ทิศทางการเมือง-จัดตั้งรัฐบาล หลังรู้ผล 'ชนะ-แพ้' 14 พ.ค.

การเมืองไทยหลังผ่านพ้นวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. ยังคงต้องติดตามกันว่า เมื่อรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.นี้ จนรู้ว่าพรรคการเมืองใด ได้เสียง ส.ส.เท่าใด จะเป็นขั้วการเมืองพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน หรือกลุ่มอดีตพรรคฝ่ายค้าน ฝ่ายไหนจะมีเสียง ส.ส.มากกว่ากัน สิ่งที่ตามมาต่อจากนั้นที่ต้องติดตามก็คือ การรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ที่ก็ยังไม่แน่เสมอไปว่าพรรคที่ได้ ส.ส.มากที่สุดในการเลือกตั้ง จะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่?

มีความเห็นแนววิเคราะห์สถานการณ์การเมืองไทย-การจัดตั้งรัฐบาลหลังวันที่ 14 พ.ค.จาก ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, นักวิชาการและนักวิเคราะห์การเมืองไทย

โดย ดร.สติธร มองการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาต้องให้พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.มาอันดับหนึ่งไปคุยนอกรอบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งฝ่ายที่คงจะเริ่มต้นจัดตั้งรัฐบาลก่อนก็คือ พรรคเพื่อไทยกับก้าวไกล และอาจเป็นไปได้ที่อาจจะต้องมีการคุยข้ามขั้ว เพราะต่อให้แลนด์สไลด์กันอย่างไร พรรคการเมืองอดีตฝ่ายค้านเดิมก็ไม่น่าจะรวมเสียงกันได้เกิน 376 เสียง (โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องได้เสียงเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่ง) ทำให้ฝ่ายเพื่อไทย-ก้าวไกล ก็ต้องไปดึงพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันมาร่วมตั้งรัฐบาลด้วย เช่น ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคตั้งใหม่อย่างไทยสร้างไทย

แต่พรรคที่จะเป็นตัวแปรสำคัญในการต่อจิกซอว์ก่อนก็คือ พรรคภูมิใจไทย ที่ดูแล้วหากดึงมาร่วมตั้งรัฐบาล กระแสต่างๆ ที่จะย้อนกลับไปที่เพื่อไทยน่าจะเบากว่าที่จะไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคของสองลุง (พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ) หรือแม้แต่กับประชาธิปัตย์ แต่ก็คงไม่ง่ายเพราะอาจติดเงื่อนไขต่างๆ เพราะช่วงหาเสียงก็ลุยใส่กันเยอะ และต่างฝ่ายต่างตั้งกำแพงกันไว้สูงพอสมควร จนอาจเกิดกรณีงูกินหางทางการเมืองตามมา เช่นเพื่อไทย อาจต้องยอมกลืนน้ำลายบางส่วน เพื่อชวนภูมิใจไทยมาร่วมตั้งรัฐบาล ส่วนภูมิใจไทยก็ต้องมาโดยอาจมีเงื่อนไขว่า จะไม่ร่วมกับพรรคที่แตะเรื่องแก้ 112 ที่ก็คือพรรคก้าวไกล ส่วนก้าวไกลก็ให้ร่วมกับภูมิใจไทยได้ แต่จะยื่นเงื่อนไขไม่ให้ภูมิใจไทยคุมกระทรวงสำคัญ เช่นกระทรวงคมนาคม มันก็เป็นงูกินหางแบบนี้ ส่งผลให้การรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียงเพื่อโหวตเลือกนายกฯ โดยไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว. มันจะไม่ง่าย

