สังคมไทยหลังเลือกตั้ง ความหวังลดความเหลื่อมล้ำระบบสาธารณสุข

สงกรานต์และวันปีใหม่ไทยผ่านมาอีกครั้ง พร้อมกับความหวังใหม่ ๆ ที่มากับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ ดิฉันได้ยินนโยบายมากมายของพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ออกมาช่วงหลายเดือนนี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วดิฉันคิดว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการอาจไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากไปกว่า ความต้องการที่ว่ายามเมื่อเขาเดือดร้อน ภาครัฐเป็นที่พึ่งให้เขาได้แค่ไหน สวัสดิการของรัฐได้ช่วยให้เขาพ้นวิกฤตของชีวิตได้เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาเป็นประชาชนส่วนน้อยที่เสียภาษีเต็มเม็ดเต็มหน่วยให้กับประเทศนี้

ก่อนสงกรานต์ปีนี้มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นกับดิฉันและครอบครัว และในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่ไม่ได้ขาดแคลนอะไร มีงาน มีเงินเดือน มีบ้าน มีรถ แต่ถึงอย่างนั้นดิฉันก็ตระหนักได้ถึงความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มีเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นคนจน คนรวย หรือคนชั้นกลาง นั่นคือความต้องการที่จะมีที่พึ่งพาในยามทุกข์ร้อนและเจ็บป่วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่บ้านของดิฉันมีคนป่วยที่ต้องการการรักษาเร่งด่วน ดิฉันได้ไปใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งในกรณีฉุกเฉิน แต่กลับได้พบกับความทุกข์ใจมากมาย ทั้งพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลแผนกฉุกเฉินใช้เวลานานมากกว่าจะเรียกหมอให้ และไม่มีการให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น จากสองทุ่มที่เข้าไปแผนกฉุกเฉินกว่าจะออกจากโรงพยาบาลหลังเที่ยงคืน ถ้าเป็นอะไรมากกว่านี้ ดิฉันบอกได้คำเดียวว่าคงไม่รอด หลังจากเหตุการณ์ฉุกเฉินในวันนั้น ดิฉันก็มีความพยายาม (อีกครั้ง) ที่จะพาคนในครอบครัวไปรักษาที่โรงพยาบาลของรัฐแห่งนี้ด้วยโรคที่ต้องการการรักษาเร่งด่วน เพราะเชื่อในฝีมือแพทย์และเครื่องมือของโรงพยาบาล

แม้จะทำใจไว้แล้วและไม่ได้มีความคาดหวังจะที่ได้รับบริการที่ดี แต่การไปโรงพยาบาลรัฐในครั้งนี้ก็นำมาซึ่งความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก หลังจากผ่านไปสามสัปดาห์กับโรคที่เร่งด่วนกว่าจะได้พบหมอที่จำเป็นต้องพบ หมอกลับไม่ได้มีความใส่ใจที่จะตรวจคนไข้อย่างละเอียดทั้งที่คนไข้ต้องการการดูแลใกล้ชิด หมอเหลือบดูเพียงผลตรวจบางส่วน และเพียงเตือนว่าไม่ควรรอนานเพื่อที่จะผ่าตัด เมื่อถามว่าจะได้คิวผ่าตัดเมื่อไหร่ หมอบอกว่าตอบไม่ได้ ให้ไปนัดกับพยาบาลและลูกศิษย์หมอ พยาบาลให้คิวตรวจสุขภาพกับลูกศิษย์หมออีก 1 เดือนข้างหน้า และให้คิวเอ๊กเรย์อีกเกือบ 2 เดือนข้างหน้า โดยยังไม่มีใครบอกได้ว่าคนไข้จะได้รับการรักษาเมื่อไหร่ ไม่มีใครสนใจว่าโรคจะลุกลามแค่ไหน ทุกอย่างเป็นไปตามคิวที่ไม่เร่งรีบของพยาบาลและลูกศิษย์หมอ (ไม่ใช่หมอที่ดูแลเรา)

