เจาะแพ็กเกจ แก้รธน. พริษฐ์ พรรคประชาชน กับด่านสำคัญที่รออยู่

..พรรคประชาชนมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ดังนั้นผมคิดว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่แต่ละฝ่ายทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองในส่วนของส.ส.หรือจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็อาจเห็นชอบกับบางร่างฯ หรือไม่เห็นชอบกับบางร่างฯ ที่พรรคเสนอ ในฐานะที่เราเป็นผู้เสนอหลายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็คงต้องนำเสนอหลักการและเหตุผลของทุกร่างฯ ให้รอบด้าน ตอบทุกข้อสงสัยให้ได้ และหวังว่า สมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว. จะเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของเรา ให้ได้มากที่สุด

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในเดือนตุลาคม ดูเหมือนจะคลายความร้อนแรงทางการเมืองไปพอสมควร  หลัง"พรรคเพื่อไทย"ที่เสนอร่างแก้ไขรธน.รายมาตราต่อรัฐสภาไปแล้ว ปรากฏว่า ล่าสุดแสดงท่าทีถอย-ไม่เดินหน้าผลักดันการแก้ไขรธน.ดังกล่าว หลังพรรคร่วมรัฐบาล-สมาชิกวุฒิสภา รวมถึงกระแสสังคมบางส่วนสะท้อนว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.ดังกล่าวของเพื่อไทย โดยเฉพาะที่ไปแตะเรื่อง"มาตรฐานจริยธรรม"

ขณะเดียวกัน "พรรคประชาชน"พรรคแกนนำฝ่ายค้าน ที่เสนอร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่สองที่เป็นเรื่อง “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ” ที่มีประเด็นคาบเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ล่าสุด พรรคประชาชน เห็นว่า เพื่อให้การแก้ไขรธน.รายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชน จึงแสดงท่าทีไว้ว่า พร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรธน. เรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่พรรคประชาชน ยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรธน.รายมาตราอีก 6 แพ็กเกจที่แถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชนไปเมื่อ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา

สำหรับการเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราของพรรคประชาชน มีรายละเอียด-หลักการและเหตุผลอย่างไร โดยเฉพาะในแพ็กเกจที่สองเรื่อง“ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ”ซึ่งแม้พรรคประชาชน จะแสดงท่าที พักการเดินหน้าร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวไว้ก่อน แต่หลักการ-เหตุผลในการเสนอร่างดังกล่าว ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย ดังนั้น เพื่อให้เข้าใจหลักการ-เหตุผล และที่มาที่ไปในการเสนอร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวว่าเป็นมาอย่างไร เราจึงสัมภาษณ์พูดคุยกับ          "พริษฐ์ วัชรสินธุ-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน"ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญของพรรคประชาชน ในการทำงานเรื่องการแก้ไขรธน. มาตลอดตั้งแต่ยุคพรรคก้าวไกล

โดย”พริษฐ์” กล่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จุดยืนของพรรคประชาชนที่มีมาตั้งแต่พรรคก้าวไกล เป็นจุดยืนที่คงเส้นคงวามาโดยตลอด คือเรายืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่ใช้ปัจจุบันเป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา เรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งที่มาของรัฐธรรมนูญ-กระบวนการและเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ โดยเรายืนยันมาตลอดว่าทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องรัฐธรรมนูญต้องมีการเดินหน้าแบบสองเส้นทางคู่ขนาน

เส้นทางที่หนึ่ง คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ที่เรามองว่า การให้มีความชอบธรรมมากที่สุด ก็ควรรต้องถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

ส่วนเส้นทางที่สอง ที่เราเห็นว่าต้องเดินแบบคู่ขนานควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่ทดแทนกันแต่เดินแบบคู่ขนานกันคือ"การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา" ในประเด็นที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วน เหตุผลก็เพราะเราเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามเส้นทางแรก อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 ปีขึ้นไป

ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา อาจทำให้ปัญหาบางประการทางการเมืองได้รับการแก้ไขไปพลางก่อนในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

หากเราเจาะลึกลงไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ความจริงพรรคประชาชนเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในหลายประเด็นที่เราเรียกกันว่าแพ็กเกจ โดยตอนนี้พรรคประชาชนได้ยื่นไปแล้วสองแพ็กเกจ และจะมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในแพ็กเกจอื่นๆ เพิ่มเติมเข้าไป เพราะการประชุมร่วมรัฐสภาได้ถูกขยับการประชุมออกไปจากเดิมจะประชุม 25 ก.ย.ที่ผ่านมาไปเป็นช่วงเดือนตุลาคม เราจึงจะมีการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในแพ็กเกจอื่นเพิ่มเติมเข้าไป

