จากสุวรรณภูมิ.. สู่แคว้นคันธาระ (ปากีสถาน).... (ตอนที่ ๗) อธิษฐานจำพรรษา .. ณ นครตักศิลา ปี ๒๕๖๕ ..

จาริกทัศนศึกษา.. ร่องรอยอารยธรรม.. ถวายบูชาพระรัตนตรัยในหุบเขาสวัต (ตอนเหนือของปากีสถาน)... ต่อเนื่องเป็นวันที่สี่ (๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕...)

 

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวที่น่าพิจารณาเกี่ยวกับร่องรอยอารยธรรมมรดกโลกพุทธศาสนา.. แคว้นคันธาระ.. ที่เรียกพุทธฝ่ายเหนือ ในพุทธศตวรรษที่ ๕-๖.. เป็นต้นมา ว่า..

 “..หากกล่าวถึง ศิลปะคันธาระ ที่เป็นพุทธศิลป์เลื่องชื่อลือนามเป็นอย่างยิ่งในโลกนี้ จะละเลยไม่พูดถึง อารยธรรมพุทธศาสนาในหุบเขาสวัต (Swat Valley) เสียเลยไม่ได้.. นอกจากอารยธรรมในหุบเขาตักศิลา.. หุบเขาเปศวาร์แล้ว.. จึงจะสมบูรณ์ในเนื้อหาสาระ

..ด้วยพื้นที่ของสวัต (Swat) ที่มากกว่า ๕ พันตารางกิโลเมตร ครอบคลุมตั้งแต่พื้นที่ภูเขาน้อยใหญ่ ลาดลงไปสู่ลุ่มน้ำสายใหญ่-น้อยที่ไหลรวมลงไปสู่ แม่น้ำศุภวัสตุ ที่ต่อมาเรียกขานว่า  แม่น้ำสวัต.. ซึ่งเต็มไปด้วยมรดกโลกพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นสถูป.. วัดวาอาราม.. หรือสังฆาราม.. วิหารใหญ่น้อยทั้งหลาย.. ที่กล่าวเรียกโดยรวมว่า... “พุทธสถานโบราณสมัยคันธาระ”

ประชาชนปากีสถาน.. ในหุบเขาสวัต จึงมีความคุ้นเคยกับพุทธสถานในพุทธศาสนามายาวนาน แม้จะไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชนในพุทธศาสนา..

จึงเป็นธรรมดาที่มีความยินดี.. เมื่อได้เห็นนักท่องเที่ยวชาวพุทธจากนานาชาติ เดินทางไปทัศนศึกษา.. สักการบูชาพุทธสถานอันศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น.. ที่เป็นสมบัติล้ำค่าของชาวปากีสถาน

การรบกวนใดๆ .. จากคนในท้องถิ่น.. แม้กระทั่งในหมู่เด็กๆ .. จึงไม่เกิดขึ้นอย่างที่เคยพบในท้องถิ่นอื่นๆ ... ที่มักจะเข้ามามะรุมมะตุ้มขอปัจจัยสิ่งของจากนักจาริกแสวงบุญ.. จนเลยเถิดไปจนถึงการกระทำที่ไม่ควร.. ที่พบเห็นกันเป็นปกติ.. จนคนจำนวนหนึ่งถอดใจไม่กล้าเดินทางไปจาริกแสวงบุญอีกต่อไป.. ก็มี

เสน่ห์ของสังคมในท้องถิ่น ที่มีความน่ารักของหมู่ชน.. แม้จะสืบเชื้อสายมาจากหลายชาติพันธุ์... จากจำนวนประชากรในปัจจุบันกว่า ๒๐๐ ล้านคน โดยประกอบด้วยเชื้อชาติปัญจาบ.. ปาทาน.. ซิงค์.. บาลูชี และมูฮาเจียร์ (ชาวมุสลิมที่อพยพมาจากอินเดีย) และอื่นๆ... ซึ่งในปัจจุบันชาวปากีสถานร้อยละ ๙๗ นับถือศาสนาอิสลาม (ร้อยละ ๗๗ เป็นนิกายสุหนี่ และร้อยละ ๒๑ เป็นนิกายชีอะห์) ที่เหลือเป็นคริสต์ ฮินดู และอื่นๆ รวมร้อยละ ๓ โดยมีภาษาอูรดูเป็นภาษาประจำชาติ...

เมื่อ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ .. ในขณะที่รับกิจนิมนต์กระทำสัตตาหกรณียะ เดินทางออกจากเขตจำพรรษาที่ตักศิลา (พิพิธภัณฑ์ตักศิลา/รัฐปัญจาบ) มาสู่หุบเขาสวัต (Swat Valley) เพื่อประกอบศาสนกิจอธิษฐานประดิษฐาน Bell of Peace ณ พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองสวัต ตามคำนิมนต์เดิมของ Prince Adnan Aurangzeb เมื่อปี พ.ศ.๒๕๖๒... แต่ด้วยวิกฤตไวรัสโควิด-๑๙ จึงต้องชะลอการเดินทางมาเยือนปากีสถาน.. จนเข้าสู่ปีพุทธศักราช ๒๕๖๕ เมื่อมีโอกาสไปจำพรรษาที่นครตักศิลา รัฐปัญจาบ สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ตามการเชิญ (นิมนต์) อย่างเป็นทางการของรัฐบาลปากีสถาน (รัฐปัญจาบ) จึงได้ดำเนินงานต่อเนื่องในเรื่องดังกล่าวตามกิจนิมนต์ โดยมีหนังสือนิมนต์ที่ลงนามโดย Ms.Zenab Adnan ภริยาของ Prince Adnan Aurangzeb ที่เพิ่งมรณะไปเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕

จึงได้มีการกำหนด อธิษฐานประดิษฐาน Bell of Peace ขึ้น ในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๘.๐๐ น. ณ พิพิธภัณฑ์เมืองสวัต.. ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาในพระบาทสมเด็จพระ
วชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว.. พระมหากษัตริย์ในรัชกาลปัจจุบันแห่งราชอาณาจักรไทย... นับเป็นวันมหามงคลอย่างยิ่ง...

นอกจากกำหนดการประดิษฐาน Bell of Peace ตามวันเวลาดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญคือ การไปทัศนศึกษาแหล่งอารยธรรมพุทธศาสนาในหุบเขาสวัต อันทรงคุณค่ายิ่ง.. ที่ได้รับการยกย่องประกาศรับรองเป็นมรดกโลก.. โดยสหประชาชาติ (ยูเนสโก)...

ดังปีนี้ในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ .. จึงได้เดินทางไปที่ Amluk-Dara ที่ฝ่ายกองงานโบราณคดีจากพิพิธภัณฑ์สวัตให้คำแปล อัมลุก (Amluk) คือ ผลไม้ชนิดหนึ่งที่ชื่อลูกพลับ ด้วยมีชาวบ้านในย่านหุบเขาดังกล่าวทำสวนผลไม้ชนิดนี้กันมาก.. เรียกว่า มองไปทางไหนก็พบเห็นแต่ต้นพลับ ดังที่ได้เดินทางไปถึงพื้นที่จริงในวันนั้น..

จึงได้สังเกตเห็นว่า.. สถานที่ตั้ง Amluk-Dara ดังกล่าว เป็นหุบเขาที่มีลำธารไหลตลอดปี อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชผลนานาพันธุ์ และเมื่อพิจารณาชื่อ Amluk (ลูกพลับ).. ใกล้เคียงกับคำว่า Amla (อัมลา) เป็นชื่อ ผลมะขามป้อม.. ซึ่งเป็นผลไม้ที่จัดอยู่ในความเป็นคิลานะ .. ที่พระพุทธองค์ทรงพุทธานุญาตให้สามารถขบฉันได้อย่างไม่จำกัดกาล ด้วยจัดเข้าอยู่ในความเป็นยา.. ที่เรียกว่า คิลานะเภสัช ซึ่งผลมะขามป้อมจะคู่กับผลสมอ.. ซึ่งเป็นไปได้ว่า บริเวณพื้นที่ตั้งสังฆารามที่เรียกในปัจจุบันว่า Amluk-Dara .. ในอดีตน่าจะมีผลมะขามป้อมมากมาย.. และ Dara ที่แปลว่า ดวงดาว.. น่าจะมาจากคำว่า ธารา.. คือสายน้ำที่ไหลลงมาในหุบเขานี้ ซึ่งดูจะสอดคล้องกับความเป็นมหาสังฆารามแห่งนี้.... (หมายเหตุ... เมื่อค้นคว้าคำศัพท์ดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่า คำว่า Amluk/Amlok/Amlook.. เป็นผลไม้ของชาวเปอร์เซีย.. ส่วน Dara/Darra .. เป็นภาษาเปอร์เซีย แปลว่า ลำธาร (stream) ตรงกับคำว่า ธารา.. จริงๆ)

..จากที่ได้ให้ข้อสังเกตเรื่องภาษาที่ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ของปากีสถานในปัจจุบัน เพื่อจะชักนำไปสู่การศึกษาคำ-ความหมายที่ถูกบัญญัติตามภาษาท้องถิ่น ที่ไหลเข้ามาตามกระแสสังคมในแต่ละยุคสมัย โดยแม้จะปะปนกันแต่ยังคงเค้าความหมายของบาลี-สันสกฤตไว้ให้นำสืบสาวได้ไม่ยาก เพื่อเข้าถึงความจริงของเรื่องราวบนร่องรอยอารยธรรมนั้นๆ... ดังที่ตามหลักฐานจากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียนระบุไว้ในการเดินทางว่า... แม้ แคว้นคันธาระ.. จะอยู่ทาง ตอนเหนือของชมพูทวีป แต่ภาษาที่ใช้เป็นภาษาเดียวกับแว่นแคว้นใน มัชฌิมชนบท (มคธภาษา/บาลี) .. ซึ่งต่อมาแม้ว่าในสมัย พระเจ้ากนิษกะมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ ได้มีการเปลี่ยนแปลงจากภาษาบาลี.. อันเป็นภาษาในพุทธศาสนาดั้งเดิม.. ไปสู่ภาษาสันสกฤต.. ดังปรากฏหลักฐานในพุทธฝ่ายเหนือ... ที่ต่อมาเรียกว่า พุทธมหายาน

แม้แต่คำว่า ตักศิลา (Taxila) .. ก็น่าสังเกตว่า.. มีการเขียนและแปลความหมายไปตามสภาพสังคมปัจจุบัน.. อย่างละทิ้งความเป็นมาของชื่อและความหมายดั้งเดิม.. ไปอย่างสิ้นเชิง จึงเป็นเรื่องที่น่านำมาพิจารณาอย่างยิ่ง... เพื่อจะได้เข้าใจตรงกันว่า.. ชื่อนั้นสำคัญไฉน!?

ยกตัวอย่าง เมืองสวัต แห่งหุบเขาสวัต (Swat Valley) ซึ่งมีชื่อเดิมว่า อุทยาน (Udyana) แปลว่า สวน... ที่แสดงความเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพรรณนานาชนิด.. จากการมีสายน้ำไหลผ่านหล่อเลี้ยงทั้งปี โดยแม่น้ำดังกล่าวเดิมชื่อ “แม่น้ำศุภวัสตุ” หรือ “สุภวัสตุ” ที่แปลเปลี่ยนไปเป็น แม่น้ำสวัต (Swat) ... ซึ่งหากเข้าใจความหมายของศุภะหรือสุภะ.. ในบาลีหรือสันสกฤต.. ที่แปลว่า สวยงาม.. สงบสุข.. ก็เป็นไปได้ที่จะพ้องเสียงกับคำว่า.. สฺวสฺติ (สันสกฤต) หรือที่ภาษาไทยแปลงรูปคำเป็น “สวัสดี” อันตรงกับคำบาลีคือ โสตฺถิ หรือ สุวตฺถิ ที่แปลรวมว่า มีสิ่งดีงาม สิ่งเป็นมงคล.. ที่กลับไปตรงกับคำว่า “ศุภวัสดุ” นั่นเอง... (ที่กล่าวมานี้เพื่อความเข้าใจตรงกัน ในความสำคัญของชื่อ .. ความหมาย ที่จะบอกร่องรอยเรื่องราวอารยธรรมได้อีกมิติหนึ่ง..)

ที่น่าสนใจ เมื่อได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนทัศนศึกษา ได้แก่.. คำว่า.. Butkara ที่สื่อความหมายถึง สังฆารามบุตคารา หรือวัดบุตคารา ที่มีสถูปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขต เมืองไซดูชารีฟ (Saidu Sharif) อยู่ในใจกลางเมือง.. แห่งหุบเขาสวัต ที่น่าจะมาจากคำว่า.. พุทธคารา ที่สอดคล้องกับชื่อหมู่บ้านตามภาษาบาลี ซึ่งในฮินดูปัจจุบันเรียกชุมชนชาวพุทธหรือหมู่บ้านชาวพุทธว่า พุทธคาเร ... (อ่านว่า บุด-ดา-กา-เร)

ที่กล่าวมาทั้งหมดเพื่อนำไปสู่ความรื่นเริงในการศึกษาร่องรอยอารยธรรมจากโบราณสถาน.. มิใช่เพื่อต้องการหักล้าง.. หรือเปลี่ยนแปลงคำที่แสดงชื่อ.. สถานที่สำคัญๆ ของโบราณสถานพุทธศาสนาเหล่านั้นแต่อย่างใด.. เพียงแต่ยกขึ้นมาเป็นข้อสังเกตคำและความหมาย.. ที่มักจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย จนให้ยุ่งยากต่อการสืบสาวสอบสวนประวัติแท้จริงของโบราณสถานเหล่านั้น ที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของศาสนาและมนุษยชาติในแต่ละยุค-แต่ละสมัย.. จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาคำ-ความหมายเหล่านั้นไว้ไม่ให้แปรเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม... จึงควรอ้างอิงตามชื่อดั้งเดิมที่ยังพอมีปรากฏในหลักฐาน ซึ่งทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบในงานการศึกษาค้นคว้า.. ทำนุบำรุงโบราณสถานทั้งหลาย ควรอย่างยิ่งที่จะได้พิจารณา.. ก่อนจะบัญญัติคำ.. หรือใช้คำนั้นๆ.. เรียกขานร่องรอยเรื่องราวที่ทรงคุณค่านั้นๆ ไว้ให้เป็นมรดกโลก.. ให้อนุชนทั้งหลายได้ศึกษาสืบต่อไป... (ติดตามอ่านตอนต่อไป).

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่