พิมพ์เขียวนโยบาย พปชร. สู้เลือกตั้ง-ชู 3 เสาประชารัฐ

ช่วงนี้พรรคพลังประชารัฐมีความเคลื่อนไหวออกมาเป็นระยะ ในเรื่องการเมือง-การเตรียมการเลือกตั้ง เช่นการที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค มีการแบ่งโซนพื้นที่ให้แกนนำพรรคแต่ละคนรับผิดชอบดูแลอย่างเป็นทางการ เพื่อเตรียมเซตสรรพกำลังให้พร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น  ขณะเดียวกัน พรรคก็จะจัดกิจกรรมเดินสายเปิดเวทีพบประชาชนในหลายจังหวัดทั่วประเทศเพื่อรณรงค์-สร้างกระแสพรรค โดยเริ่มตั้งแต่ 10 กรกฎาคม ที่หน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี ตามยุทธการเตรียมพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ภายใต้ แคมเปญ "พลังประชารัฐ พลังเพื่อชาติไทย"

นอกจากนี้ ในเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับนโยบายพรรคที่จะใช้ในการรณรงค์หาเสียง ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย เพราะการเมืองยุคปัจจุบันคนให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายในการหาเสียงมากขึ้น จนกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการจะลงคะแนนเสียงเลือกผู้สมัคร ส.ส.และพรรคการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง

เรื่องดังกล่าว แกนนำพรรคพลังประชารัฐ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐและหัวหน้าทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงความคืบหน้าในการเตรียมพร้อมเรื่องนโยบายพรรคที่จะใช้ในการหาเสียง โดยมีรายละเอียดดังนี้

- จุดแข็งของนโยบายพลังประชารัฐเป็นอย่างไร จะเน้นเรื่องเศรษฐกิจ?

โดยรวมแล้วพรรคพลังประชารัฐมีโครงสร้างของนโยบายอยู่ 3 เสาด้วยกัน ตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งพรรค เรามองว่า          

1.ต้องมีสวัสดิการประชารัฐ

คือประชาชนคนไทยต้องเข้าถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพราะในสังคมก็มีคนหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มเปราะบาง ที่ต้องไปดูว่าสวัสดิการที่เหมาะสมควรจะเป็นอะไร เพื่อให้เขาไม่ต้องมากังวลว่าพรุ่งนี้เขาจะเอาอะไรกิน เจ็บปวดจะไปรักษาที่ไหน ตรงนี้เป็นคำว่าสวัสดิการประชารัฐ

วันที่เราร่างนโยบายเรื่องสวัสดิการประชารัฐ ไม่ใช่ดูเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือเรื่องบัตรสวัสดิการอย่างเดียว จริงๆบัตรสวัสดิการประชาชนคนไทยควรจะมีทุกคน ที่ควรจะเป็นบัตรประชาชนเรา อย่างเรามี 1 ใบ และอีกคนมีอีก 1 ใบ แต่สวัสดิการของเราไม่เหมือนกัน ถ้าเรามี Big Data ของสวัสดิการสำหรับคนไทยทั้งประเทศที่รวมอยู่ในฐานเดียว เราจะ customize สวัสดิการที่เหมาะกับแต่ละคนได้ เช่น เด็กแรกเกิดควรจะได้สวัสดิการอะไร สมมุติเข้าอยู่ในโครงการมารดาประชารัฐ ได้รับยาได้รับอะไรต่างๆ จนเมื่อเข้าโรงเรียนแล้วได้รับสิทธิอย่างอื่น และเข้าสู่วัยทำงาน สมมุติเป็นแรงงานในระบบไปอยู่ในมาตรา 33 สวัสดิการก็แบบหนึ่ง เป็นรายงานนอกระบบสวัสดิการก็อีกแบบหนึ่ง รวมถึงกลุ่มผู้เกษียณ-ผู้สูงอายุก็บัตรประชาชนใบเดียว ที่ก็คือทุกคนควรจะได้รับสวัสดิการจำเป็นขั้นพื้นฐาน

สมมุติเราเป็นแรงงานอยู่ในตัวเมืองรายได้เราอาจจะเกิน แสนบาทต่อปี เราไม่ใช่กลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่เราอาจจะเป็นคนจนในเมือง เพราะค่าครองชีพมันสูง ขึ้นรถไฟฟ้าแล้วก็ต้องต่อรถมอเตอร์ไซค์กว่าจะถึงที่ทำงาน ค่าโดยสารในการเดินทางไป-กลับต่อวันเกิน 20% ของรายได้ และยังมีค่าเช่าบ้าน-ค่าน้ำค่าไฟ เลยกลายเป็นคนจนในเมือง