ดร.สติธร กล่าวถึงบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาในการโหวตนายกฯ ว่า ตราบใดที่เพื่อไทยไม่สามารถเจรจากับพรรคการเมืองต่างๆ จนได้เสียง ส.ส. 376 เสียง มองว่าทาง ส.ว.ก็อาจเลือกที่จะนิ่งไว้ก่อน เพราะเราก็ได้เห็นท่าทีของ ส.ว.จำนวนไม่น้อย ในช่วงที่เขาหาเสียงกัน ส.ว.บางคนก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะขอยืนเป็นตัวของตัวเอง คือประชาชนเลือกมาอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ทาง ส.ว.ก็ขอใช้เอกสิทธิ์คิดเองคิดแทนโดยบอกว่าจะยึดผลประโยชน์ประเทศชาติ เขาก็มีจุดยืนแบบนี้ แปลว่าหากเพื่อไทยไม่สามารถปิดสวิตช์ ส.ว.ด้วยการรวมเสียงให้ได้เกิน 376 เสียง ทำให้ถึงตอนโหวตนายกฯ ทาง ส.ว.ก็อาจโหวตไปในทางตรงกันข้าม หรือไม่ก็ใช้วิธีเข้าประชุมแต่ถึงตอนโหวต ส.ว.อาจงดออกเสียง จนอาจทำให้คนที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ได้เสียงไม่เกิน 376 เสียงของสมาชิกรัฐสภา ทำให้ประธานรัฐสภาต้องไปนัดประชุมร่วมรัฐสภาใหม่อีกครั้ง เพื่อมาลงมติโหวตนายกฯ ถ้าประชุมนัดแรกไม่มีใครได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งกระบวนการโหวตเลือกนายกฯ สุดท้ายแล้วจะใช้เวลานานขนาดไหนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ยังคาดเดาไม่ถูก แต่หากฝ่ายต่างๆ มีการพูดคุยกันรู้เรื่องระหว่างที่รอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้ง มันก็อาจทำให้การโหวตเลือกนายกฯ จบเร็วในครั้งแรก แต่ถ้าคุยกันไม่รู้เรื่อง เราก็อาจจะได้เห็นการโหวตเลือกนายกฯ เกิดขึ้นหลายรอบ

จากกติกาการโหวตเลือกนายกฯ และท่าทีของแต่ละพรรคการเมืองที่ปรากฏอยู่ตอนนี้ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลอาจยืดเยื้อ แต่เกมหนึ่งที่ยืดเยื้อไม่ได้ก็คือ การโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประธานสภาก็อาจอยู่ในฝ่ายอดีตพรรคฝ่ายค้านเดิม ที่เรียกกันตอนนี้ว่าเสรีนิยม หรืออาจจะไม่ก็ได้ มันอยู่ที่การคุยกันนอกรอบ ว่าเสียง 376 มันจะรวมกันได้หรือไม่เฉพาะ ส.ส. และเงื่อนไขการรวมเสียง 376 เสียง อาจมีตำแหน่งประธานสภา อาจเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขก็ได้ โดยประธานสภาอาจมาจากอีกฝั่งหนึ่ง ข้ามขั้วมาก็ยังได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เจรจากันลงตัว ก็เป็นไปได้เช่นกัน”

ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์สูตรความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่า ถึงตอนนี้มองไว้ 3 สูตร

สูตรแรกคือ ฝ่ายพรรคการเมืองขั้วเสรีนิยมคือ เพื่อไทย ก้าวไกล เสรีรวมไทย ประชาชาติ รวมเสียงกันแล้วแลนด์สไลด์เกิน 300 เสียง แล้วก็ไปชวนภูมิใจไทยมา โดยที่ภูมิใจไทยกับก้าวไกลตกลงกันได้ มาเป็นรัฐบาลร่วมกัน แบบนี้แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยคนใดคนหนึ่งได้เป็นนายกฯ อันนี้คือ scenario ที่ฝ่ายเสรีนิยมแลนด์สไลด์และคุยกันลงตัว แต่ภายใต้ scenario นี้ ก็มีรายละเอียดย่อยอีกคือ ภูมิใจไทยเข้ามาโดยการดึงของเพื่อไทย แต่ฝ่ายก้าวไกลไม่โอเคด้วย แต่ก้าวไกลก็ไม่อยากให้เพื่อไทยไปเอาพลังประชารัฐที่มีลุงป้อมมา ก้าวไกลก็อาจโหวตสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทยเพื่อร่วมปิดสวิตช์ลุงป้อม แต่ก้าวไกลจะไม่ร่วมรัฐบาล