ร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา แพ็กเกจที่หนึ่ง เราเรียกว่า ร่างแก้ไขรธน.ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งมีการยื่นแก้ไขรธน.ดังกล่าวไปเมื่อ 25 ก.ค.2567 หลังสว.ชุดปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยเหตุผลที่เรายื่นร่างแก้ไขรธน.ดังกล่าวเป็นแพ็กเกจแรก เพราะเราเห็นว่าการป้องกันการรัฐประหารน่าจะเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายทางการเมือง ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์แนวคิด-นโยบายแบบใด ก็น่าจะเห็นตรงกันได้

ร่างแก้ไขรธน.แพ็คเกจแรก แบ่งออกเป็นสามร่างแก้ไขรธน. โดยร่างแรก เป็นการให้ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คสช. เพื่อคืนอำนาจในการกำหนดนโยบายไปที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ,ร่างแก้ไขรธน.ร่างที่สอง คือการรยกเลิกรธน.มาตรา 279 ที่อยู่ในบทเฉพาะกาลของรธน.ปี 2560 ที่ทำให้ทุกคำสั่ง-ประกาศ คสช. มันชอบด้วยกฎหมายและรธน. แม้อาจจะมีบางคำสั่งคสช.ที่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ดังนั้นการยกเลิกมาตรา 279 จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้เสียหายจากประกาศและคำสั่งคสช. มีโอกาสในการโต้แย้งถึงความชอบด้วยกฎหมายของประกาศและคำสั่งคสช.หากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจริง

ส่วนร่างที่สาม เป็นการ"เพิ่มหมวดในรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่"เพื่อเติมพลังในการป้องกันการทำรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ของประชาชนทั่วไป รวมถึงสิทธิและหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่วางแผนจะยึดอำนาจจากประชาชน รวมไปถึงการเพิ่มความรับผิดชอบของทุกสถาบันทางการเมืองในการร่วมกันปฏิเสธการทำรัฐประหาร อย่างเช่นการห้ามไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลทั้งปวง รับรองการทำรัฐประหาร

เปิดเหตุผล ทำไมต้องแก้รธน. ตีกรอบอำนาจศาลรธน.-องค์กรอิสระ

"พริษฐ์"กล่าวต่อไปว่า สำหรับร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่สอง เป็นเรื่อง การตีกรอบอำนาจของศาลรธน. และองค์กรอิสระ เพราะเราสังเกตุเห็นว่ารธน.ปี 2560 ได้มีการขยายอำนาจของศาลรธน.และองค์กรอิสระ หลายประการ ขณะที่กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรธน.และองค์กรอิสระ หลายคนตั้งคำถามว่าเป็นกระบวนการที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าา จะได้บุคคลไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริง เพราะใครก็ตามที่จะไปนั่งทำหน้าที่เป็นตุลาการศาลรธน.และในองค์กรอิสระต่างๆ จะต้องถูกรับรองโดยสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งช่วงที่ผ่านมาเป็นสว. 250 คนที่ถูกแต่งตั้งรับรองโดยคสช.ที่ต่อมากลายเป็นผู้เล่นทางการเมือง

...พูดง่ายๆ รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ออกแบบระบบที่ทำให้ ผู้เล่นทางการเมืองกลุ่มหนึ่งสามารถมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาเป็นกรรมการตัดสินได้ เปรียบง่ายๆ เหมือนกับเกมฟุตบอล ที่มีการแข่งขันกันสองทีม แต่มีการให้ทีมหนึ่งสามารถมีส่วนเกี่ยวข้องในการคัดเลือกกรรมการที่จะมาตัดสินการแข่งขันฟุตบอลนัดดังกล่าวได้ ที่ทำให้ประชาชนหรือคนดูที่มองเข้ามา อาจจะตั้งคำถามได้ว่ากรรมการคนดังกล่าวจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางกับทุกทีมได้จริงหรือไม่

"ดังนั้นเราจึงมองว่ากระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ยังเป็นปัญหา จึงควรมีการตีกรอบอำนาจ ไม่ให้มีการขยายขอบเขตอำนาจมากจนเกินไป"

จึงมีการเสนอร่างแก้ไขรธน.สองร่างฯ โดยร่างแก้ไขรธน.ร่างที่หนึ่งเป็นการแก้ไขรธน.เพื่อยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องจริยธรรมไว้กับศาลรธน.และองค์กรอิสระ ส่วนร่างที่สอง ไม่ใช่การเสนอแก้ไขรธน.แต่เป็นการแก้ไขพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฯ เพื่อปลดล็อกให้พรรคการเมืองสามารถเกิดง่าย -อยู่ได้ แต่ตายยาก และมีความยึดโยงกับประชาชน ที่จะคาบเกี่ยวกับเรื่องอำนาจของศาลรธน.ในการยุบพรรคการเมือง

