..หายนะจักไม่สิ้นไปจากโลก... !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา เริ่มเข้าสู่กาลเวลา .. ตามสมมติของโลกวิถี ที่บัญญัติให้เป็นปีใหม่ เมื่อโลกเดินทางไปตามเส้นแบ่งแห่งเวลา.. จนบรรจบครบ ๓๖๕ วันที่นับเป็นหนึ่งปี.. การมีเวลาเป็นนิมิต.. เพื่อจะได้มั่นคงในธรรมคติที่สรุปให้เห็นจริงในความเป็นธรรมดา.. ว่า “ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้อยู่ภายใต้กฎธรรมชาติ.. ต้องเคลื่อนไหวแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย.. หาความเป็นตัวตน บุคคล สัตว์สิ่งของในที่สุด .. มิได้เลย...”

ดังปรากฏอาการ ๓ อย่างเป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ได้แก่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และสูญสิ้นไป.. ในทุกขณะของการเคลื่อนไหวไปบนสะพานแห่งเวลา ที่ใช้วัดระยะทางของชีวิตที่ดำเนินไปตาม กระแสแห่งกิเลส .. กระแสโลก!

บนเส้นทางแห่งชีวิต เราจึงมักจะเกรงกลัวการสูญเสีย ไม่สมหวัง.. ไม่สมปรารถนา.. ในสิ่งพึงประสงค์.. หรือที่รักใคร่ชอบใจ.. หรือเรามักจะกลัวต่อสิ่งที่ต้องประสบ.. ต้องพานพบในสิ่งที่ไม่ประสงค์.. รัก.. ไม่ชอบใจ..

การเคลื่อนไหวของวิถีชีวิต.. แห่งสัตว์ทั้งหลาย จึงดำเนินอยู่กับความชอบใจ.. ความไม่ชอบ ให้แปรเป็นแรงผลักดัน.. ให้โลกขับเคลื่อนไปตามวิถีของความรัก-ความชัง..

วิถีชีวิต.. วิถีโลก.. สู่วิถีของความรัก-ชัง จึงดำเนินร่วมกันไปอย่างสัมพันธ์กัน.. แม้สัตว์ทั้งหลายจะไม่เข้าใจในความเป็นธรรมดาของโลก...

ความไม่เข้าใจ.. อันเกิดจากความรู้ผิด.. ความเห็นผิด.. จึงน้อมโน้มจิตให้นึกคิดปรุงแต่งไปตามวิถีจิต.. ที่ประกอบอยู่ด้วยกิเลส.. อันเป็นมูลของ อวิชชา ทำให้เกิดภาวะวิปลาสขึ้น...

ความวิปลาสของจิต.. จึงพยายามสร้างโลกอื่นตามทิฏฐิที่ก่อเกิดขึ้นในจิตนั้น.. ที่มีสภาพความวิปลาสเดียวกัน...

ความวิปลาส.. จึงนำไปสู่ความวิบัติ.. ที่ไม่อำนวยให้เกิดการกระทำที่ถูกต้อง เช่น.. คติวิบัติ คือสถานที่และสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม ไม่เกื้อกูล

..อุปธิวิบัติ คือ บุคลิกภาพบกพร่อง ร่างกายพิการ อ่อนแอ.. หรือเกิดในกำเนิดต่ำ ที่เกิดไร้ความเจริญ

..กาลวิบัติ คือ กาลเวลาที่ไม่เอื้ออำนวย ไม่เหมาะสมต่อการกระทำ ทำให้ไม่ถูกจังหวะ ไม่เหมาะสมต่อการกระทำนั้นๆ .. หรือเป็นช่วงบ้านเมืองสังคมมีแต่ภัยพิบัติ.. เสื่อมจากศีลธรรม

..ปโยควิบัติ คือ เรื่องที่ทำบกพร่อง กิจการเสีย ..ในช่วงยาว หมายถึง ฝักใฝ่ในทางที่ผิด ประกอบกิจการงานที่ผิด.. มีปกติชอบทำแต่ความชั่ว

แม้จะทำความดี ก็ทำอย่างไม่ใส่ใจ ไม่สนใจในกิจอันควร ใช้วิธีไม่เหมาะกับเรื่อง ทำงานจับจด..

เมื่อเหนื่อยนัก ก็ละทิ้งเสียจากการกระทำความดีนั้น.. หันกลับไปสู่ความชั่วเหมือนเดิม..

