ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม : ทำอย่างไรให้การเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลเกิดได้จริงในภาคราชการ

ผมทำงานทางด้านการจัดการข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลในภาครัฐมาตลอดชีวิตตั้งแต่จบการศึกษา  ได้เห็นโครงการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เวียนตายเวียนเกิดเป็นวัฎสงสารนับครั้งไม่ถ้วนที่เมื่อของบประมาณดำเนินการครั้งใดก็ปรากฎคำว่า “บูรณาการข้อมูล” หรือ “เชื่อมโยงข้อมูล” หรือ “แลกเปลี่ยนข้อมูล” หรือ “ศูนย์ข้อมูล (เพื่อรวบรวม เผยแพร่และนำข้อมูลไปใช้งาน)” เกือบทุกโครงการ 

หากมีการทำแบบสำรวจหน่วยงานและบุคลากรภาครัฐด้วยคำถามว่า “ท่านมีความเห็นอย่างไร กับการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงาน ระหว่างฐานข้อมูล” รับรองได้ว่าเกือบ 100% จะตอบว่าเห็นดีเห็นงาม และเป็นเรื่องที่ควรดำเนินการอย่างยิ่ง

แม้กระนั้น การขอเชื่อมโยง แบ่งปัน แลกเปลี่ยน บูรณาการ กลับเป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญ ยังคงมีปัญหาการขอใช้งาน การขอเชื่อมโยง จนผู้ปฏิบัติเหน็ดเหนื่อย และ เอือมระอามาหลายยุคทุกสมัย

แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

คำตอบก็คือ มันยังมีพื้นฐานทางจิตวิทยาหรือบริบทสังคมองค์รวมของมนุษย์ที่เป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็งส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำอยู่  เช่น

1 ความรู้สึกอยากเป็นเจ้าของและหวงแหน คือ เมื่ออนุญาตให้ไปเชื่อมผ่านออนไลน์ง่ายสะดวก ย่อมขาดหายไปซึ่งการขออนุมัติอนุญาตงอนง้อขอใช้งาน และหน่วยงานเจ้าของข้อมูลต้นทางกลับกลายเป็นหน่วยหลังบ้าน ปิดทองหลังพระ คนที่ได้เครดิตคือหน่วยงานที่นำไปใช้ประโยชน์และนำเสนอผลงาน

2 การพิจารณาความดีความชอบที่ไม่ชัดเจนในระบบราชการ ว่าคนที่ขับเคลื่อนงานพวกนี้จะมีการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งอย่างไร สู้อยู่ไปแบบความชั่วไม่มีความดีไม่ปรากฏ รอทำงานตามข้อสั่งการจากเบื้องบนให้ดี ก็เพียงพอแล้ว

3 ความเสี่ยงต่อตนเองและหน่วยงาน เช่น หากมีการเผยแพร่ข้อมูลออกไปใช้งานในวงกว้าง อาจเกิดการพาดพิงถึงบุคคลหรือหน่วยงานได้ หรือ เมื่อข้อมูลจากคนละแหล่งมันไม่ตรงกัน หรือ มีการนำข้อมูลไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง หรือ ผู้ใช้ไม่เข้าใจที่มาที่ไปข้อจำกัดในการจัดทำข้อมูล  ซ้ำร้ายเมื่อมีความผิดพลาดขึ้นมา เช่น เปิดเผยแบ่งปันไปแล้วพบว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง ข้อมูลถูกแฮ็ก หรือ ส่งผลกระทบถึงบุคคลที่สาม เช่นนี้ ผู้ดำเนินการก็จะถูกทัวร์ลงความรับผิดชอบถาโถมมาหา

4 ภาระงานที่เพิ่มขึ้น คือ เมื่อต้องให้บริการข้อมูล ก็จะตามซึ่งการดูแลระบบฐานข้อมูลให้มีความมั่นคง ยั่งยืน พร้อมใช้ตลอดเวลา รวมถึงต้องปรับแปรุงและแก้ไขข้อผิดพลาดอย่างสม่ำเสมอ  ต่างจากการใช้อยู่คนเดียว ก็พอจะอะลุ่มอล่วยได้ง่ายกว่า

