กำไรโรงกลั่นดันน้ำมันแพง

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา โลกช่างโหดร้ายเสียเหลือเกิน มนุษย์ต้องเผชิญกับไวรัสตัวใหม่ชื่อ โควิด-19 ทำเอาทั่วโลกต้องเจ็บป่วยและเสียชีวิตเป็นจำนวนนับล้านคน เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั่วไปหมด การล๊อคดาวน์เพื่อระงับโรคระบาดก่อให้เกิดการว่างงานและความยากจนอย่างกว้างขวาง

แต่พอ โควิด-19 เริ่มลดความรุนแรงลงและกลายเป็นโรคประจำถิ่นซึ่งมีวัคซีนและยารักษาได้แล้ว เราก็โชคร้ายอีกเมื่อต้องมาเผชิญกับวิกฤตพลังงานอันเกิดจากสงครามรัสเซียบุกยูเครนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เป็นต้นมา

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มจากไม่ถึง 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2563 ขึ้นมาอยู่ในระดับสูงกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรลในเดือนกรกฎาคมปีนี้ และในช่วงสองปีเดียวกัน ราคาขายหน้าปั๊มในกรุงเทพฯ ของน้ำมันเบนซินและดีเซลก็เพิ่มขึ้นจากลิตรละแถวๆ 20 บาท มาเป็นกว่า 40 บาท (เบนซิน) และ 35 บาท (ดีเซล) สร้างความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสให้กับผู้ใช้น้ำมัน (รวมถึงก๊าซหุงต้มและก๊าซธรรมชาติด้วย)

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปแพงขึ้นอธิบายได้โดยชี้ไปที่ราคาน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากมาย แต่ในระยะหลังมีนักการเมืองบางคนชี้ว่า ราคาน้ำมันขายปลีกแพงขึ้นมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะโรงกลั่นน้ำมันและบริษัทผู้ขายน้ำมันคิดกำไรมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการระบุว่า “ค่าการกลั่นน้ำมัน” สูงเกินไป และเสนอแนะให้นำกำไรส่วนเกินมาช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ใช้น้ำมันบ้าง

“ค่าการกลั่นน้ำมัน” คืออะไร? คำตอบสำหรับคำถามนี้ต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกของไทย ซึ่งมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ 1. ราคาขายหน้าโรงกลั่น 2. ภาษีต่างๆ (สรรพสามิต เทศบาล และมูลค่าเพิ่ม) 3. เงินกองทุน (กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน) และ 4. ค่าการตลาด (ค่าใช้จ่ายและกำไรของบริษัทน้ำมันและปั๊มน้ำมัน รวมถีงค่าขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นถึงคลัง/ปั๊ม)

“ค่าการกลั่น” เป็นส่วนหนึ่งของราคาหน้าโรงกลั่น โดยเมื่อหักต้นทุนที่เป็นน้ำมันดิบออกจากราคาหน้าโรงกลั่น ก็จะเหลือเป็นส่วนที่เรียกว่า “ค่าการกลั่นเบื้องต้น” (gross refining margin หรือ GRM) ในประเทศไทย GRM นี้มีการคำนวณและรายงานเกือบทุกวันโดยหน่วยงานที่เรียกว่าสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ซึ่งอยู่ในสังกัดของกระทรวงพลังงาน

ผมลองย้อนไปดูข้อมูลค่าการกลั่นที่รายงานโดย สนพ. ปรากฏว่าในช่วง 10 ปีก่อนหน้าปีนี้ ค่าการกลั่นของโรงกลั่น 6 โรงในไทยเฉลี่ยแล้ว มีค่าสูงสุดที่ 2.46 บาทต่อลิตรในปี 2561 และต่ำสุดที่ 70 สตางค์ต่อลิตรในปี 2563 เมื่อเฉลี่ยตลอด 10 ปีจะได้ประมาณ 1.70 บาทต่อลิตร

แต่พอเริ่มปี 2565 ค่าการกลั่นเริ่มมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของปีนี้ มีค่าเกิน 5 บาทต่อลิตร และในเดือนมิถุนายนสูงขึ้นเกินกว่า 6 บาทต่อลิตร ก็แสดงว่าค่าการกลั่นและกำไรของโรงกลั่นสูงขึ้นจริงอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ สังเกตได้ว่าช่วงที่เพิ่มขึ้นมากตรงกับเวลาที่รัสเซียเริ่มทำสงครามในยูเครนพอดี

