วันต่อต้านคอร์รัปชัน (อยากให้มีวันนี้ทุกๆวันในประเทศไทย)

เมื่อวันที่  6 กันยายนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันประเทศไทย (Anti -Corruption Organization of Thailand หรือ “ACT”) และเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน โดยในปีนี้จัดขึ้นที่บริเวณสถานีรถไฟกลางบางซื่อ ที่ในปัจจุบันได้รับพระราชทานนามว่า “สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์” มีผู้เข้าร่วมงานหลายพันคน โดยในปีนี้ใช้ชื่องานว่า “What the Fact?” ซึ่งผู้จัดงานต้องการสื่อให้ทุกภาคส่วนทราบถึงแนวทางและวิธีการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการสืบค้นหาข้อมูล เป็นรายโครงการที่กระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนเทศบาล อบต.ต่างๆ มีการจัดซื้อจัดจ้างอะไรบ้าง มีบริษัทหรือห้างร้านใดเข้าประมูล มีการประมูลหรือการคัดเลือกด้วยวิธีใด มีราคากลางเท่าไหร่และใครเป็นผู้ชนะการประกวดราคาหรือเข้ามาเป็นคู่สัญญากับภาครัฐ และมีการกำหนดคุณสมบัติหรือข้อกำหนดเฉพาะ (Term of Reference หรือ “TOR”) ไว้อย่างไร ซึ่งชุดเครื่องมือนี้มีชื่อว่า“ACT Ai” 

ขออธิบายอย่างง่ายว่า  Act  Ai ( สืบค้นรายละเอียดได้ที่ https://actai.co )  เป็น  Digital Platform หรือฐานข้อมูลที่มีการรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐให้สามารถเชื่อมโยงกับข้อมูลของการจดจัดตั้งนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งชุดข้อมูลทั้งสองเป็นข้อมูลเปิดที่เป็นสาธารณะอยู่แล้ว แต่ในอดีตยังไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน แต่เมื่อเรามี ACT Ai ที่สามารถเข้าไปค้นหาข้อมูลนับเป็นล้านๆ ได้ตลอดเวลาจึงมีประโยชน์อย่างมากสำหรับประชาชน องค์กร แนวร่วมต่างๆ ในการค้นหาความจริงว่ามีโครงการใดที่มีพิรุธ ส่อทุจริต ก็สามารถแจ้งเบาะแสไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แบบ real time ซึ่งจะทำให้การป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในบ้านเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

ในวันดังกล่าวนี้ คณะผู้จัดฯ ได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มาร่วมงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ  โดยทาง ACT แล เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันก็ได้มีข้อเสนอให้กับรัฐบาลชุดใหม่รวม 5 ข้อ ดังนี้

1. กำหนดให้การปราบปรามคอร์รัปชันเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนทุกภาคส่วน มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน พร้อมมี War Room เพื่อการทำงานอย่างทันเหตุการณ์

2. สนับสนุนให้ ป.ป.ช. สตง. และ ป.ป.ท. ทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เป็นกลาง มีเอกภาพออกจากรัฐบาล

3. เร่งรัดการออกกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันที่ค้างคาอยู่ เช่น กฎหมายข้อมูลสาธารณะในความครอบครองของรัฐ กฎหมายปกป้องผู้เปิดโปงคอร์รัปชัน หรือกฎหมายป้องกันการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นต้น

4.    ทุกหน่วยงานต้องพร้อมเปิดเผยข้อมูล นับจาก TOR ไปจนถึงสัญญาต่าง ๆ ในรูปแบบที่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ตามมาตรฐานสากลได้อย่างโปร่งใสและถูกต้อง

5.   แก้ไขกฎระเบียบราชการต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลปัญหาคอร์รัปชัน และเมื่อพบกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ให้ติดตามแก้ไขลงโทษในทันทีอย่าประวิงเวลาจนประชาชนลืม

เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ ข้อเสนอทั้ง 5 ข้อข้างต้นไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลเท่าใดนัก เพราะเมื่อมีการแถลงนโยบายของรัฐบาล ในเวลาต่อมาปรากฏว่าเรื่องการปราบโกงนี้ไม่ได้ถูกระบุให้เป็นวาระแห่งชาติหรือวาระเร่งด่วนแต่ประการใดแม้ว่าฝ่ายค้านจะได้สะกิดและหยิบยกประเด็นการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นมาอภิปรายก็ไม่เป็นผลให้เห็นการตื่นตัวตอบรับของรัฐบาลสู่สายตาประชาชน

หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่าทำไมจึงเลือกวันที่ 6 กันยาของทุกปีเป็นวันต่อต้านคอร์รัปชัน ขอเฉลยเป็นวันที่คุณดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานหอการค้าไทย และเป็นผู้จุดชนวนสร้างการตื่นรู้เพื่อการรวมตัวของภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นกว่าสิบปีมาแล้วท่านได้ถึงแก่กรรมลงเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2554 ดังนั้นทุกวันที่ 6 กันยายนของทุกๆ ปี จึงเป็นวันที่ระลึกถึงคุณงามความดีของท่านและถือเป็นวันที่ทุกภาคส่วนจะได้มารวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และในปีนี้ได้มีการรวมตัวแสดงจุดยืนกันอย่างล้นหลามตั้งแต่เช้ามืด มีกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการอภิปรายจากตัวแทนสตรี ทั้งนักข่าว นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางสังคม และผู้ประกอบการในหลากหลายมุมมองและความคิด

หากแต่ถ้าวันที่ 6 กันยายนเป็นทุกๆ วัน ทุกๆ สัปดาห์ที่ประชาชนไม่วางเฉย ไม่ทนต่อการเห็นความไม่สุจริตใดๆแล้ว น่าเชื่อว่าประเทศชาติจะสามารถควบคุมการทุจริตคอร์รัปชันให้อยู่ในวงจำกัดได้ แต่ก็คงเป็นได้แค่การสร้างมโนภาพของยูโทเปียเท่านั้น จริงหรือไม่ ประชาชนทุกคนไม่ใช่รัฐบาลคือผู้จะให้คำตอบได้ดีที่สุด

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ สําหรับ
เทวัญ อุทัยวัฒน์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิด10ปี68นักการเมืองโกง

"องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน" รวบรวมข้อมูล นักการเมืองโกงในรอบ 10 ปี พบ 61 คดี นักการเมืองกระทำผิด 68 คน

เปิดข้อมูล 10 ปี คดีโกง 'จำนำข้าว' นำโด่งสร้างความเสียหายสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) รวบรวมข้อมูลคดีคอร์รัปชันของนักการเมืองในรอบ 10 ปี พบ 61 คดี และมีนักการเมืองกระทำผิด 68 คนซึ่งมีลักษณะการกระทำความผิด 10 แบบทั้งจากพรรคใหญ่

ยื่นอุทธรณ์เพื่อกลั่นแกล้ง ปัญหาใหม่การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

ภาครัฐต้องสร้างมาตรฐานในการปฏิบัติหน้าที่ ใช้อำนาจตรงไปตรงมา มีกลไกเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสให้ทุกคนเข้าถึงและตรวจสอบย้อนหลังได้โดยง่าย

'บิ๊กตู่' ปลุกคนไทยต้านโกง ลั่นไม่ให้มีทุจริตเชิงนโยบายเด็ดขาด

นายกฯ ปลุกคนไทยต้านโกง ต้องไม่ยอมให้พลังความดีความถูกต้อง พ่ายแพ้อำนาจฝ่ายต่ำ ลั่นไม่ให้มีทุจริตเชิงนโยบายเด็ดขาด ทำแผ่นดินนี้เป็นสีขาว