Scenario ที่สองก็คือ ก้าวไกลไม่ร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย และไม่ร่วมโหวตแคนดิเดตนายกฯ ให้ด้วย ทำให้เพื่อไทยต้องไปพึ่งพลังประชารัฐกับลุงป้อม แต่จำนวนเสียงก็อาจยังไม่พอ จนเผลอๆ เพื่อไทยต้องไปขอแรงประชาธิปัตย์มาร่วมอีก และถ้ายังไม่พออีกก็ต้องขอแรงลุงป้อมให้ดึง ส.ว.มาร่วมโหวตให้ด้วย ดังนั้นโอกาสที่จะเป็นรัฐบาลผสมแบบ scenario ที่สองก็คือ เป็นรัฐบาลข้ามขั้ว เพื่อไทยต้องบวกกับฝ่ายพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย และอาจจะมีประชาธิปัตย์เพื่อเป็นรัฐบาล ซึ่ง scenario สูตรนี้โอกาสที่เพื่อไทยจะต้องเสียแคนดิเดตนายกฯ ก็อาจเป็นไปได้ โดยอาจจะมาจากคนใดคนหนึ่งจากพรรคการเมืองที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลในสูตรนี้ ซึ่งภาษีสูงสุดก็น่าจะเป็นพลเอกประวิตร

Scenario ที่สามก็คือ ลุงตู่อยู่ต่อ หมายถึงกระแสแลนด์สไลด์แรงก็จริง แต่ผลเลือกตั้งออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่ทุกคนเข้าใจว่าจะแรงไปทางเดียว คือแรงไปในทางที่ว่า ก้าวไกลไปตัดเพื่อไทย จนทำให้เขตเลือกตั้งต่างๆ ที่ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีปัจจัย เช่นความเป็นบ้านใหญ่ มีผู้สมัครแข็งๆ มีกระสุนดีๆ กลายเป็นผู้ชนะแทน คล้ายๆ กับตอนเลือกตั้งปี 2562 กับพลังประชารัฐตั้ง 97 เขต ภูมิใจไทยก็ 30 กว่าเขต ประชาธิปัตย์ก็ 30 กว่าเขต รวมๆ กันก็ร่วมๆ 100 กว่าเขตเลือกตั้ง ที่ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันเขาเคยชนะในการเลือกตั้งรอบที่แล้ว จนทำให้พรรคการเมืองขั้วรัฐบาลรวมตัวเลข ส.ส.กันแล้วหลังเลือกตั้งน่าจะไปได้ระดับ 220-225 เสียง ในสี่พรรคการเมือง (พลังประชารัฐ-รวมไทยสร้างชาติ-ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์) แล้วก็บวกกับพรรคเล็กๆ ที่สนับสนุนรัฐบาล เขาก็มีโอกาสตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรืออาจไม่ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยเพราะเกรงความเสี่ยง ก็อาจใช้วิธียื้อการตั้งรัฐบาลไปก่อน เพื่อหวังว่าจะมีคนย้ายขั้วจากฝ่ายเสรีนิยมมาร่วมในฝั่งนี้ เพราะตัวเลขมันห่างจาก 250 เสียงไม่เยอะเลย

ใน Scenario ที่สาม ก็จะมี 3.1 กับ 3.2 โดย 3.1 คือตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปเลย แล้วก็ไปเสี่ยงเอา หวังว่าตั้งรัฐบาลได้แล้วจะมีคนยอมมาร่วมด้วย ด้วยการเสนอตำแหน่งรัฐมนตรีให้ หรือคุยนอกรอบให้เสร็จก่อน แล้วตอนโหวตนายกฯ ก็มาโหวตให้แคนดิเดตนายกฯ ของฝั่งรัฐบาลปัจจุบันที่น่าจะเป็น พลเอกประยุทธ์ไปก่อนแล้วก็ตั้งรัฐบาล แบ่งเก้าอี้กันไป ที่ก็คือไม่ใช่รัฐบาลเสียงข้างน้อย แต่เป็นรัฐบาลที่ไปได้งูเห่ามา

โอกาสกลับมาเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ก็จะอยู่ใน Scenario ที่สาม ที่ก็ยังไม่ปิดประตู เพราะต่อให้ฝ่ายเสรีนิยมได้เสียงมา 300 เสียง แต่ก็ยังขาดอีกร่วม 70 กว่าเสียง มันยังมีเงื่อนไขอีก จนทำให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่าย และทำให้พรรคพลเอกประยุทธ์ ถ้าอยู่นิ่งๆ แล้วไปเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้พลิกเกมกลับมา”

ดร.สติธร คาดการณ์ทางการเมืองไว้ว่า ดูจากสถานการณ์แล้วคาดว่าเพื่อไทยน่าจะได้ ส.ส.รวมกันทั้งหมดประมาณ 180-200 ที่นั่ง โดยมีตัวเลขกลางคือ 190 ที่นั่ง แยกเป็น ส.ส.เขต 160 ที่นั่ง และปาร์ตี้ลิสต์ 30 ที่นั่ง ส่วน พรรคก้าวไกล ให้ไว้ต่ำสุดคือ 65 ที่นั่ง สูงสุดคือ 100 ที่นั่ง ส่วนจะถึงขั้นทะลุหนึ่งร้อยเสียงหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่กล้าคิดเพราะหากก้าวไกลจะทะลุร้อยเสียง มันอยู่ที่จำนวนเขตเลือกตั้งที่จะชนะด้วย คือวันนี้ผมยังมองว่าสำหรับก้าวไกล 30 เขตเลือกตั้งที่เคยชนะตอนปี 2562 ในยุคพรรคอนาคตใหม่ ยังมีโอกาสที่ก้าวไกลจะชนะอยู่ ส่วนเขตที่จะเพิ่มขึ้นมาก็คาดว่าจะไปชิงมาจากเพื่อไทย ผมเลยปรับลดเพื่อไทยลงมาสามสิบเขตแล้วไปไว้ที่ก้าวไกลแทนประมาณสามสิบที่นั่ง แต่หากกระแสก้าวไกลมาแรงแลนด์สไลด์ ก็น่าจะทำให้พรรคก้าวไกลได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ไปตัดมาจากเพื่อไทย ทำให้ก้าวไกลอาจได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์มากกว่าเพื่อไทย คือกวาดไปประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่หากก้าวไกลจะทะลุร้อยเสียงก็อาจเป็นไปได้ แต่ก็น่าจะทะลุไม่มาก

สำหรับรวมไทยสร้างชาติ ผมให้ตัวเลขอยู่ที่สูงสุดคงไม่น่าจะเกิน 40 ที่นั่ง แล้วต่ำสุดก็น่าจะประมาณ 30 เสียง ขณะที่ภูมิใจไทย มองว่าถ้าก้าวไกลมาเยอะ ภูมิใจไทยก็อาจลดลงไป จะได้ประมาณ 65 ที่นั่ง แต่ถ้าก้าวไกลมาไม่เยอะเกินไป คือได้ประมาณ 60-70 เสียง ก็จะทำให้ภูมิใจไทยน่าจะรักษาระดับไว้ที่อย่างต่ำ 75 เสียงได้