ณ จุดนั้น ดิฉันมีความรู้สึกว่าชีวิตของคน ๆ หนึ่งไม่ได้มีความหมายสำหรับหมอที่โรงพยาบาลรัฐแห่งนั้น แม้จะเป็นโรงพยาบาลที่ดีและมีเครื่องมือที่ดี แต่ทุกอย่างคงจะสายเกินไปเพราะหมอไม่ได้มี “ใจ” ในการรักษาคนไข้ให้หาย ทุกอย่างขาดแคลนไปเสียหมด ไม่ว่าจะเป็นเวลาของหมอ เวลาของพยาบาล หรือจำนวนเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับเคสเร่งด่วน

เนื่องจากดิฉันไม่ได้มี “เส้น” ในโรงพยาบาลรัฐที่จะขอความช่วยเหลือหรือรู้จักใครเป็นพิเศษ ดิฉันจึงตัดสินใจล้มเลิกความพยายามที่จะรักษาที่โรงพยาบาลรัฐและพาคนไข้ไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนอีกแห่งหนึ่ง…ทันที

ความคิดเปลี่ยน ชีวิตเปลี่ยน ดิฉันโทรศัพท์จากในรถเพื่อนัดหมอ (โทรไปขับไปเพราะทนไม่ไหวและขับไปโรงพยาบาลเอกชนเลย) ดิฉันรอเพียง 1 ชั่วโมงเพราะเป็นคิวแทรก เมื่อพบหมอๆ ฟังเราอย่างตั้งใจ ดูผลที่ได้จากโรงพยาบาลรัฐ  ตรวจเพิ่มอย่างถี่ถ้วน และอธิบายการวินิจฉัยจนเข้าใจ หลังจากนั้นก็เรียกพยาบาลให้จัดคิวเอ๊กซเรย์ภายในวันนั้น (เทียบกับโรงพยาบาลรัฐที่ต้องรอเกือบสองเดือน!) และกลับมาอธิบายผลให้ฟังอีกรอบในช่วงเย็น และนัดผ่าตัดคนไข้หลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์

ในวันผ่าตัด โรงพยาบาลเอกชนใช้เวลาในการให้คนไข้พบหมอ 4 คน ตรวจเลือด ตรวจเอ๊กซเรย์และเตรียมร่างกายทั้งหมดภายใน 6 ชั่วโมงและผ่าตัดได้เลยภายในเย็นวันนั้น ใช้เวลาผ่าตัดตามที่แจ้งไว้ หมอโทรมาหาเองหลังผ่าตัด (ไม่ต้องตาม) และอธิบายจนเข้าใจ คนไข้ไม่เจ็บแผล มีหมอทุกด้านตามแต่ต้องการ คนไข้ไม่ถูกทอดทิ้ง ไม่พอใจบ่นได้และมีความพยายามจะรักษาให้ดีที่สุด

ดิฉันรู้สึกขอบคุณที่ดิฉันและครอบครัวเป็นหนึ่งในประชาชนส่วนน้อยที่ยังโชคดี ที่แม้ว่าครอบครัวของดิฉันจะเป็นเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ของคนทำงานที่เสียภาษีให้รัฐและไม่เคยได้รับรัฐสวัสดิการในยามฉุกเฉินเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ดิฉันและครอบครัวก็ยังสามารถเข้าถึงการรักษาที่ดีได้และมีทางเลือก……แต่ประชาชนคนไทยตาดำ ๆ เป็นสิบ ๆ ล้านๆ คนในประเทศนี้ล่ะ พวกเขาไม่มีสิทธิ์นี้ ในยามเจ็บป่วยร้ายแรง ถ้าไม่เลือกที่จะรอจนตาย ก็คงต้องตายทั้งเป็นเพราะไม่มีเงินจ่ายค่ารักษาที่แพงแสนแพงของโรงพยาบาลเอกชน 

