไว้เดิมก็ยังไม่พอ

ผมอาจจะเห็นด้วยกับการปรับเพดานหนี้เพราะเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องกู้ยืมมาใช้จ่ายเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจอันเกิดจากโควิด-19 แต่ผมไม่ค่อยมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถชำระคืนหนี้ได้อย่างง่ายดายเท่าไหร่นัก

ผมได้ลองประเมินดูว่า ถ้ารัฐบาลจะต้องกู้เงินมากระตุ้นเศรษฐกิจอีกประมาณ 1 ล้านล้านบาทในปีหน้าแล้ว รัฐบาลจะสามารถชำระคืนเงินกู้ได้หรือไม่อย่างไรในช่วง 10 ปีข้างหน้า โดยสมมุติว่าหากรัฐบาลสามารถลดอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลงได้ให้ไม่เกิน 60% ก็ถือว่ามีความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ได้ตามปกติ

ข้อสมมุติสำคัญในการประเมินนี้คืออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตของไทย ในที่นี้ต้องพิจารณาจากตัวแปรที่เรียกว่า nominal GDP หรือ “ผลิตภัณฑ์รวมของประเทศ” ที่คิดตามราคาปัจจุบัน ซึ่งก็คือ GDP ที่คำนวณโดยไม่ได้หักอัตราเงินเฟ้อออกนั่นเอง ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวที่ค่อนข้างผันผวน โดยขยายตัวได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ก็หดตัวในบางช่วงที่มีวิกฤติการณ์ เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วอันเป็นผลจากโควิด-19 (ติดลบไป 7.5%)ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา nominal GDP ของไทยขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 4.2% เราต้องยอมรับว่าในอนาคตเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ช้าลง  ผมสมมติให้อัตราการเพิ่มของ nominal GDP ของไทยในช่วง 10 ปีข้างหน้ามีสามกรณี คือ กรณีสูง (5% ต่อปี) กรณีปานกลาง (4% ต่อปี) และกรณีต่ำ (3% ต่อปี)

สำหรับการกู้ยืมของรัฐบาล ผมคาดว่าภายในปีงบประมาณ 2564 นี้     จะมีการกู้ภายใต้ พ.ร.ก. โควิด-19 รวมกันประมาณ 1 ล้านล้านบาท และในปีงบประมาณ 2565 รัฐบาลจะกู้เพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหา โควิด-19 อีก 1 ล้านล้านบาท และจะกู้ภายใต้โครงการโควิด-19 อีก 200,000 ล้านบาทในปีงบประมาณถัดไป ทั้งนี้ เงินกู้เหล่านี้ไม่รวมถึงส่วนที่รัฐบาลจะต้องกู้มาชดเชยการขาดดุลงบประมาณตามปกติอยู่แล้ว ส่วนหนี้ของรัฐวิสาหกิจ (ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ)   ผมสมมุติให้คงค้างไว้ตลอด 10 ปีข้างหน้า ณ ระดับในปัจจุบัน คือประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท

ข้อสมมุติเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณเป็นไปตามข้อมูลในอดีต กล่าวคือ การตั้งงบประมาณรายจ่ายคิดเป็น 20% ของ GDP  รายได้ที่รัฐสามารถจัดเก็บคิดเป็น 17% ของ GDP  ทำให้มีการขาดดุลทุกปีประมาณ 3% ของ GDP  การขาดดุลงบประมาณของไทยไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะในช่วง 24 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 งบประมาณไทยขาดดุลทุกปียกเว้นในปี 2548 และ 2549 เท่านั้น