ดร.สติธร ยังวิเคราะห์พื้นที่เลือกตั้งสนามกรุงเทพมหานครด้วยว่า มีโอกาสพลิกเยอะ อย่างตอนกระแสก้าวไกลยังไม่แรงแบบตอนนี้ ผมก็ประเมินว่าเพื่อไทยกับก้าวไกลก็จะนำใน กทม. คือสองพรรคได้ ส.ส.เขต กทม. รวมกันแล้วน่าจะได้ประมาณ 24-25 ที่นั่ง ซึ่งวันนี้ยอดรวมก็ยังน่าจะอยู่ราวๆ นี้ โดยอาจจะบวกเพิ่มได้อีก 1-2 ที่นั่ง เฉพาะสองพรรคนี้ แต่ว่าจำนวน ส.ส.กทม.ระหว่างสองพรรคนี้ ตอนนี้ประเมินยากแล้วเพราะมันสวิงกันเอง คือหากก้าวไกลเพิ่ม เพื่อไทยก็จะได้ ส.ส.เขต กทม.ลดลง ทำให้จากที่ผมเคยประเมินว่าเพื่อไทยจะได้ ส.ส.เขต กทม.มากกว่าก้าวไกล แต่มาวันนี้คงต้องประเมินกลับทาง ก้าวไกลอาจได้ ส.ส.เขต กทม.มากกว่าเพื่อไทยแล้ว ส่วนประชาธิปัตย์น่าจะได้ลุ้นสัก 2 เขต.

ผอ.นิด้าโพล วิเคราะห์

5 scenarios สูตรตั้งรัฐบาล

ขณะที่ ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองว่าด้วยความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. โดยเป็นการให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะมีการแถลงข่าวผลสำรวจนิด้าโพลรอบสุดท้ายเมื่อ 3 พ.ค.ว่า พูดจากความเป็นไปได้ของแต่ละ scenario ความเป็นไปได้สูงสุดคือ พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพลเอกประวิตรเป็นนายกฯ คือ พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร เป็นแค่สองคนเท่านั้นที่มีคอนเนกชันกับสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งการเลือกนายกฯ ยังต้องใช้เสียง ส.ว. ซึ่งเพื่อไทยไม่เอาพลเอกประยุทธ์แน่ ก็เหลือลุงป้อมคนเดียว ดังนั้นลุงป้อมก็ต้องเจรจาเพื่อขอตำแหน่งนายกฯ แต่การเจรจาดังกล่าวลุงป้อมจะได้หรือไม่ได้ ตัวลุงป้อมอำนาจการเจรจาต้องมีสูงพอสมควร เช่น 1.ลุงป้อมต้องได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 40-50 เสียง  และ 2.เพื่อไทยต้องไม่แลนด์สไลด์หรือได้ ส.ส.มากจนเกินไป จนมีอำนาจต่อรองเหนือลุงป้อมมากนัก ถึงได้บอกว่า หากก้าวไกลกระแสเป็นแบบนี้ ทำให้ลุงป้อมนั่งยิ้ม เพราะทำให้เป็นการไปลดอำนาจการต่อรองของเพื่อไทยลง แต่ลุงป้อมก็จะเป็นนายกฯ ได้ไม่นาน เพราะหลังเดือน พ.ค.67 อำนาจโหวตนายกฯ ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญของ ส.ว.จะหมดไป พลเอกประวิตรก็อาจจะอยู่อีกสักพัก แล้วจากนั้นก็จะมีการเชิญลุงป้อมลง เพราะเสียงส่วนใหญ่ในรัฐบาลคือฝ่ายเพื่อไทย จะให้ลงเมื่อไหร่ก็ได้

scenario ที่สองคือ ฝ่ายเพื่อไทยอาจมองว่าเพื่อให้รัฐบาลมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ก็จะไปดึงภูมิใจไทยเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งนายอนุทินก็ส่งสัญญาณมาแล้วกับพลเอกประวิตร ตอนที่นายอนุทินไปกินข้าวด้วยกันที่ป่ารอยต่อฯ  ว่าต่อไปนี้ขายเหล้าพ่วงเบียร์ อยากได้ป้อมต้องเอาหนูไปด้วย ซึ่งเพื่อไทยอาจโอเคเพราะทำให้รัฐบาลเข้มแข็งขึ้น เพราะดีกว่าเอาลุงป้อมมาแล้วไปดึงพรรคเล็กๆ เข้ามา ก็เอาแบบนี้อาจจะคุ้มกว่า เพียงแต่ scenario สูตรนี้คือ เพื่อไทยยินดีหรือไม่ที่อาจจะต้องเสียกระทรวงสำคัญๆ ไปให้ภูมิใจไทย เพราะเขาเรียกร้องเยอะแน่ ส่วนใครเป็นนายกฯว่ากันอีกที แต่ผมเชื่อว่าอุ๊งอิ๊งยังไม่ขึ้นตอนนี้ เขาอาจจะไปเป็น รมว.การพัฒนาสังคมฯ ก่อน เพราะกระทรวงนี้มีแต่ให้ ก็ทำให้ได้คะแนน