5 คนเปิดข้อมูลเหนื่อยแต่คนปิดสบาย คือ ผู้ที่ต้องการเชื่อมโยง เผยแพร่ หรือ แลกเปลี่ยน กลับเป็นฝ่ายที่ต้องหาเหตุผลมาสนับสนุน ต้องวิเคราะห์อธิบายความจำเป็น และ ต้องยืนยันว่าการให้บริการข้อมูลนั่นไม่มีความเสี่ยง หรือ ผลกระทบใด ๆ ต้องตรวจทานตรวจสอบถี่ถ้วนว่าไม่ละเมิดกฎหมายหรือระเบียบใด ๆ

เช่นนี้ จึงดูเหมือนเป็นอุปสรรคเสียเหลือเกิน !! แล้วจะแก้อย่างไร  จะให้ทำใจยอมรับสภาพ เช่นนั้นหรือ ?

ผมครุ่นคิดถึงวิธีแก้ปัญหานี้มายาวนาน ว่าจะมีวิธีการใดที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่ใช่ปลายเหตุ ปลายทาง ส่วนปลีกย่อย หรือ แก้เฉพาะกิจ เช่น ทำมาตรฐานข้อมูล ซื้อซอฟต์แวร์ พัฒนาระบบสารสนเทศ เข้าพบชี้แจงผู้มีอำนาจสั่งการ หรือ เจรจาลงนาม MoU

หลังจากทำงานที่สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) มาได้ 3 ปี จึงพบกับคำตอบ ซึ่งก็คือต้องผูกโยงการบูรณาการข้อมูลเข้ากับสิ่งที่จะเป็นแรงจูงใจที่เป็นเส้นเลือดใหญ่เป็นลมหายใจของหน่วยงานภาครัฐ  แรงจูงใจนี้ต้องเป็นแรงจูงใจยิ่งยวดโดยธรรมชาติ ไม่ใช่แค่แรงจูงใจอ่อน ๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น เพื่อประโยชน์จากการใช้งานข้อมูล เพื่อความสะดวก หรือ เพื่อตอบภารกิจ

แรงจูงใจยิ่งยวด นั่นก็คือ “งบประมาณ” เพราะงบประมาณ เป็นเหมือนเลือดหล่อเลี้ยงหน่วยงานภาครัฐ หากขาดงบประมาณย่อมไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้ จึงมีแรงขับสูงสุด

แล้ววิธีการใช้ประโยชน์จากแรงจูงใจนี้ล่ะเป็นอย่างไร ?

คำตอบคือ ให้กำหนดระเบียบเป็นเงื่อนไขว่า เมื่อหน่วยงานจะทำคำของบประมาณที่เกี่ยวกับโครงการด้านข้อมูลและสารสนเทศ ในเนื้อหาโครงการต้องกำหนดให้มีสิ่งส่งมอบสำคัญ คือ พัฒนาช่องทาง หรือ ระบบที่ให้บริการเชื่อมโยงแบ่งปันข้อมูลให้กับหน่วยงานอื่นภายนอก (หรือแม้แต่บริการภาคเอกชนในบางบริบท) ไปด้วยเลย  หากโครงการใดไม่บรรจุสิ่งส่งมอบนี้ลงไป ก็ขอพิจารณาจัดความสำคัญไว้ท้าย ๆ แนวทางหลักการเหล่านี้ต้องรับทราบและปฏิบัติในระดับคณะกรรมาธิการงบประมาณและสำนักงบประมาณด้วย

หมายเหตุ ทั้งนี้ เมื่อจะดำเนินการให้อาศัย มาตรา ๕ แห่ง พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ ที่ว่า “ให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอํานาจออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้”  แปลว่า นายกรัฐมนตรี หรือ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สามารถออกเป็นระเบียบเพิ่มเติมได้ถูกต้องตามกฎหมาย