สวัสดิการสำหรับคนในเมืองควรจะเป็นอะไร ซึ่งมองว่าไม่น่าจะไปขีดเส้นแค่ 100,000 บาทต่อปี ใช้ได้ไม่เกินแสนบาทต่อปีถึงจะได้สวัสดิการเท่านั้น มันไม่ใช่ มันต้อง customize ได้ ถ้าเรามีฐานข้อมูลตรงนี้ เราจะสามารถจัดสวัสดิการที่เหมาะกับประชาชนคนไทยได้ อันนี้คือแนวคิดสวัสดิการประชารัฐของเรา พอประชาชนคนไทยพูดถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานได้แล้ว จึงจะต่อยอดไปเป็นเศรษฐกิจประชารัฐได้ ที่เป็นเสานโยบายที่สอง

2.เศรษฐกิจประชารัฐ

แนวทางก็เช่น ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ย้ายแรงงานภาคการเกษตรไปยังภาคอุตสาหกรรม-ภาคของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมมากขึ้น แล้วก็ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมในเรื่องของการที่จะให้ ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นผ่านกองทุนต่างๆ หรือรูปแบบอื่นใดก็ตาม ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราเขียนเอาไว้ในเรื่องของเศรษฐกิจประชารัฐ

เสาที่ 3.สังคมประชารัฐ

เพราะสวัสดิการดี เศรษฐกิจไปได้ สังคมก็จะดีตาม แต่ว่าเราก็ต้องวางนโยบายไว้เช่นเดียวกัน เช่นเรื่องยาเสพติด เราต้องจริงจังกับเรื่องของสังคมประชารัฐสีขาวที่ตอนนั้นเราเขียนเอาไว้ เรื่องของสิ่งแวดล้อมที่เราให้ความสำคัญ สังคมประชารัฐสีเขียว เพื่อสะท้อนเรื่องของการเอาจริงเอาจังกับเรื่องความปลอดภัย ชีวิตความเป็นอยู่-สิ่งแวดล้อมของประเทศ

ก็เป็น 3 เสาของนโยบายหลักๆ 3 เรื่อง แต่ว่ารายละเอียดที่จะเอาไปใส่ในแต่ละเรื่องจะให้สอดรับกับแต่ละบริบทของพื้นที่ ซึ่งก็จะแตกต่างกันไป คงไม่ใช่นโยบายกลางอย่างเดียว เช่น ภาคเหนือ ก็ต้องการเรื่องหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องของที่ทำกิน สินค้าเกษตรที่เป็นของภาคเหนือ เช่น ลำไย จะเอายังไง หรือภาคอีสานก็จะเป็นเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ภาคใต้อาจจะเป็นเรื่องของประมงก็จะแตกต่างกันไป ซึ่งน้ำหนักของแต่ละนโยบายจะแตกต่างออกไปในแต่ละพื้นที่เช่นเดียวกัน

ศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า หลังเกิดโควิด ผลกระทบในทางเศรษฐกิจที่หนัก ทำให้นโยบายพรรคพลังประชารัฐก็จะไม่เหมือนกับช่วงปี 2561-2562 ที่อยู่ในช่วงการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องของการสานต่อนโยบายที่ได้ทำมาแล้ว และจะทำต่อยอด ที่เมื่อวันนี้สถานการณ์มันเปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจ พรรคต้องปรับนโยบายกันใหม่

....สิ่งที่เราต้องทำก็คือ ต้องทำทั้งสองระดับ นั่นก็คือ เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ที่จะพาประเทศไปข้างหน้าเพื่อที่จะทำให้ประเทศหลุดจาก Middle Income Trap ตรงนี้ได้ ซึ่งเราเป็นกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมานานมาก โดยการที่จะหลุดจากตรงนี้ได้ เราต้องใช้การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่การเยียวยากลุ่มเปราะบาง หรือเยียวยากลุ่มเกษตรกร แต่ต้องจัดกันใหม่หมดเลยว่า แล้วถ้าเราจะหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง นั่นหมายความว่าเราต้อง Move จากภาคเกษตรกรรม ไปเป็นภาคอุตสาหกรรม แล้วต้องเป็นภาคอุตสาหกรรมฐานนวัตกรรม ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องของการหานักลงทุนต่างชาติมาลงทุนอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมความพร้อมของแรงงานของบุคลากรในประเทศ ที่ว่ากันตั้งแต่การปฏิรูปการศึกษาเพื่อที่จะรองรับตรงนี้ รวมถึงตลาดแรงงานที่ต้องเปลี่ยนไป

ประกอบกับที่สำคัญอย่างยิ่งคือสัดส่วนของ labour force ของแรงงานทั้งหมด ที่พบว่าสัดส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ภาคการเกษตร ที่เราก็รู้กันว่าภาคการเกษตรรายได้น้อย ที่เป็นผลทำให้การคำนวณออกมาแล้วในตัวของ Per Capita Income รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลของประชากรไทย จึงยังขยับขึ้นไม่ได้ เพราะว่าเรายังปล่อยให้เขาทำการเกษตรแบบเดิมแล้วก็จำนวนของแรงงานภาคการเกษตรก็เยอะมาก

               สิ่งที่เราจะเสนอคือต้องกล้าที่จะปรับเปลี่ยนสัดส่วนของแรงงานภาคการเกษตรจากที่ทุกวันนี้อยู่ที่ประมาณกว่า 40% ของแรงงานทั้งหมด ซึ่งสัดส่วนที่เหมาะสมจะค่อยๆปรับโดยเป้าหมายจะอยู่ที่ประมาณสัก 25% ก็เพียงพอ แล้วขยับแรงงานกลุ่มนี้ไปทำภาคอื่นๆ