scenario ที่สามคือ เพื่อไทยพลาด ฝ่ายลุงตู่กลับมา คือพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันกลับมาได้ แต่ใครเป็นนายกฯ ต้องไปดูว่าพรรคไหนได้เสียง ส.ส.มากกว่ากัน แต่อาจจะเป็นลุงตู่หรือลุงป้อม เพราะอนุทินเขาไม่มีเสียง ส.ว.

scenario ที่สี่ ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่ผมพูดตั้งแต่ตุลาคมปี 2565 ว่าให้ระวังเกมนี้ให้ดี โดยเมื่อก่อนผมเรียกว่ายุทธศาสตร์กำจัด 3 ป. แต่ตอนนี้เหลือ 2 ป.แล้ว ก็คือ หากเกิดกรณีพลังประชารัฐกับรวมไทยสร้างชาติรวมจำนวน ส.ส.หลังเลือกตั้งกันแล้ว หากไม่เกิน 120 เสียง ก็หมายถึงอีก 380 เสียงที่อยู่พรรคอื่นๆ ทั้งหมด มาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล แล้วเลือกแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคในกลุ่มนี้ใครก็ได้มาเป็นนายกฯ แล้วทิ้งเสียง ส.ว.ไปเลย ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.แล้วเพราะมันเกิน 376 เสียง แต่สูตรนี้มีปัญหาอันเดียวคือ ประชาธิปัตย์จะเอาด้วยหรือไม่ ประชาธิปัตย์งวดนี้ก็แย่แล้ว และหากเกิดไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทย งวดหน้าก็จะเล็กลงอีก ประชาธิปัตย์ก็ต้องตัดสินใจจะเอาอย่างไร แต่สูตรนี้ผมมองว่าก้าวไกลก็อาจไม่เอาด้วย ไม่เข้าร่วม

และ scenario สุดท้าย เป็น scenario ที่เกิดขึ้นยากมาก แต่อาจเป็นไปได้ ถ้าเพื่อไทยกินยาผิด คือเพื่อไทย จับมือก้าวไกลตั้งรัฐบาล เพราะก้าวไกลเป็นคนที่ไปไหนมาไหนพร้อมระเบิดเวลา ทำให้ก็ไม่มีใครอยากเอาเข้าร่วมรัฐบาล ทำให้ผมคิดว่าก้าวไกลมีโอกาสเป็นฝ่ายค้านสูง คือเพื่อไทยไม่ได้เป็นรัฐบาลมาแปดเก้าปีแล้ว ครั้งนี้เขามีโอกาสจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ทำให้เพื่อไทยต้องอยากอยู่ให้นานที่สุด เขาคงไม่อยากเอาก้าวไกลเข้ามาเพื่อทำให้รถถังมาจ่ออยู่หน้าบ้าน เพื่อไทยเรียนรู้มาเยอะแล้ว เขาคงไม่กล้าหักด้ามพร้าด้วยเข่า แล้วยิ่งก้าวไกลมาตัดคะแนนเขาเยอะๆ แบบนี้ เขาก็ยิ่งไม่เอาเข้ามา.