วิบัติทั้ง ๔ ประการ.. เป็นผลจากการกระทำของจิตวิปลาส.. ที่มีสัญญาและทิฏฐิวิปลาส อันเป็นไปตามหลัก กรรมนิยาม ที่จัดความสัมพันธ์กับนิยามต่างๆ เช่น อุตุนิยาม.. พีชนิยาม.. จิตนิยาม ที่ควบคุม ธรรมนิยาม

หากสืบค้นหาความเป็นจริงว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดภาวะ จิตวิปลาส จนนำไปสู่การคิด พูด ทำ ที่เป็นอกุศล.. จนก่อเกิดความวิบัติ.. เป็นผลตอบแทน.. ก็ต้องสรุปรวมลงที่ มิจฉาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นที่ผิดไปจากธรรม.. จึงเกิดขึ้น เพราะ อโยนิโสมนสิการ

อโยนิโสมนสิการ มาจากบาลี ๓ คำ ได้แก่ อโยนิโส (โดยไม่แยบคาย) .. มนสิ (ในใจ) .. การ (กระทำ) จึงแปลโดยรวมว่า ไม่กระทำในใจโดยแยบคาย หรือการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคาย ดังเช่นพฤติกรรม-พฤติจิตของพวกคิดเร็ว.. เชื่อเร็ว.. พูดมาก.. ฟังน้อย.. สนใจที่จะพูด แต่ไม่สนใจที่จะสดับตรับฟัง..

อโยนิโสมนสิการ .. เกิดจาก อกุศลจิต ที่มีการใส่ใจไม่ดี

การใส่ใจด้วยดี .. หรือ การใส่ใจไม่ดี .. จึงเป็นเรื่องใหญ่.. ปัญหาใหญ่ของหมู่ชนในยุคสังคมไอที ที่มักจะน้อมโน้มความรู้สึกนึกคิดไปในอาการที่ชอบใจ.. ไม่ชอบใจ จน ขาดความใส่ใจด้วยดี.. จึงไม่แปลกที่สังคมยุคสมัยวัตถุนิยมเป็นพระเจ้าของชาวโลก จะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง รกรุงรังไปด้วยเรื่องราวไร้สาระ.. จนยากจะทำการพิจารณาโดยแยบคาย (กระทำไว้ในใจโดยแยบคาย)...

เมื่อคนในสังคมขาดความใส่ใจ.. ไม่รู้จักการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย.. จึงยากจะเข้าใจในโลก.. ยากจะเข้าใจในทุกสรรพสิ่งที่เคลื่อนไหวไปตามวิถีโลก ที่ควบคุมโดยกฎธรรมชาติ...

ความรู้สึก กับ ความจริง.. จึงอยู่ตรงข้ามกันเสมอ.. ภาวะจิตวิปลาสแห่งหมู่ชนจึงมีความย้อนแย้งในทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อสำคัญมั่นหมายว่า นี่เป็นของเรา.. นี่เป็นเรา.. นี่เป็นตัวตนของเรา!!

ความบรรลัยของสัตว์โลก.. จึงเกิดขึ้นในฉับพลันทันใด.. ในทุกขณะจิตที่ขับเคลื่อนไปด้วย ทิฏฐิ ดังกล่าว.. ที่แสดงความเป็น ทิฏฐิวิปลาส.. ซึ่งปรากฏเกิดขึ้นมากในหมู่สัตว์โลกยุคใหม่ที่บูชาไอทีเป็นพระเจ้า...

จึงไม่แปลก.. หากบุคคลในสังคม.. จะมีความเห็นต่างกันอย่างสุดโต่ง...

จึงไม่แปลก.. หากบุคคลในสังคม.. จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย สร้างความแตกแยกขึ้นในสังคม...

จึงไม่แปลก.. หากบุคคลในสังคม.. จากทุกฐานะ จะแสดงออกอย่างจงใจ.. เปิดเผย.. ไม่ปิดบัง แม้สิ่งนั้นจะชั่วช้าเลวทราม...

จึงไม่แปลก.. หากบุคคลส่วนใหญ่ในสังคม.. จะดำเนินชีวิตไปตามทิศทางที่ชอบใจ อย่างขาดความใส่ใจ ใคร่ครวญ แม้เพียงชั้นเหตุผลทางโลก

จึงไม่แปลก.. หากได้เห็นบุคคลในสังคม.. กำลังสร้างโลกยุคใหม่ในมุมมองของความคิด.. ในมิติของความเห็นที่วิปลาสไปจากธรรม

จึงไม่แปลก.. หากได้เห็นบุคคลส่วนใหญ่.. ขาดความเกรงกลัวต่อบาป.. ละอายต่อบาปกรรม...

