การกระจายอำนาจเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ

การพัฒนาเศรษฐกิจนั้นมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อยกระดับความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตเพื่อให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน นโยบายเศรษฐกิจต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีการยึดโยงกับประชาชน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีความหลากหลายของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายในเชิงพื้นที่ แต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่น มีที่ตั้ง ภูมิประเทศ วัฒนธรรม และโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันออกไป ประชาชนมีอาชีพ มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้ความต้องการบริการจากภาครัฐแตกต่างกันออกไปตามภูมิภาคและท้องถิ่นด้วย

แนวทางหนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ก็คือ การกระจายอำนาจ (decentralization)

การกระจายอำนาจที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นได้นั้นต้องประกอบด้วยองค์ประกอบต่างๆ อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

หนึ่ง การกระจายอำนาจทางการเมือง โดยให้ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นสามารถเลือกผู้นำของตนเองโดยตรงแทนการแต่งตั้งจากส่วนกลาง ทำให้ผู้นำท้องถิ่นมีความยึดโยงกับประชาชน มีความรู้ความเข้าใจพื้นที่และชุมชน มีความผูกพันและทุ่มเททำงานเพื่อคนในท้องถิ่น

สอง การกระจายอำนาจการบริหาร โดยให้รัฐบาลในส่วนภูมิภาคเป็นตัดสินใจ จัดหา และให้บริการสินค้าสาธารณะต่างๆ แก่ประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ แทนที่จะเป็นนโยบายจากส่วนกลางที่คิดแทนคนในแต่ละพื้นที่

สาม การกระจายอำนาจทางการคลัง เพื่อให้ท้องถิ่นมีงบประมาณที่เพียงพอต่อในการบริหารงานในพื้นที่ของตนเอง

กระแสต่อต้านการกระจายอำนาจที่ผ่านมามักอ้างถึงเหตุผลต่างๆ เช่น คนในชนบทยังขาดความรู้ ไม่ทราบว่าบริการและการลงทุนจากภาครัฐโครงการใดเป็นประโยชน์ต่อตนเองและท้องถิ่น รวมถึงอ้างถึงนักการเมืองท้องถิ่นที่โกงกิน ใช้งบประมาณไม่เหมาะสม มีการซื้อเสียง นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า การตัดสินใจเรื่องการพัฒนาภูมิภาคยังควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจากส่วนกลางมากกว่าท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม การรวมอำนาจไว้ที่ส่วนกลางก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าการบริการภาครัฐจะตอบสนองความต้องการท้องถิ่นได้ดีกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า โกงกินน้อยกว่า ในขณะที่การกระจายอำนาจที่แม้ว่าจะมีปัญหาที่ต้องเรียนรู้และติดตามแก้ไขไปด้วยกัน แต่ก็มีข้อดีหลายประการที่ไม่ควรละเลย

ประการแรก รัฐบาลในแต่ละท้องถิ่นทราบความต้องการของประชาชนในพื้นที่ดีกว่ารัฐบาลส่วนกลางในเมืองหลวงที่อยู่ห่างไกล นอกจากนี้รัฐบาลที่ส่วนกลางอาจไม่ทราบหรือไม่เข้าใจบริบทและข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ การสื่อสารของคนในภูมิภาคกับผู้มีอำนาจในการตัดสินใจในส่วนกลางต้องผ่านหลายขั้นตอน ทำให้การออกแบบและการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่

ประการที่สอง ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถสอดส่องและตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นได้ดีกว่าการใช้งบประมาณของรัฐบาลส่วนกลาง เพราะสามารถติดตามผลการใช้เงินที่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและยึดโยงกับการให้บริการกับประชาชนในพื้นที่นั้นๆ

ประการที่สาม เป็นการสร้างการแข่งขันระหว่างท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีการสื่อสารและสื่อออนไลน์ต่างๆ ในปัจจุบันที่ทำให้ประชาชนสามารถเปรียบเทียบนโยบาย ความสามารถ และผลงานของผู้นำที่ตนเองเลือกมากับผู้นำท้องถิ่นอื่นๆ ได้ง่ายดาย ซึ่งในที่สุดแล้วเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการภาครัฐให้สูงขึ้น

แน่นอนว่าการกระจายอำนาจไม่ได้แปลว่ารัฐบาลกลางจะหมดบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคและท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานในโครงการพัฒนาที่ครอบคลุมหลายท้องที่ หรือช่วยเหลือท้องถิ่นที่ขาดแคลนบุคลากรและความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค รวมถึงการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับจัดสรร

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมในการเมืองระดับท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้ง กระแสความตื่นตัวนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้น ประชาชนในส่วนภูมิภาคจำนวนไม่น้อยได้แสดงความคิดเห็นว่าผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นๆ ก็ควรมาจากการเลือกตั้งเช่นกัน

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจ เพื่อให้แต่ละจังหวัดมีอำนาจในการบริหารงานด้วยตนเองมากขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการประชาชนในแต่ละจังหวัดได้ดีขึ้น

ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงแค่การให้สิทธิเสรีภาพในการปกครองตนเองแก่ประชาชนเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อยกระดับความกินดีอยู่ดีของประชาชนคนไทยอีกด้วย

ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of San Diego  

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

โหมโรงของคอร์รัปชันรูปแบบใหม่ในโลกปัจจุบัน

การคอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญระดับประเทศที่หยั่งรากลึก แพร่กระจาย และบ่อนทำลายความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาล อีกทั้งยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และขัดขวางความก้าวหน้าของประเทศในทุกมิติ เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป โลกเข้าสู่ทศวรรษใหม่ การคาดการณ์ถึงวิวัฒนาการของการคอร์รัปชันเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการคอร์รัปชันสมัยใหม่จะทำให้ทุกภาคส่วน สามารถพัฒนามาตรการรับมือที่มีประสิทธิผล

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

การพัฒนาเด็กปฐมวัย: สำคัญอย่างไร และควรทำอย่างไร?

ทำไมต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ยังเล็กเกินไปสอนอะไรก็ยังไม่ได้ ทำอะไรยังไม่เป็น และต้องรอนานมากกว่าจะเห็นผล? เป็นคำถามที่ผมได้รับมาตลอดช่วงเวลาเกือบสิบปี ที่พยายามพัฒนาเด็กปฐมวัยในประเทศไทย สังคมไทยมักให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับประถมและมัธยมมากกว่า ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้บุตรหลานได้ติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนดังๆ หรือมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่า ผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศไปจนถึงระดับโรงเรียนจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญของการศึกษาระดับปฐมวัย