สู้ดิวะ : จากอาจารย์ป๋วย ถึงหมอกฤตไท

อุดมการณ์นั้นมีค่าควรแก่การต่อสู้ แม้มองไม่เห็นชัยชนะ

            อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนไว้ในคำไว้อาลัยแด่คุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร เมื่อ พ.ศ. 2517 ในบรรยากาศกระแสประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

            ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว – มิถุนายน 2516 อาจารย์ป๋วยได้รับเชิญไปประชุมที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADAG) ของสมาคมเอเชีย (Asia Society) ท่านจึงได้เขียนบทความขนาดยาวเรื่อง “ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับ ค.ศ. 1980” ขึ้น และเน้นว่า ความต้องการของปัจเจกชน คือ “อยู่ดีกินดี”

            ท้ายบทความขนาดยาวดังกล่าว อาจารย์ป๋วยเขียนภาคผนวกสั้นๆ ในชื่อว่า “การอยู่ดีกินดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน)” และมีวรรคหนึ่งว่า

            “ผมจำเป็นต้องมีอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ

            หลังจากนั้น ท่านได้แก้ไขเพิ่มเติมภาคผนวกดังกล่าว และมีข้อความอีกวรรคหนึ่งด้วยว่า

            “เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ ๆ อย่างบ้า ๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”  

            ข้อความเหล่านี้ได้รับการกล่าวขานถึงอีกครั้งในช่วงวิกฤตมลพิษทางอากาศ PM2.5 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดในภาคเหนืออย่างเช่น เชียงใหม่ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพราะคุณภาพของชีวิตขั้นพื้นฐานที่อาจารย์ป๋วยเสนอไว้เมื่อ 50 ปีก่อนนั้น ยังคงไม่ได้รับการเหลียวแล

            เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดงาน “BOT Symposium 2023: คน” เนื่องในวาระ 50 ปี บทประพันธ์ชิ้นดังกล่าวของอาจารย์ป๋วย ได้มีการเปิดเผยข้อมูลว่า มูลค่าความเสียหายจากมลพิษฝุ่นคิดเป็นกว่า 2 ล้านล้านบาท หรือกว่า 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP)

            รวมถึงเสนอทางออกไว้ว่า การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนจำเป็นต้องแก้ทั้งระบบ กล่าวคือ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการแก้ไขปัญหา เปลี่ยนแปลงตั้งแต่วิธีคิดและโครงสร้างที่ทำให้เกิดปัญหาขึ้น โดยตระหนักว่า สิทธิในสิ่งแวดล้อม รวมถึงอากาศสะอาด เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ส่วนในแง่มุมของกฎหมาย ปัจจุบันมีการร่าง “พระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …” ซึ่งมีฐานคิดสำคัญที่ทำให้บุคคลป้องกันตนได้ด้วยการใช้สิทธิในอากาศสะอาด เมื่อถูกกระทบสิทธิตามที่กฎหมายรองรับไว้

            มลพิษทางอากาศอย่าง PM 2.5 ไม่เพียงความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลเท่านั้น ยังส่งต่อสุขภาพของบุคคลในสังคมไทย และประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกไม่น้อย

            นายแพทย์กฤตไท ธนสมบัติกุล เป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว

            ปลายปี 2565 หมอกฤตไทเปิดเผยว่า ตนเองในวัย 28 ปี ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำศูนย์ระบาดวิทยาคลินิกและสถิติศาสตร์คลินิก ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ป่วยเป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย  

          อนาคตที่สดใสของชายหนุ่มคนหนึ่งกำลังจะจบลงก่อนวัยอันควร เรื่องนี้จึงสร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนในสังคมไทยจำนวนมาก

            ในประเด็นมลพิษทางอากาศ หมอกฤตไทตั้งข้อสังเกตว่า “ผมไม่ได้บอกว่าฝุ่นควันในเชียงใหม่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ผมกลายเป็นมะเร็งปอด เพราะก็มีคนอื่นที่สูดฝุ่นเหมือนกัน การเกิดมะเร็งในปอดผมมันเกิดจากหลายปัจจัยรวมๆ กัน โดยเฉพาะตัวหลักคือกรรมพันธุ์ของครอบครัวผม

แต่กรรมพันธุ์มันก็เหมือนกับลูกโม่ที่อยู่ในปืนแหละครับ ส่วนสิ่งแวดล้อมที่เราเจอมันก็เหมือนคนลั่นไกปืนนั้น เราเปลี่ยนพันธุกรรมและสายเลือดเราไม่ได้ก็จริง แต่เราน่าจะจัดการกับสิ่งแวดล้อมได้นะครับ เพราะผมเองก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่า เรื่องฝุ่นควันนี่แหละที่เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มโอกาสการเกิดมะเร็งปอดครับ