เพราะว่าถ้าเราไปดูจริงๆ แรงงานภาคการเกษตร 40% ที่บอก ทุกวันนี้อายุของเกษตรกรเกิน 60 ปีค่อนข้างเยอะแล้วเราบอกว่าให้ทำเกษตรแบบอัจฉริยะ smart farmer เขาก็ปรับยาก ในขณะที่เด็กที่จบใหม่ สมมุติว่าเป็นลูกหลานของเกษตรกร ก็อาจจะไม่อยากทำการเกษตร เราต้องเปิดโอกาสให้เขาไปทำอย่างอื่นได้ เขาอาจจะอยากทำความเจริญให้กับบ้านเกิดเมืองนอนของเขา แต่มันอาจจะเป็นในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การเกษตรอย่างเดียว โดยอาจจะไปต่อยอดจากอุตสาหกรรมการเกษตรในจังหวัดหรือในหมู่บ้าน ทำเป็นธุรกิจเพื่อสังคมหรือวิสาหกิจชุมชน      

ตรงนี้เป็นนโยบายทั้งหมดที่พรรคเราจะเข้าไปสนับสนุน แต่ต้องปรับที่โครงสร้างก่อนคือ เราจะต้องกล้าวางโครงสร้างใหม่ เพราะว่าสัดส่วน GDP ของประเทศ ส่วนใหญ่ไปอยู่ที่ภาคการส่งออก อย่างภาคการเกษตรที่เราบอกว่าแรงงานมีอยู่ กว่า 40% ของเราอยู่ในภาคการเกษตรแต่รายได้ของภาคการเกษตรนับเป็นสัดส่วนของ GDP อยู่ที่แค่ประมาณ 10% แรงงานเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศสร้างรายได้ GDP ไม่ถึง 10% ตรงนี้มันจะไม่ไปด้วยกัน ถ้าตราบใดเราไม่ได้ปรับตรงนี้ เราก็ยังอยู่ในกลุ่มของรายได้ปานกลาง อยู่อย่างนี้ไปเรื่อย เผลอๆ จะถดถอยด้วยซ้ำ เพราะว่าประเทศอื่น ก็ปรับกันหมดแล้ว

สมมุติว่าเราขยับไปได้ถึง 25% ของแรงงานในภาคการเกษตร แค่นี้พอแล้ว จากนั้นก็ต้องทำการเกษตรแบบใหม่ ที่มี Productivity เพิ่มขึ้น คือต้องไปคู่กันเพราะจำนวนแรงงานน้อยลง แต่พอ Productivity เพิ่มขึ้น เราก็สามารถแปรรูปต่อยอดเพื่อให้มูลค่าของสินค้าทางการเกษตรสูงขึ้น ไม่ใช่แค่ขายข้าวหรือขายข้าวโพดอย่างเดียว แต่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ Bio economy ได้ เช่นไปเป็นกลุ่มยา ก็จะทำให้ยอดรายได้ของสินค้าภาคการเกษตรจะสูงขึ้น และก็จะได้มีสัดส่วนแชร์ใน GDP มากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพิงแรงงานตรงนี้เยอะไป 

- ฟังดูเหมือนว่าการหาเสียงครั้งหน้าพรรคพลังประชารัฐจะให้ความสำคัญกับเรื่องของการปฏิรูปเกษตรและเรื่องที่ดินเกษตรกร?

ก็ด้วย และเรื่องโครงสร้างของเศรษฐกิจทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกันเรื่องอื่นอย่างเช่น เศรษฐกิจ-ฐานนวัตกรรม ที่บอกไว้ตอนต้น ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของคนในประเทศ หรือการที่จะสานต่อโครงการ EEC หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษ จะไปทำตรงพื้นที่ส่วนใดอีก ที่จะส่งเสริมให้พวกที่เป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม ได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษตามหลักของ BOI ที่ปรากฏว่าพอนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุน อย่างเช่นเกาหลีใต้ บางโรงงานที่เป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมเขาจะเข้ามาลงทุน เขาถามคำถามแรกเลยว่ามีวิศวกรสาขาต่างๆ มีจำนวนเท่าไหร่ แล้วพอฝ่ายไทยตอบกลับไป เขาบอกมีไม่พอ คงไม่มา คือมันไม่ใช่แค่แรงจูงใจในเรื่องของสิทธิประโยชน์หรือ BOI เพราะเวลานักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุน เขามองหลายอย่าง เช่นเรื่องความพร้อมของภาคแรงงาน-โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ว่ามีความพร้อมหรือไม่ รวมถึงความมั่นคงทางการเมืองด้วย เพราะว่าถ้าเกิดประเทศไทยมีนโยบายปรับเปลี่ยนไปตามการเมือง การลงทุนของเขาก็จะเสี่ยงมาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต