เกษตรกรอีสานกับกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยง

ภาคอิสานคนส่วนใหญ่คงนึกภาพถึงความแห้งแลัง เกษตรกรยากจน การศึกษาต่ำ แต่ในมุมมองของนักวิชาการด้านมนุษยวิทยาชาวอเมริกัน ที่มีประสบการณ์ในประเทศไทยหลายสิบปี และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เสนอมุมมองต่อเกษตรกรภาคอิสานไว้ในการบรรยายพิเศษ ของการสัมมนาประจำปีด้านการเกษตรของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจ ผู้เขียนจึงอยากนำมาถ่ายทอดต่อ เพื่อให้เป็นเสียงสะท้อนจากภาคอิสานสู่รัฐบาล และผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคส่วนต่างๆต่อไป

ศาสตราจารย์ เทอร์รี่ แรมโบกล่าวถึงการพัฒนาการเกษตรโดยภาพรวมทั้งโลกว่าเป็นการพยายามเปลี่ยนเกษตรกรรายย่อยที่ทำการเกษตรแบบพอเพียง ให้เป็นเกษตรกรทันสมัย มุ่งผลิตเพื่อรายได้และผลกำไร เปลี่ยนจากการทำเกษตรผสมผสานไปสู่การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เชิงเดี่ยว ในแปลงหรือฟาร์มขนาดใหญ่ แทบทุกประเทศจะมีนโยบายการพัฒนาการเกษตรไปในแนวนี้ แต่นักวิชาการท่านนี้มองว่าสำหรับเกษตรกรในภาคอิสานที่ท่านได้ติดตามดูการเปลี่ยนแปลงมามากกว่า 40 ปีพบว่ายังมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอยู่ กล่าวคือ แปลงขนาดเล็กของครอบครัวเกษตรกรอีสานยังมีมากกว่าแปลงใหญ่ พืชที่เกษตรกรภาคอีสานปลูกยังเน้นที่การเก็บไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการบริโภคและการขาย แปลงเกษตรกรในภาคอีสานยังมีลักษณะผสมผสานมีพืชหลายชนิด ถึงแม้ว่าเกษตรกรอิสานจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่เกษตรกรอิสานยังคงไม่ละทิ้งความหลากหลายของแหล่งรายได้ ซึ่งผู้เขียนมองว่าลักษณะดังกล่าวคือกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงของเกษตรกรภาคอีสานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และสามารถพาเกษตรกรอิสานรอดพ้นวิกฤติต่างๆได้เสมอมา

ศาสตราจารย์แรมโบ้ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เกษตรกรอิสาน จับปลาหลายมือ หรือยึดถือแนวทางที่ สุภาษิตฝรั่งกล่าวว่า “Don’t put all your eggs in one baskets” ซึ่งท่านมองว่าเป็นแนวทางที่ดี สำหรับเกษตรกรรายย่อย ที่อยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมผกผัน เผชิญกับสถานการณ์ที่คาดการณ์ได้ยาก เช่นฝนแล้ง น้ำท่วม ผลผลิตราคาตกต่ำ ท่านแบ่งและมองการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรอีสานเป็นสี่ช่วงคือ

ช่วงแรกตั้งแต่ปี 2463 ถึง 2503 เกษตรกรอิสานสมัยนั้นปลูกข้าว ฝ้ายและยาสูบเพื่อการบริโภคและขาย เลี้ยงสัตว์เพื่อใช้งานเช่นวัว ควาย เก็บผลิตภัณฑ์จากป่าซึ่งครอบคุมประมาณ 90 % ของพื้นที่อิสาน และมีการขายแรงงานบ้าง เช่นการไปรับจ้างเกี่ยวข้าวที่ภาคกลาง เกษตรกรอิสานยุคนั้นส่วนใหญ่จะพออยู่พอกิน เกษตรกรในอิสานใช้วิธีการเก็บกักน้ำทำนาด้วยทำนบ (หรือเขื่อนดินขนาดเล็กๆ) ซึ่งในปัจจุบันไม่มีเหลืออยู่ เรื่องของทำนบก็ได้รับความสนใจ จากนักวิชาการญี่ปุ่นชื่อ ศาสตราจารย์ฟูกุย ที่มีศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

ช่วงที่สองปี 2503 ถึง 2523 ช่วงนี้เป็นยุคของการเพิ่มประชากรอย่างรวดเร็วพื้นที่นาขยายตัวเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตต่อไร่ลดลง เกษตรกรส่วนใหญ่เก็บข้าวไว้บริโภคมีเหลือขายเพียงเล็กน้อย พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็วจากการหักร้างถางพงเพื่อปลูกพืช เช่นปอแก้วและมันสำปะหลัง สัตว์เลี้ยงเช่นวัวควายก็มีจำนวนลดลงเนื่องจากขาดพื้นที่เลี้ยงสัตว์ มีการอพยพตามฤดูกาลเพื่อไปขายแรงงานในกรุงเทพหรือภาคอื่นๆ มากขึ้น