หลายคนออกมาค้านว่า “ค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรของโรงกลั่นน้ำมัน” โดยให้เหตุผลว่าค่าการกลั่นมีส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย อันได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ของโรงกลั่นที่ไม่ใช่น้ำมันดิบ ผมเห็นด้วยกับประเด็นที่ว่าค่าการกลั่นไม่ใช่กำไรของโรงกลั่น แต่ผมลองเปรียบเทียบข้อมูลค่าการกลั่นและกำไรสุทธิของโรงกลั่นในอดีตแล้ว พบว่าค่าการกลั่นเป็นตัวชี้วัดที่ค่อนข้างดีของกำไรสุทธิของโรงกลั่น 

ข้อมูลล่าสุดสำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ชี้ให้เห็นว่า ค่าการกลั่นตามรายงานของ สนพ. สูงขึ้นอยู่ในระดับเฉลี่ย 1.91 บาทต่อลิตร ในขณะที่กำไรสุทธิของโรงกลั่นเพิ่มขึ้นมากเป็นส่วนใหญ่ โดยมีค่ามากกว่ากำไรเฉลี่ยต่อหนึ่งไตรมาสในปี 2564 และผมเชื่อว่าเมื่อมีรายงานการเงินสำหรับไตรมาสที่สองของปีนี้ออกมา เราจะได้เห็นว่าโรงกลั่นไทยยิ่งจะมีกำไรสุทธิสูงมาก และน่าจะมากกว่าในไตรมาสแรกเสียอีก

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าโรงกลั่นน้ำมันไทยมีกำไรค่อนข้างสูงในช่วงหกเดือนแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันสูงขึ้นมาก ดูได้จากทั้งข้อมูลที่เป็นค่าการกลั่นและกำไรสุทธิ ปรากฏการณ์นี้เป็นจริงสำหรับโรงกลั่นและบริษัทน้ำมันทั่วโลก เพราะเกิดจากการขาดแคลนน้ำมันในตลาดโลกอันเป็นผลจากสงครามรัสเซียบุกยูเครน

ผู้สังเกตการณ์หลายคนเสนอแนะว่ารัฐบาลไม่ควรจะเข้าไปแทรกแซงธุรกิจขององค์การในลักษณะที่จะเป็นการนำเอากำไรทางธุรกิจมาช่วยลดราคาน้ำมันหน้าปั๊ม แต่ควรปล่อยให้การดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเป็นไปตามกลไกการตลาดอย่างเสรี 

ผมเองเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ในกรณีปกติที่ผู้ซื้อผู้ขายในตลาดสามารถแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรม เราควรปล่อยให้กลไกการตลาดทำงานอย่างเสรี แต่เราต้องยอมรับว่าในปัจจุบันตลาดน้ำมันทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ไม่ใช่เป็นตลาดภายใต้สถานการณ์ปกติที่มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม มีการแทรกแซงโดยภาครัฐในลักษณะต่างๆ เช่น การผูกขาดของกลุ่มประเทศโอเปค การแทรกแซงล่าสุดคือการที่รัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกตัดสินใจคว่ำบาตรเพื่อลดและเลิกการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

ภายใต้สถานการณ์ที่ทำให้ตลาดน้ำมันไม่สามารถมีการแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่ และราคาน้ำมันที่แพงขึ้นได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จึงมีเหตุผลที่รัฐบาลไทยจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อปรับปรุงกลไกการตลาดให้สนับสนุนการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่เหมาะสม การที่โรงกลั่นน้ำมันมีค่าการกลั่นและกำไรที่สูงมากเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะเกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการแทรกแซงของรัฐบาลในประเทศต่างๆ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสงครามยูเครน

รัฐบาลไทยได้พยายามตรึงราคาขายปลีกน้ำมันมาโดยตลอดช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก สูงขึ้นมาก ทั้งโดยวิธีการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการลดภาษีสรรพสามิต ในปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหนี้สะสมอยู่กว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นหนี้ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หนี้สาธารณะของภาครัฐเองก็เพิ่มสูงขึ้นมากตั้งแต่ช่วงที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

ผมจึงเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องให้หาวิธีทำให้โรงกลั่นน้ำมันลดค่าการกลั่นลงไปบ้าง วิธีหนึ่งซึ่งน่าจะทำได้โดยไม่เป็นการแทรกแซงธุรกิจมากเกินไป และอยู่ในอำนาจของภาครัฐที่จะทำได้คือ การเปลี่ยนวิธีการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นที่ใช้เป็นราคาอ้างอิงในการคำนวณภาษี และราคาขายปลีกที่ควรจะเป็น

ในปัจจุบัน ราคาอ้างอิงนี้คำนวณโดยอาศัยค่าเฉลี่ยของราคาหน้าโรงกลั่นที่สิงคโปร์ บวกกับค่าขนส่งน้ำมันทางเรือระหว่างสิงคโปร์และไทย เราอาจจะเปลี่ยนวิธีการคำนวณโดยหันไปใช้ราคาต่ำสุดของโรงกลั่นที่สิงคโปร์และตัดค่าขนส่งออก ก็จะทำให้ราคาอ้างอิงนี้ลดลงไปได้บ้าง ในขณะเดียวกันเราก็อาจจะกำหนดเงื่อนไขที่ทำให้โรงกลั่นของไทยมีค่าการกลั่นที่สอดคล้องกับกำไรขั้นต่ำที่ควรได้รับก็ได้

ผมเชื่อว่าวิธีการคำนวณราคาอ้างอิงแบบใหม่นี้ น่าจะทำให้ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยลดลงได้ 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งก็จะช่วยทำให้ภาระการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลดลงได้ระดับหนึ่ง และอาจทำให้ราคาขายปลีกลดลงด้วยเมื่อเทียบกับวิธีการคำนวณราคาอ้างอิงเดิม

โรงกลั่นเองก็ยังมีโอกาสได้กำไรในระดับปกติ และก็น่าจะรู้สึกภูมิใจที่ได้มีโอกาสช่วยผู้ใช้น้ำมันที่กำลังแบกภาระเงินเฟ้ออันหนักอึ้งอยู่ในขณะนี้

ส่งบทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

พรายพล คุ้มทรัพย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหล็กไทยสู้ภัย CBAM ในยุโรป

ปีนี้โลกเราร้อนจริงๆ เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับคลื่นความร้อน ไฟป่า และความผันผวนในภูมิอากาศในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และเอเชีย เกิดขึ้นบ่อยๆ และมีความรุนแรงมาก เลขาธิการสหประชาชาติถึงกับเอ่ยปากว่า นี่ไม่ใช่ภาวะโลกร้อน (global warming) แต่มันกลายเป็นภาวะโลกเดือด (global broiling) ไปแล้ว

เก็บภาษีจากคนรวย เพื่อช่วยคนจน

“ภาษีความมั่งคั่ง” เป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคก้าวไกลใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งคราวนี้  และน่าจะเป็นนโยบายที่มีโอกาสนำมาใช้จริงหากพรรคก้าวไกลสามารถได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในที่สุด  ภาษีความมั่งคั่งเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากเฉพาะกลุ่มคนที่รวยมาก

'อรรถวิชช์' ชี้ดีเซลต้องไม่ขึ้น 5 บาท ชี้ต้องคุมค่าการกลั่น เก็บภาษีลาภลอย

“อรรถวิชช์” ชี้ ดีเซลต้องไม่ขึ้น 5 บาท เหตุน้ำมันดิบราคาลดลง ฝากรัฐบาลใหม่รื้อโครงสร้างพลังงาน ควบคุมค่าการกลั่น เก็บภาษีลาภลอย

10 แบงก์โกยกำไรไตรมาส 1 พุ่ง 6 หมื่นล้าน 

10 ธนาคารพาณิชย์แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2566 กำไรสุทธิรวม 60,138 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,130 ล้านบาท หรือ 13.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้าน SCB กำไรสูงสุด ส่วน BBL เพิ่มขึ้นกว่า 3,011 ล้านบาท และ KBANK ลดลง 470 ล้านบาท