คาดตั้งรัฐบาล-ยืดเยื้อกว่าจะจบ

ปิดท้ายที่อดีตนายทหาร-นักการข่าวคนดัง พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง การจัดตั้งรัฐบาลหลัง 14 พ.ค.ไว้ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้การแข่งขันดำเนินไปอย่างสูสีมาก ซึ่งก็เห็นชัดเจนว่าการแข่งขันแบ่งออกเป็นสองขั้ว คือฝ่ายพรรคการเมืองซีกรัฐบาลปัจจุบัน กับพรรคการเมืองอดีตพรรคฝ่ายค้านที่นำโดยเพื่อไทย และมีแนวร่วมคือพรรคก้าวไกล

แม้ที่ผ่านมาเพื่อไทยจะมีการแข่งขันกับพรรคก้าวไกลอย่างรุนแรง แต่ในช่วงโค้งสุดท้าย หากมีโอกาสก็จะไปร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยอยู่ดี ดังนั้นหากผลการเลือกตั้งออกมาตามโพลที่ออกมาตลอด ก็จะทำให้เพื่อไทยและก้าวไกล จะเคลื่อนไหวชิงจัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งหากกรณีว่ารวมเสียงกันแล้วในปีกนี้ได้เกิน 250 เสียงขึ้นไป แต่ว่าจัดตั้งรัฐบาลไปไม่รอดเพราะติดที่เสียงของ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี โดยหากฝ่ายพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะทำให้การโหวตเลือกนายกฯ และการตั้งรัฐบาลจะกลับมาอยู่ที่อีกขั้วหนึ่ง คือขั้วรัฐบาลปัจจุบัน แต่ดูแล้วหากฝ่ายขั้วรัฐบาลจะใช้วิธีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยคงยาก ทำไม่ได้ ทำให้ฝ่ายขั้วรัฐบาลปัจจุบัน ก็จะต้องพยายามเคลื่อนไหวรวบรวมเสียงให้ได้เกิน 250 เสียงขึ้นไป ถึงตอนนั้นต้องดูฝีมือ มือล็อบบี้ ในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะไปล็อบบี้เสียงต่างๆ มาจนเกิน 250 เสียง จะเป็นอย่างไร

สรุปแล้ว คือฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน หากพรรคการเมืองในปีกนี้ได้ ส.ส.มาที่สองหรือที่สาม ก็จะทำให้มีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลได้แน่นอน เช่น ภูมิใจไทยได้ ส.ส.มาอันดับสอง ส่วนรวมไทยสร้างชาติได้ ส.ส.มาอันดับสาม ถ้าเป็นแบบนี้จะทำให้ทั้งสองพรรคมีโอกาสในการเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงต้องดูผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.นี้ว่าประชาชนจะชี้ขาดผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร

ประชาชนควรออกมาโหวตเสียงแบบให้เด็ดขาดไปที่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งไปเลย เพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาสับสนในการจัดตั้งรัฐบาล เช่นหากจะสนับสนุนฝ่ายเพื่อไทย ก็เทเสียงไปยังพรรคการเมืองอดีตฝ่ายค้านไปแบบให้ขาดไปเลย หรือจะสนับสนุนลุงตู่ ก็เทเสียงมายังฝ่ายนี้ให้หมด ถ้าผลเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ปัญหามันจะไม่เกิดขึ้นในบ้านเมือง ฝ่ายไหนแพ้ก็จะยอมรับและยุติไป

ผมเชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีขึ้น ดูแล้วน่าจะมีปัญหาเพราะเสียงสนับสนุนทั้งสองฝ่ายตอนนี้สูสีกันมาก ทำให้การเมืองไทยหลัง 14 พ.ค. ประเมินแล้วการจัดตั้งรัฐบาลกว่าจะเสร็จคงช้า น่าจะใช้เวลาเป็นเดือนก็ได้" พลโทนันทเดชระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พนัส อดีตสว.-อดีตสสร. คัดเลือกสภาสูง 2567 ฝ่ายประชาธิปไตยมีสิทธิลุ้น

ความเคลื่อนไหวการได้มาซึ่ง"สมาชิกวุฒิสภา"(สว.) ชุดใหม่ ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ....

อย่าใหญ่เกินธรรมชาติ .. พ่อมหาจำเริญ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. ภาวะโลกร้อน (Global warming) .. อันเกิดเนื่องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่กำลังอยู่ใต้ห้วงวิกฤตการณ์อันเนื่องจากการกระทำของคนเรา

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...