ส่วนคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ถูกแต่งตั้งมาพิจารณาเห็นชอบงบประมาณโครงการของหน่วยงาน ก็เพียงเน้นดูเนื้อหาในส่วนสิ่งส่งมอบสำคัญนี้ ว่าอธิบายแจกแจงชัดเจน มีเหตุผล มีความจริงจัง มีประโยชน์มากน้อยเพียงใด จะช่วยลดภาระที่ต้องเข้าไปดูเนื้อหาส่วนอื่น ๆ ซึ่งมักมีรายละเอียดมากและซับซ้อน (อาจจะเป็นหลายร้อยหน้ากระดาษ) และต้องใช้ผู้ที่เข้าใจคลุกคลี คว่ำหวอดอยู่ในสายงานนั้น ๆ มายาวนาน

หากสามารถกำหนดระเบียบเพิ่มการเชื่อมโยงและบริการข้อมูลเป็นเงื่อนไขในการขอรับงบประมาณได้ ก็จะส่งผลให้โครงการที่ดำเนินการใหม่ สามารถให้บริการเชื่อมโยงข้อมูลได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งนานวันก็จะยิ่งมากขึ้น และหน่วยงานจะยินดี อุตสาหะ และจัดทำข้อมูลให้ดีมีคุณภาพ ใช้ประโยชน์ได้จริง (มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ) นับเป็นการแก้ไขปัญหาในระดับฐานรากที่สามารถส่งผลกระทบขึ้นไปยังเบื้องบนได้ถาวรยั่งยืน

เมื่อข้อมูลสามารถแบ่งปันใช้งานเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนได้สะดวกแล้ว หน่วยงานรัฐทั้งหมด ย่อมใช้งานได้โดยไม่ต้องจัดทำซ้ำซ้อน การลงทุนต่าง ๆ จะมีประสิทธิภาพเพราะต้องให้บริการจริงแก่คนนอก เป็นการตรวจสอบกันเองภายในระบบนิเวศโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการติดตาม หรือ ตั้งบประมาณขึ้นมาเพิ่มเติม (เช่น เบี้ยประชุม เบี้ยเดินทางตรวจงาน) เพื่อใช้สำหรับกิจกรรมตรวจสอบติดตามกันอีก 

ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม อีกต่อไป

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม (อนุญาตให้นำไปแก้ไขและปรับใช้ได้โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์)

แม่แบบ (Template) รายละเอียดและขอบเขตงานให้ระบบสารสนเทศสามารถให้บริการข้อมูลแก่ระบบอื่น ๆ ภายนอก (ร่างที่ 1.1) https://bit.ly/3PSt7E2

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
มนต์ศักดิ์  โซ่เจริญธรรม ที่ปรึกษาดิจิทัลอาวุโส สถาบันพัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัล สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดเผยข้อมูลด้วยไฟล์คอมพิวเตอร์ Word/Excel การปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ ที่ส่งผลใหญ่

โปรแกรม Microsoft Word/Excel เป็นโปรแกรมอยู่คู่งานภาครัฐไทยมาอย่างยาวนาน เพราะภาครัฐโดยธรรมชาติมักเต็มไปด้วยงานเอกสาร ตั้งแต่ งบประมาณ เอกสารจัดซื้อจัดจ้าง เอกสารรับรอง ใบอนุญาตต่าง ๆ

เคลื่อนร่าง 'อาเบะ' กลับโตเกียว มือปืนอ้างอดีตนายกฯเชื่อมโยงองค์กรลับ

ในช่วงเช้าของวันที่ 9 กรกฎาคม ได้มีการเครื่องร่างของนายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ออกจากโรงพยาบาลในเมืองคาชิฮาระ จังหวัด นารา ทางตะวันตกของญี่ปุ่น