ดีพร้อม จ่อดันหุ่นยนต์ไทย เข้าสายการผลิตเอสเอ็มอี ดึงกลไกทางการเงินกระตุ้นยอดใช้ โชว์คุณภาพเท่าต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่าเท่าตัว โวกระตุ้นศก.แล้วเฉียด100ล้านบ.
21 ต.ค. 2564 – นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) หรือ ดีพร้อม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ นโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ว่า ปีงบ 2565 จะผลักดันคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหันมาใช้ในการผลิต ลดต้นทุน ลดพึ่งพาแรงงาน ลดการสัมผัสรองรับสังคมนิวนอร์มอลหลังเกิดโควิด-19 โดยหลังจากนี้จะดึงกลุ่มสถานประกอบการที่ต้องการใช้หุ่นยนต์เข้าร่วมคลัสเตอร์มากขึ้น
ทั้งนี้จะใช้กลไกการเงินสร้างแรงจูงใจ อาทิ มาตรการด้านภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งการเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมในอัตราต่ำจากแหล่งเงินทั้งกองทุน และธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีดีแบงก์) จัดหาผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ และส่งเสริมแผนงานด้านการตลาดให้เป็นที่รู้จักที่มากขึ้น
“คลัสเตอร์หุ่นยนต์ฯ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันมีเอสเอ็มอีทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ รวม 22 บริษัท แม้ยังน้อยแต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี มีเป้าหมายร่วมกันคือการเพิ่มกำลังการผลิต การลดนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ นำความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัทมาช่วยแก้จุดอ่อน ล่าสุดมีการซื้อขายระบบเทคโนโลยีรวมถึงหุ่นยนต์ระหว่างกันคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 95 ล้านบาท หรือ 4.75 ล้านบาทต่อกิจการ จุดเด่นของคุณภาพทัดเทียมต่างประเทศ คืนทุนได้เร็วเฉลี่ย1ปี ราคาถูกกว่าการนำเข้า 3–5 แสนบาทต่อเครื่อง จากปกติหลักล้านบาทขึ้นไป ลดการพึ่งพาแรงงาน ลดการสัมผัสรับสังคมนิวนอร์มอล”นายณัฐพล กล่าว
ด้านนายพชระ แซ่โง้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ จำกัด ผู้ผลิตแขนกลยูนิบอท และกรรมการบริหารคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า บริษัทมีแนวคิดผลิตหุ่นยนต์เพื่อเชิงพาณิชย์ให้ธุรกิจเข้าถึงในราคาถูกกว่าท้องตลาด แต่คุณภาพและบริการเทียบเท่า
ขณะที่นายสมควร จันทร์แดง กรรมการผู้จัดการบริษัท ยูเนี่ยน แอพพลาย จำกัด สมาชิกคลัสเตอร์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กล่าวว่า ในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในคลัสเตอร์ พอใจต่อเทคโนโลยี ราคา และประสิทธิภาพการทำงาน ปัจจุบันโรงงานนำแขนกลของ บริษัท ยูนิคัล เวิร์คส์ มาใช้ในกระบวนการผลิตกระบอกไฮโดรลิก พบว่า คืนทุนในเวลาเพียง 10.4 เดือน ลดแรงงานที่ต้องทำงานซ้ำๆ ได้ 2 คน มูลค่า 252,000 บาทต่อปี ลดพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องจักรถึง 3 เครื่อง ผลิตชิ้นส่วนกระบอกไฮโดรลิกจาก 18,000 ชิ้น เป็น 42,000 ชิ้นต่อปี มูลค่าจากการผลิตเพิ่มขึ้น 113% จาก 130,680 บาทต่อปี เป็น 278,760 บาทต่อปี และยังลดค่าซ่อมบำรุงและค่าเสื่อมสภาพได้ถึง 130,000 บาทต่อปี จากเดิม 240,000 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“กระทรวงอุตสาหกรรม” เปิดบิ๊กอีเวนต์ “CRAFT DRINK by DIPROM” สั่งการ “ดีพร้อม” ขนทัพผู้ประกอบการทั่วประเทศ โชว์ศักยภาพเครื่องดื่มไทย
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดงานใหญ่ “CRAFT DRINK by DIPROM ศาสตร์และศิลป์เครื่องดื่มไทย นำธุรกิจไกลสู่สากล”
ดีพร้อม เตรียมจัดบิ๊กอีเวนท์ “CRAFT DRINK by DIPROM”
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ผนึกกำลังเครือข่ายพันธมิตร ประกาศความพร้อมการจัดงานเครื่องดื่มดี ๆ ที่ทุกคนต้องมา "CRAFT DRINK by DIPROM"
ดีพร้อม ผนึกกำลัง GISTDA ติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ จับมือสองกระทรวงขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่โลกอนาคต
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม