
โครงสร้างงบประมาณรายรับ-รายจ่ายประเทศไทย ณ ปัจจุบันและมีความโน้มเอียงที่จะเรื้อรังต่อเนื่องไปอีกยาวนานคือรายรับต่ำกว่ารายจ่ายซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอและเปราะบางทางการคลังของประเทศที่น่าเป็นห่วงเป็นกังวลอย่างยิ่ง
เหตุปัจจัยที่เป็นเงื่อนไข และข้อจำกัด ซึ่งทำให้โครงสร้างงบประมาณประเทศไทย มีลักษณะพิกลพิการ และมีโอกาสริบหรี่ในการเพิ่มรายรับ ให้สูงกว่ารายจ่าย เพื่อพลิกจาก “ขาดดุล” เป็น “สมดุล” หรือ “เกินดุล” มีอย่างน้อย 5 ประการด้วยกัน
ประการแรก: หลักการงบประมาณของประเทศเรา มักจะกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณด้านรายจ่ายโดยรวม ในแต่ละปีเอาไว้ คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 1 ใน 5 หรือประมาณไม่เกิน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือ GDP ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
อย่างตอนนี้ปี งบประมาณ พ.ศ 2566 ตั้งกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายไว้ 3.18 ล้าน-ล้านบาทเทียบกับขนาดของ GDPปีนี้ ที่ประมาณการไว้ที่ 17.9 ล้าน-ล้าน คิดเป็น 17.79% ของ GDP ขณะที่กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีในสัดส่วนที่สูงกว่า 20% ของ GDP
ประการที่ สอง: ทางด้านรายได้…การจัดเก็บรายได้ของประเทศเราจะมีขนาดประมาณ 15% ของ GDP โดยประมาณการรายได้จัดเก็บสำหรับ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้อยู่ที่ 2.49 ล้าน-ล้านบาท คิดเป็น 13.9% ของ GDP ขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วจะจัดเก็บรายได้ในแต่ละปีได้ประมาณ 30-35% ของ GDP
ประการที่ สาม: งบประมาณของประเทศเรา มักจะมีลักษณะแบบ”ขาดดุล”เป็นส่วนใหญ่ คือมีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ต่อเนื่องมาโดยตลอด จนเกือบจะไม่มีเลยที่จะเป็นงบประมาณแบบ”สมดุล”
อย่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นี้ ก็เป็นเช่นเดียวกับงบประมาณหลายปีก่อนหน้า คือมีลักษณะเป็นงบประมาณแบบขาดดุล โดยมียอดขาดดุล จำนวน 695,000 ล้านบาท
ประการที่ สี่: ลักษณะการกระจายตัวของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศไทย ก้อนใหญ่ที่สุดประมาณ สองในสาม ถึงสามใน สี่ หรือประมาณ 75% เป็นส่วนที่ถูกนำไปใช้จ่ายในลักษณะที่เป็น “งบรายจ่ายประจำ” อันได้แก่งบบุคลากร บวกกับงบดำเนินงาน
อย่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2566นี้ เราตั้งวงเงินงบประมาณที่เป็นงบรายจ่ายประจำไว้ 2.39 ล้าน-ล้านบาท เท่ากับ75.26% ของยอดรวมงบประมาณทั้งสิ้น 3.18 ล้าน-ล้านบาท
ประการที่ ห้า: สัดส่วนของวงเงินงบประมาณที่เป็น “งบรายจ่ายลงทุน” หรืองบลงทุนในงบประมาณรายจ่ายประจำปีของงบประมาณประเทศไทย มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงงบประมาณรายจ่ายปี พ.ศ. 2566 ในปัจจุบัน
ตัวเลขงบประมาณรายจ่าย ที่เป็น งบรายจ่ายลงทุน สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน อยู่ที่ 6.95 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 21.82% ของวงเงินบประมาณรายจ่ายรวมทั้งหมด 3.18 ล้าน-ล้านบาท ทั้งนี้เป็นเพราะความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ที่กำหนดให้ต้องจัดให้มีงบรายจ่ายลงทุน ไว้ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวมทั้งหมด และต้องไม่ต่ำกว่ายอดเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี .
เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เป็นเงื่อนไขและข้อจำกัดของการจัดสรรเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีทั้ง 5 ประการดังกล่าวแล้ว กระตุกให้เกิดความวิตกกังวลว่าหากโครงสร้างงบประมาณ ยังมีลักษณะพิการต่อเนื่องต่อไป ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดในการตั้งวงเงินงบประมาณ ที่ทำได้เพียงแค่รองรับงบบุคลากร และงบดำเนินงาน กับงบชำระคืนต้นเงินกู้ และดอกเบี้ย รวมทั้งงบเบ็ดเตล็ดอื่นๆ ซึ่งต้องตั้งตามสัดส่วน ตามเกณฑ์ที่กฏหมายกำหนด ซึ่งล้วนเป็นเพียงงบที่เป็นภาระผูกพันที่ต้องตั้งจ่าย ตามสิทธิ์-ตามกฎหมาย-ตามระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นเราก็จะไม่มีวงเงินหรือ”พื้นที่ทางการคลัง”(Fiscal space) เหลือเพียงพอที่จะนำไป”ลงทุน”เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างที่เคยทำกันมาได้ในอดีต
ทุกวันนี้กระบวนการจัดทำงบประมาณของเรา ถูกบีบคั้นกดดันให้ต้องใส่ใจอย่างมากเกี่ยวกับตัวเลขที่จะต้องกู้ยืมมาเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เนื่องจากประมาณการรายได้ ต่ำกว่าประมาณการรายจ่าย แล้วก็ต้องคอยนั่งลุ้นคำนวณตัวเลขสัดส่วน”งบลงทุน” ให้เป็นไปตามที่กฏหมายกำหนดปีแล้วปีเล่า โดยแทบจะไม่ค่อยได้พูดกันถึงเรื่องของ”รายได้ “กันอย่างจริง ๆจังๆ ทั้งที่ทราบกันดี ว่าในทางการคลังนั้น “รายได้”เป็นตัวกำหนด”รายจ่าย”
ดังนั้นถ้าต้องการอยากจะให้ และอยากจะเห็น”งบประมาณ”ของประเทศเราเข้มแข็งและมีศักยภาพ ทาง การคลังอย่างแท้จริง ทุกองคาพยพของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการงบประมาณ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเพิ่มน้ำหนักและให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าวิจัยแสวงหาหนทางเพิ่ม”รายได้” กันอย่างจริงๆจังๆ ด้วยความละเอียด รอบคอบ และรวดเร็ว
ถ้าเราไม่สามารถเพิ่มรายได้ แต่ยังคงต้องกู้เงินชดเชยการขาดดุลไปแบบไม่รู้จุดจบ ฐานะการคลังของเราก็จะอ่อนแอลงเรื่อยๆในระยะยาว
บทเรียนจากวิกฤตการ การแพร่ระบาดของโควิดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลงทั้งหมด ทั้งการบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยว หรือแม้แต่การส่งออก ก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเคย เป็นเหตุให้รายได้จากการจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ สวนทางกับงบประมาณรายจ่ายภาครัฐ สูงกว่าประมาณการอย่างมาก น่าจะเป็น”ตัวเร่ง” ให้ต้องปฏิรูปงบประมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มรายได้ในการจัดเก็บให้มากขึ้น เพื่อลด-ละ-เลิกการพึ่งพาการกู้ยืมเงินชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และขยายพื้นที่ทางการคลังให้มากขึ้น เพื่อขยายงบลงทุนให้สูงขึ้น เกินกว่ากรอบที่กฏหมายกำหนด
พึงต้องตระหนัก และระลึกไว้เสมอว่าการใช้จ่ายเงินภาครัฐ ผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี คือขุมพลังที่สำคัญ และมีบทบาทอย่างสูงต่อจังหวะการเคลื่อนไหวของชีพจรระบบเศรษฐกิจ
กระบวนการเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บให้มีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงขึ้นเพื่อทำให้งบประมาณเข้มแข็งและก้าวข้ามเงื่อนไขข้อจำกัดทั้ง 5 ประการข้างต้นที่เป็นเหตุแห่งความอ่อนแอของงบประมาณคือกระบวนการเดินหน้าระบบเศรษฐกิจประเทศไทยสู่ความเจริญพัฒนาบนรากฐานความมั่นคงแข็งแรงและยั่งยืน
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แก้วสรร' จัดหนัก Soft Power ไม่ใช่ ศัลยกรรมพลาสติก
รัฐบาลฟังทางนี้ “แก้วสรร” ออกความ Soft Power ไม่ใช่ ศัลยกรรมพลาสติก กรุณาอย่าฟุ้งซ่านลามปามมาทำศัลยกรรมวัฒนธรรมของผู้คนในบ้านนี้เมืองนี้ จัดหนัก อย่าหลงไปเห่าชิ้นเนื้อที่มองเห็นในน้ำด้วยความหิวโหย
เศรษฐา-พท. ตอบให้ชัด จะนิรโทษกรรมฯ เมื่อใด? พรรค "รทสช.” กำลังยกร่างฯ
หลังเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ 12 ธ.ค. เป็นต้นไป หนึ่งในร่างกฎหมาย ที่รอการพิจารณาของสภาฯ ซึ่งถูกจับตามอง ก็คือ"ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิด
การศึกษา .. ที่ท้าทายต่อ การเรียนรู้!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... ในทุกห้วงเวลาแห่งชีวิต สิ่งที่ควรคำนึงคือ “ความไม่ประมาท” ในการใช้ชีวิต เพื่อไม่ให้เป็นโทษภัย.. ที่นำไปสู่ความทุกข์แสนสาหัสในวงจรของความเป็น “สัตตาโน” ที่ย่นย่อเรียกว่า “สัตว์”
การประนอมข้อพิพาทจิตอาสา ตอนที่ 1: A New Dawn Of Hope
การประนอมข้อพิพาทหรือการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ในภาษาอังกฤษนิยมเรียกว่า “Mediation” นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เกิดขึ้นมานานมากแล้วในบริบทสังคมโลกโดยเป็นกระบวนการที่มีผู้ประนอม หรือ ผู้ไกล่เกลี่ยเป็นคนกลาง และเป็นผู้มีความรู้ ประสบการณ์ ความเป็นอิสระ ปราศจากอคติหรือผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ
นราพัฒน์-ลงชิงเก้าอี้หน.ปชป. กับสถานการณ์ พรรคประชาธิปัตย์ หลัง 9ธ.ค. และโอกาสจับมือพรรคเพื่อไทย?
การประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)วันที่ 9 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อเลือก"หัวหน้าพรรคปชป."คนใหม่ รวมถึงกรรมการบริหารพรรคปชป.ชุดใหม่ อยู่ในความสนใจของแวดวงการเมืองไม่น้อย
การปฏิรูปการสอนธรรมในอินเดีย ณ นครปูเน่ ครั้งที่ ๑
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... มีคำกล่าวของผู้รู้ในเรื่องคุณค่าของ ศีลเพื่อชีวิต ไว้อย่างหนึ่งว่า