ช่วงที่สาม 2523 ถึง 2543 เกษตรกรอิสานเริ่มมีการใช้พืชพันธุ์ดี มีการลงทุนนำใช้เครื่องมือทุ่นแรงขนาดเล็กเช่นรถไถเดินตาม การใส่ปุ๋ยเคมีการขุดสระหรือแหล่งน้ำ ข้าวเริ่มกลายเป็นพืชที่ทำรายได้สำคัญอีกครั้ง อ้อยเริ่มเข้ามาแทนที่ปอแก้ว หรือแม้กระทั่งมันสำปะหลัง เริ่มมีการปลูกยางพาราในหลายพื้นที่ ในภาคอิสาน แรงงานภาคอิสานไม่ได้ไปแค่ภาคอื่นๆ ในประเทศ แต่มีการไปขายแรงงานในต่างประเทศมากขึ้นด้วย

ช่วงที่สี่ 2543 ถึงปัจจุบัน ข้าวอ้อยและยางพารายังเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของภาคอีสาน เกษตรกรส่วนหนึ่งมีการปลูกพืชมูลค่าสูงสำหรับตลาดเฉพาะเช่นผักอินทรีย์ แคนตาลูป มะม่วง ส้มโอ การปลูกมะเขือเทศแบบพันธสัญญากับบริษัทเมล็ดพันธุ์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อการส่งออก รวมทั้งการทำการเกษตรเชิงท่องเที่ยวก็เริ่มเกิดขึ้นเช่นมีร้านกาแฟ การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเปลี่ยนแปลงอีกส่วนหนึ่งของสังคมเกษตรกรอีสานคือการส่งลูกหลานไปเรียนและทำงานในภาครัฐ การทำงานในโรงงานประเภทต่างๆที่เริ่มเข้ามาสู่ภาคอีสาน การสมรสกับชาวต่างประเทศ การพัฒนาท้องถิ่นไปสู่สังคมเมืองก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นการ ทำธุรกิจขนาดเล็กในหมู่บ้านอิสานปัจจุบันจะพบเห็นกิจการร้านมินิมาร์ท ร้านซักผ้าหยอดเหรียญอยู่ทั่วไป

การเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานในศตวรรษที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนกิจกรรม เช่นพืชที่ปลูกหรือกิจกรรมการเกษตรต่างๆแต่ยังคงรูปแบบของการจัดการที่ยืดหยุ่นตามสถานการณ์ มุ่งเพื่อขยายโอกาสและลดความเสี่ยงของครอบครัวอยู่เหมือนเดิม

ดังนั้นการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ภาคอีสานศาสตราจารย์เทอรี่ แรมโบเน้นว่า  นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ควรเน้นที่สูตรสำเร็จสูตรใดสูตรหนึ่งเท่านั้น แต่นักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรนำเสนอทางเลือกต่างๆ หรือมีบุฟเฟท์เทคโนโลยี แล้วให้เกษตรกรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเขาเองว่ากิจกรรมอะไร เทคโนโลยีไหนเหมาะสมกับครอบครัวเขา ความเข้าใจโลกของเกษตรกรอิสาน และวิธีคิดของพวกเขาเท่านั้น จึงจะช่วยให้เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาภาคเกษตรของอิสานได้

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
วันพุธที่ 9 มีนาคม
โดย
ดร สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลูกอีสาน บนเส้นทางผู้ประกอบการเกษตร

ปัญหาของภาคเกษตรโดยรวมไม่เฉพาะบ้านเรา คือเกษตรกรอายุเฉลี่ยมากขึ้น  เมื่อไม่นานมานี้ดูข่าวทีวีช่องหนึ่งไปสัมภาษณ์ชาวสวนลำไยที่ทุกคนสูงวัย และพูดถึงลูกหลานไม่สนใจทำอาชีพเกษตร

การทบทวนยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่ 13 ตุลาคม 2565 นี้ พระราชโองการยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) หรือที่เรียกกันว่า ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะมีอายุครบ 4 ปี และย่างเข้าสู่ปีที่ 5 ซึ่

“ดร.นฤมล”แนะบริหารความเสี่ยงคือหัวใจ หนุนดูแลภาคการผลิตรับมือStagflation

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัววันนี้(20มิ.ย.) ถึงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อกลับสูงขึ้น

ประเทศไทย กับ 'ค่าโง่' : กระแสการเปลี่ยนแปลง?

“ค่าโง่” มักจะเป็นศัพท์ที่ใช้กันเมื่อเกิดคดีฟ้องร้องในกระบวนการอนุญาโตตุลาการโดยที่ฝ่ายรัฐเป็นฝ่ายถูกตัดสินให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ใช้บริษัทเอกชนที่นำเรื่องขึ้นฟ้องร้องในกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

เอ็กซิมแบงก์ชี้ SWIFT รัสเซียไม่กระทบไทย

“เอ็กซิมแบงก์” ชี้ SWIFTรัสเซียไม่กระทบไทย เตือนผู้ส่งออกไทยบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศ พร้อมแนะการปรับวิธีการชำระเงินค่าสินค้าหลังค่าเงินรัสเซียรูด 30%

ธรรมาภิบาลกับความสำนึกรับผิดชอบในสังคมไทย

แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะได้เพียรพยายามรณรงค์ให้ประชาชน ระมัดระวังการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนเริ่มการ์ดตก การจราจรคับคั่ง มีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ ตลาดสด