ในการแบ่งองค์ประกอบของงบประมาณรายจ่าย ผมสมมติให้ “รายจ่ายประจำ” เท่ากับ 70% ของวงเงินงบประมาณบวกกับรายจ่ายเพื่อชำระดอกเบี้ยเงินกู้ โดยสมมติให้รายจ่ายดอกเบี้ยเท่ากับ 7% ของวงเงินงบประมาณ  ส่วนรายจ่ายเพื่อชำระต้นเงินกู้สมมติให้เท่ากับ 3% ของวงเงินงบประมาณ (กรอบวินัยการเงินการคลังได้กำหนดให้สัดส่วนการชำระคืนต้นเงินกู้อยู่ระหว่าง 2.5% และ 3.5% ของงบประมาณรายจ่าย) ดังนั้น รายจ่ายเพื่อการลงทุนจึงเท่ากับส่วนที่เหลือจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายเพื่อการชำระคืนเงินกู้  ซึ่งโดยปกติแล้ว “รายจ่ายลงทุน” จะเท่ากับ 20% ของวงเงินงบประมาณ

ผลการคำนวณปรากฏในตารางข้างล่างนี้

กรณีที่ 1 สมมติให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในอัตราปีละ 5% (โตเร็ว) ปรากฏว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นในช่วงแรกเกิน 60% จนถึงปี 2568 และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ ลดลงจนเหลือต่ำกว่า 60% เล็กน้อย ในขณะที่หนี้สาธารณะคงค้างโดยรวมเพิ่มขึ้นทุกปีจากประมาณ 9.1 ล้านล้านบาทในปี 2564 เป็น 15.4 ล้านล้านบาทในปี 2574 ผลการคำนวณนี้ชี้ให้เห็นว่า หากเศรษฐกิจไทยสามารถโตได้ในอัตรา 5% ต่อปีอย่างสม่ำเสมอ รายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นตามขนาดของเศรษฐกิจก็จะมากพอจนทำให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้คืนได้และเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 10 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม หากเราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ในอัตราปานกลางคือปีละ 4% ผลการคำนวณจะกลายเป็นช่องตารางในกรณีที่ 2 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นเป็น 64% ตลอดช่วง 10 ปีข้างหน้า แสดงให้เห็นว่าในอนาคตรัฐบาลจะมีปัญหาในการชำระหนี้คืนตามเกณฑ์ปกติได้ และหากเราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะมีแนวโน้มสูงขึ้นอีกด้วย ผลการคำนวณในกรณีที่ 3 ก็ชี้ให้เห็นปัญหาในการชำระหนี้คืนเช่นเดียวกัน แต่ที่แย่กว่าคืออาจทำให้รายจ่ายประเภทการลงทุนของภาครัฐต้องลดลง ซึ่งเป็นผลเสียต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

สภาพสมมติที่เลวร้ายที่สุดคือกรณีที่ 4 โดยเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ช้าในอัตราปีละ 3% อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็สูงขึ้นมาก (เช่นเพิ่มจากประมาณ 2.5% ต่อปีในปัจจุบัน เป็น 5% ต่อปีในอนาคต) ผลการคำนวณระบุชัดเจนว่าสัดส่วนหนี้ต่อ GDP จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยแตะระดับ 70% ในปี 2569 และเพิ่มเป็น 76% ในปี 2574 แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจะมีปัญหาอย่างมากในการชำระหนี้คืน และจำเป็นต้องขยับเพดานหนี้ให้สูงขึ้นเกินกว่า 70% รัฐบาลจะมีข้อจำกัดมากขึ้นในการจัดสรรงบประมาณทั้งเพื่อเป็นรายจ่ายประจำและรายจ่ายเพื่อการลงทุน อีกทั้งหนี้คงค้างจะพุ่งขึ้นถึง 16.3 ล้านล้านบาทในปี 2574

แนวทางหนึ่งในการเสริมสร้างให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้คืนได้ดียิ่งขึ้นคือ ความพยายามที่จะลดการขาดดุลงบประมาณ (ซึ่งขาดดุลอย่างต่อเนื่องในอดีตจนถึงปัจจุบัน) วิธีหนึ่งที่ “พูดง่าย แต่ทำยาก” คือการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้จากภาษี สัดส่วนรายได้รัฐบาลต่อ GDP ที่ 17% ตามข้อสมมุติข้างบน อาจจะไม่ต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับข้อมูลในอดีตและเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ แต่ก็ถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายที่ 20% ของ GDP