จึงไม่แปลก.. หากบุคคลในสังคม.. จะมีจิตใจที่เต็มไปด้วย โลภะ.. โทสะ.. โมหะ

จึงไม่แปลก.. หากบุคคลในสังคม.. จะขาดความศรัทธาในศาสนา.. ไม่เชื่อมั่นในคุณความดี..

จึงไม่แปลก.. หากบุคคลในสังคม.. เกลื่อนกล่นไปด้วยพวกอกตัญญู.. ไม่รู้คุณ.. มิหนำซ้ำยังบังอาจฮึกเหิมติเตียนคุณ.. ผู้มีคุณ...

จึงไม่แปลก.. หากเห็นบุคคลในสังคม.. เป็นโรคสมาธิสั้น (ขาดสติกันมากขึ้น)... มีพฤติกรรมเป็นพาลชน

ทุกอย่างไม่มีอะไรแปลกเลย ในสิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้น.. ในโลกยุคใหม่ ที่ชนรุ่นใหม่ละทิ้งสัจธรรม.. ความเป็นจริงแห่งชีวิต.. ขาดการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจ-เข้าถึงในกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ..

ปัญหาทุกปัญหา จึงเกิดขึ้น เพิ่มพูนทับถมทวีคูณ จนยกระดับเป็นมวลปัญหา.. ที่ผูกพันกัน จนยากจะรู้ต้นรู้ปลายในแต่ละปัญหา.. ให้ยากต่อการสะสางแก้ไข.. แม้จะตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆ ด้วยเพราะขาดความใส่ใจด้วยดีในเรื่องราวนั้นๆ...

การมองโลก.. อย่างผิดเพี้ยนไปจากความจริง.. การยึดถือโลกในทรรศนะของตนเอง.. เพื่อสนองตอบทิฏฐิวิปลาสนั้น.. จึงก่อเกิดเป็นภัยร้ายอันยิ่งใหญ่ต่อสังคมมนุษยชาติ... ดังปรากฏในร่องเวลาที่ผ่านมา

ความไม่เข้าใจในความเป็นจริงของโลก ไม่ว่าขั้นสภาวะ.. หรือขั้นปรมัตถ์.. จึงนำไปสู่ปัญหาของสัตว์โลกในทุกสมัยอย่างแท้จริง.. แม้ในปัจจุบันจะมีพระพุทธศาสนาแสดงแจกแจงความเป็นธรรมดาของโลกไว้อย่างชัดเจน.. ถูกต้องตรงความเป็นธรรมดาของโลก อันเป็นสัจธรรม.. ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ที่ไม่มีใครคัดง้างได้..

ดังที่ พระพุทธองค์ ทรงแสดงไว้ในความเป็นลักษณะธรรมดาของโลกว่า...

- โลกอันชรานำไปไม่ยั่งยืน (ภัยแห่งความแก่)

- โลกไม่มีผู้ต้านทาน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน (ความเป็นอนัตตา)            

- โลกไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป (เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย)

- โลกพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา (ตัณหาเป็นตาข่ายครอบคลุมโลก)      

หลักธรรมทั้ง ๔ ข้อดังกล่าว เรียกว่า ธัมมุทเทส ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ จึงเป็นหลักธรรมสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจในสภาวะของโลก.. เพื่อหมู่สัตว์ผู้ประสงค์นิรทุกข์ จะได้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท.. โดยรู้จักใส่ใจในการฟังธรรม.. ศึกษาปฏิบัติธรรม ที่จะนำไปสู่การมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามธรรม.. เพื่อการไม่วิปลาสจากธรรม.. จะได้ตระหนักรู้.. ตื่นรู้ ในภัยจากวัฏสงสาร เพื่อจะได้หาทางออกมาจากวัฏสงสาร.. ด้วยปัญญาอันประเสริฐ ที่จะเกิดปรากฏเมื่อรู้จักใส่ใจโดยแยบคาย ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ!.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต

บนเส้นทางมหาปรินิพพาน “มัชฌิมาปฏิปทา สู่ อัปปมาทธรรม”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนา.. บนเส้นทางมหาปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมสมัย มีปรากฏร่องรอยธรรมที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง

มาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร ชมพูทวีป (พ.ศ.๒๕๖๗)

เจริญพรศรัทธาสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาระหว่าง ๒๒-๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ได้เดินทางไปประกอบศาสนกิจอันสำคัญยิ่งในชมพูทวีป บนแผ่นดินเกิดพระพุทธศาสนา เนื่องใน วันมาฆบูชาโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันเสาร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็น “วันมาฆบูชาปูรณมี”

“มายาสาไถย..” ..ในสังคมปัจจุบัน!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ย่อมมีประโยชน์ ๓ ระดับ ได้แก่