เลือกตั้งคราวนี้ ในฐานะประชาชนคนไทยคนหนึ่ง ดิฉันอยากจะบอกแทนครอบครัวและประชาชนที่มีโอกาสน้อยกว่าดิฉันว่า สิ่งที่ประชาชนต้องการมีไม่มาก เราเพียงต้องการสิ่งพื้นฐานในชีวิต มีที่อยู่ มีสวัสดิการให้ลูกของเราไปโรงเรียน มีเงินอุดหนุนให้ลูกและพ่อแม่ยามชรา มีโรงพยาบาลที่เข้าถึงได้และรักษาเราได้ในยามเจ็บป่วยอย่างทันท่วงที และที่สำคัญอย่าลืมคนชั้นกลางที่เขาเสียภาษีให้รัฐบาลเต็มเม็ดเต็มหน่วย (80% ของภาษีเงินได้มาจากมนุษย์เงินเดือน) ซึ่งนอกจากจะเสียภาษีรายได้แล้ว หากมีที่ดินก็ยังต้องเสียภาษีที่ดินอีกมากทั้งที่ไม่ได้มีรายได้จากที่ดินนั้นเลย โปรดอย่าลืมคนชั้นกลางที่แบกรับภาระของประเทศนี้ไว้ และในยามฉุกเฉินของชีวิตก็ต้องใช้เงินออมเกือบทั้งหมดมารักษาตนเอง เพราะระบบสาธารณสุขที่มีอยู่ไม่เอื้อที่จะช่วยเขาได้ทันท่วงที

แม้ระบบสาธารณสุขของไทยจะพัฒนาขึ้นมาก แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำมากมายซึ่งควรได้รับการแก้ไข เช่น การเพิ่มบุคลากรโรงพยาบาลรัฐเพื่อลดภาระหนักในการบริการประชาชน เพิ่มคุณภาพการให้บริการและลดความเหนื่อยล้าอันส่งผลต่อคุณภาพบริการที่ล่าช้า ในส่วนของราคาค่ารักษาพยาบาล รัฐควรเข้ามาควบคุมไม่ใช่ปล่อยให้ธุรกิจทางการแพทย์เปิดเสรี ขาดการควบคุมราคาโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงการส่งเสริมให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามาอยู่ในระบบประกันสุขภาพ เป็นต้น

เราจะต้องไม่ลืมว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมากเป็นลำดับต้น ๆ ในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว  ดิฉันจึงหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่ได้รับเลือกตั้ง จะเข้ามาช่วยในจุดนี้ โดยเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ แต่สำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำขั้นพื้นฐานของชีวิตอย่างความเหลื่อมล้ำด้านระบบสาธารณสุข ดิฉันเชื่อว่าก้าวเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่นี้ จะนำไปสู่การค่อย ๆ ลดความเหลื่อมล้ำในด้านอื่น ๆ ของสังคมไทยต่อไปในอนาคต

ดร. เทียนทิพ สุพานิช
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.เสรี เรียกร้องอย่าให้ 'กระแส' ชนะ 'ข้อมูลและเหตุผล'

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าอิทธิพลของการสื่อสารตามทฤษฎี hypodermic needle theory กำลังสำแดงหลักฐาน

'ด้อมแดง' โชว์ตรรกะอวย 'หมอชลน่าน' เพิ่งนั่ง รมว.สธ. ก็ได้กลิ่นความเจริญแล้ว

นพ.อิราวัต อารีกิจ หรือ หมออั้ม กองเชียร์พรรคเพื่อไทย อดีตแนวร่วมม็อบสามนิ้ว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “อั้ม อิราวัต” วันนี้ได้มีโอกาส คุยกับพี่หมอชลน่าน บอกได้เลย ว่าดีใจกับประชาชนไทย

'พิธา' ประกาศเป็นนายกฯ คนที่ 31 ประชาชนไม่ใช่แค่ตัวประกัน แต่เป็นประธาน

พรรคก้าวไกล จัดเวทีปราศรัยใหญ่ทิ้งท้ายการเลือกตั้งซ่อม สส. เขต 3 จ.ระยอง ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 ก.ย.นี้ โดยพรรคก้าวไกลได้ส่ง นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ เป็นผู้สมัครสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยนอกจาก สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ทั้ง 4 เขตแล้ว ยังมีแกนนำและ สส.พรรคก้าวไกล

จับโป๊ะ! 'เจี๊ยบก้าวไกล' ใช้ภาพเวทีขอนแก่น ปั่นหาเสียงระยอง ด้อมส้มอายหน้ามุดดิน

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล แกนนำพรรคก้าวไกล โพสต์ภาพและข้อความการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม สส.ระยองผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขอบคุณพี่น้องชาวระยอง 10 กันยาเข้าคูหา กาโย พงศธร เบอร์ 1