กรณีที่ 5 สมมติให้รัฐบาลสามารถเพิ่มการจัดเก็บรายได้เป็น 18% ของ GDP ในปี 2566 – 67 เพิ่มเป็น 19% ของ GDP ในปี 2568 – 69 และเพิ่มเป็น 20% ของ GDP ตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป โดยเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราปานกลางที่ 4% ต่อปี ผลการคำนวณในตารางชี้ว่าสัดส่วนหนี้คงค้างต่อ GDP เพิ่มขึ้นเกิน 60% ในปี 2565 – 67 แต่ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้นจนเหลือเพียง 45% ในปี 2574 จึงกล่าวได้ว่ารายได้ของรัฐที่เพิ่มขึ้นและและงบประมาณสมดุลตั้งแต่ปี 2570 เป็นต้นไป มีส่วนช่วยในการชำระหนี้คืนได้มาก โดยหนี้คงค้างในปี 2574 เหลือเพียง 10.7 ล้านล้านบาท

กรณีที่ 6 สมมติให้รัฐบาลสามารถเพิ่มการจัดเก็บรายได้เหมือนกับในกรณีที่ 5 แต่เศรษฐกิจขยายตัวเพียงปีละ 3% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก ผลการคำนวณในตารางแสดงว่าสัดส่วนหนี้คงค้างต่อ GDP เพิ่มขึ้นในช่วงสามสี่ปีแรก แต่ก็สามารถลดลงได้อย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง โดยมีค่าต่ำกว่า 60% ในสองปีสุดท้าย ดูเหมือนว่าภายใต้สถานการณ์ที่เลวร้าย การเพิ่มรายได้ของรัฐและการลดการขาดดุลงบประมาณก็ยังช่วยให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้คืนได้ดีในระดับหนึ่ง


ผลการประเมินข้างบนสอนให้เรารู้ว่า ในการรักษาวินัยการคลังในช่วง 10 ปีข้างหน้า เราจะอาศัยการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ที่คงไม่สูง) และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (ที่คงไม่ต่ำ) ไม่ได้แล้ว เราจำเป็นต้องหันไปใช้วิธีลดการขาดดุลงบประมาณอย่างจริงจัง ทั้งโดยการเพิ่มรายได้และการใช้จ่ายอย่างประหยัดและคุ้มค่า

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ ดร. พรายพล คุ้มทรัพย์ กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล

การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

เหล็กไทยสู้ภัย CBAM ในยุโรป

ปีนี้โลกเราร้อนจริงๆ เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับคลื่นความร้อน ไฟป่า และความผันผวนในภูมิอากาศในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย เกิดขึ้นบ่อยๆ และมีความรุนแรงมาก เลขาธิการสหประชาชาติถึงกับเอ่ยปากว่า นี่ไม่ใช่ภาวะโลกร้อน (global warming) แต่มันกลายเป็นภาวะโลกเดือด (global broiling) ไปแล้ว

'เวิลด์แบงก์' หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.4%

“เวิลด์แบงก์” หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 3.4% ชี้การฟื้นตัวยังตามหลังประเทศอื่นในอาเซียน ส่งออกชะลอ ลุ้นท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนช่วยประคอง ห่วงหนี้สาธารณะพุ่งกดดันการลงทุนภาคสาธารณะและเอกชน

ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างจังหวัด : อีกเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ

รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 18 ก.ย. 2566  ส่วนที่เกี่ยวกับ “การลดความเหลื่อมล้ำ” ระบุไว้ว่า   “ รัฐบาลจะดำเนินการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมไทย” (หน้า 9)  และ “ในการบริหารค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินนโยบายนั้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างมีเป้าหมายทั้งในด้านการเจริญเติบโตการลดความเหลื่อมล้ำ”