            เพจ สู้ดิวะ ที่หมอกฤตไทเปิดขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องอาการเจ็บป่วยและทัศนะต่อการใช้ชีวิตนั้น กลายเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคน หนังสือ สู้ดิวะ ของคุณหมอกลายเป็นหนังสือขายดีที่ต้องพิมพ์ซ้ำหลายครั้งตั้งแต่งานหนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา

            “สู้ดิวะ” เป็นคำสั้นๆ ที่สะท้อนตัวตนของหมอกฤตไทได้เป็นอย่างดี ในช่วงเวลาที่เหลืออย่างจำกัดของชีวิต แม้ต้องรักษาพยาบาลต่อสู้กับโรคร้ายอยู่ตลอด แต่ข้อความที่สื่อสารออกไปนั้น ล้วนส่งพลังบวก และเตือนให้ทุกคนตระหนักถึงความไม่แน่นอนของชีวิต และที่สำคัญ ก็คือ คุณภาพชีวิตของพวกเราทุกคน โดยเฉพาะอากาศที่สะอาด บริสุทธิ์

            เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หมอกฤตไทโพสต์ข้อความว่า “ผมคงอยู่ได้อีกไม่นานแล้วครับ … ผมน่าจะไปช่วงกลางเดือนหน้า

            ชีวิตของคนๆ หนึ่งกำลังจะจบลง ถึงจะเป็นชีวิตที่ไม่นานนัก แต่ก็เป็นชีวิตที่มีคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจ ให้อนุสติ และอาจจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยตามมา

            เมื่อ 50 ปีก่อน อาจารย์ป๋วยังได้เขียนบทความเป็นอนุสรณ์ถึงวีรชน 14 ตุลาคม 2516 ในชื่อ “เสียชีพ อย่าเสียสิ้น” และมีข้อความชวนคิดอย่างจับใจว่า

            “เมื่อได้เสียเลือดเนื้อและหยาดเหงื่อหยาดน้ำตาไปถึงเพียงนี้แล้ว เมื่อได้รับความบาดเจ็บทั้งทางจิตใจและร่างกาย ตลอดจนชีวิตแล้ว จะทำอย่างไรให้ผลงานที่เพิ่งได้นั้นเป็นประโยชน์แก่ชาติไทยอย่างกว้างขวางและยั่งยืน ถ้าความชอบธรรมในชีวิตและสวัสดิสุขตกแก่คนไทยเราทั่วถึงและถาวรจริงๆ ผลที่ได้นั้นย่อมเป็นอนุสาวรีย์อันแท้จริงแห่งวีรกรรมของพวกคุณ

และลงท้ายว่า “เมื่อวีรกรรมเกิดขึ้นและวีรยุวชนต้องสละชีวิตและเลือดเนื้อแล้ว อย่าให้เขาต้องเสียชีพแล้วเสียสิ้นทุกอย่างเลย

แม้ปัจจุบันนี้จะยังไม่มีแนวทางในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น PM 2.5 อย่างเป็นรูปธรรม แต่เรื่องราวชีวิตอันน่าสะเทือนใจของหมอกฤตไทนั้น น่าจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่ชวนให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมกันผลักดันเรื่องอากาศสะอาดเป็นวาระเร่งด่วน ก่อนที่ในต้นปี 2567 ปัญหา PM 2.5 จะกลับมาอีกครั้ง แล้วก็ผ่านไปอย่างเดิม วนเวียนแบบนี้ไปไม่รู้จบ

การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน มลพิษทางอากาศนั้นก็มีค่าควรแก่การต่อสู้ แม้มองไม่เห็นชัยชนะ

คอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ

กษิดิศ อนันทนาธร

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอชูชัย' ยกเหตุสูญเสีย 'หมอกฤตไท' จี้รัฐบาลนำร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด เข้าสภา

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เจ้าของรางวัลผู้นำสาธารณสุข 2022 มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบและกลไกประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ( Health Impact Assessment หรือ HIA) กล่าวแสดงความอาลัยต่อการจากไปจากของคุณหมอกฤตไท

แห่ส่งกำลังใจแน่น หลัง 'คุณหมอกฤตไท' เพจสู้ดิวะ แจ้งว่าจะอยู่ได้อีกไม่นาน 

หมอกฤตไท ธนสมบัติกุล อายุ 29 ปี เจ้าของเพจสู้ดิวะ ผู้เล่าอุทาหรณ์ประชาชนหลังพบป่วยเป็นมะเร็งปอดโดยไม่รู้ตัว

ฉลอง 100 ปี คุณหญิงจันทนี สันตะบุตร

านกาญจนาภิเษกเป็นหน่วยราชการในสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ที่มีภารกิจแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยาเยาวชนหลังคำพิพากษา โดยเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้าไปบริหารองค์กรร่วมกับภาคราชการในลักษณะสถานควบคุม “ระบบเปิด” หรืออาจกล่าวได้อย่างง่ายว่า ที่นี่คือบ้านทดแทนชั่วคราวของวัยรุ่นที่ก้าวพลาด ไม่ใช่ “คุก”