และนอกจากร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา ทั้งสองแพ็กเกจดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการยื่นร่างแก้ไขรธน.รายมาตราที่เป็นแพ็กเกจเพิ่มเติม โดยแพ็กเกจที่สาม เป็นการเพิ่มกลไกการตรวจสอบการทุจริต ที่เป็นการป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับคณะกรรมการป.ป.ช. รวมถึงการยกระดับการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ ให้มีความโปร่งใสเพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้อย่างเข้มข้นขึ้น และร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่สี่ ที่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ที่จะเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา -สาธารณสุข -สิทธิชุมชน สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสมอภาคทางเพศ เป็นต้น และร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจที่ห้า ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปกองทัพ เช่นการยกเลิกการบังคับการเกณฑ์ทหารและจำกัดขอบเขตอำนาจศาลทหาร ส่วนร่างแก้ไขรธน.แพ็กเกจสุดท้าย ที่เป็นแพ็กเกจที่หก จะเป็นการปรับเงื่อนไขการแก้ไขรธน.ที่จะคาบเกี่ยวกับมาตรา 256 ของรธน.ฉบับปัจจุบัน

"พริษฐ์-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน"กล่าวลงรายละเอียด ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในแพ็กเกจที่สอง ว่า ในแพ็กเกจที่สอง ร่างที่หนึ่ง เราใช้ว่า เป็นร่างแก้ไขรธน.เพื่อยุติการผูกขาดเรื่องจริยธรรม ซึ่งต้องขอขีดเส้นใต้ย้ำว่า เราเห็นว่านักการเมืองต้องมีจริยธรรม เราไม่ได้มองว่านักการเมืองไม่ควรมีจริยธรรม แต่เรามองว่ากลไกเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่อยู่ในรธน.ปี 2560 อาจไม่สามารถแก้ไขได้ และอาจสร้างปัญหาใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา

..ต้องบอกว่าในมุมมองของพรรคประชาชน เรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นเรื่อง subjective หรือเรื่องนามธรรม ที่ต่างคนต่างตีความ ต่างนิยามไม่เหมือนกัน แต่รธน.กลับไปให้ศาลรธน.และองค์กรอิสระ มีอำนาจผูกขาดในการนิยามว่ามาตรฐานจริยธรรม แปลว่าอะไร และบังคับใช้กับทุกองค์กร รวมถึงมีบทบาทหลักในการวินิจฉัยและไต่สวนว่าใครฝ่าฝืนมาตราฐานจริยธรรมหรือไม่

 ดังนั้น ในภาพรวมเราเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มีการให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีอำนาจผูกขาดในการไต่ส่วนและวินิจฉัย แต่ในเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีกระบวนการได้มาซึ่งไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า จะนำไปสู่การปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้จริง การผูกขาดอำนาจเรื่องจริยธรรมไว้กับองค์กรเหล่านี้ มันจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การตีความทางกฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน อาจนำไปสู่การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม ไม่เสมอภาค มีความเสี่ยงจะนำไปสู่การใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ และการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง อันนี้คือปัญหาที่เรามอง

ยกเคสเปรียบเทียบ ปมจริยธรรมฯ  กับการตั้งรมต.ยุคบิ๊กตู่-แพทองธาร

"พริษฐ์-ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน"กล่าวโดยยกตัวอย่างขึ้นมาอธิบายว่า หากเราดูตัวอย่างการตั้งคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา เราจะเห็นได้ว่ากลไกเรื่องจริยธรรม มีปัญหาอย่างไร

.... ผมยกตัวอย่างการตั้งอดีตรมต.คนหนึ่ง เราจะเห็นปัญหาสองระดับ ปัญหาที่หนึ่ง เราจะเห็นได้ว่า สังคมมองว่ามาตรฐานจริยธรรมในปัจจุบัน อาจมีการบังคับใช้อย่างไม่เสมอภาค หรือไม่ได้ด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพราะเราจะเห็นได้ว่ามีอดีตรมต.คนหนึ่งที่มาถึงวันนี้ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ไม่กล้าตั้งเพราะกลัวจะขัดมาตรฐานจริยธรรม แต่ว่าอดีตรมต.คนดังกล่าว หากย้อนกลับไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายกฯพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับตั้งให้เป็นรมต. ได้โดยไม่มีความลังเลใจ และไม่มีปัญหาใดๆตามมา ก็จะเห็นได้ว่า คนเดียวกัน นายกฯวันนี้ไม่กล้าตั้ง แต่นายกฯในอดีตตั้งเป็นรัฐมนตรีได้โดยไม่ลังเลและไม่มีปัญหาใดๆ

ปัญหาที่หนึ่ง เราเห็นชัดว่า สังคมมองเข้ามาจริงๆ ว่ามาตรฐานจริยธรรม มันอาจมีการบังคับใช้อย่างไม่เท่าเทียมกัน ส่วนปัญหาระดับที่สอง ต้องบอกว่า มาตรฐานจริยธรรม ที่ใช้ปัจจุบัน อาจไม่ได้ทำให้การเมืองโปร่งใสขึ้นอย่างแท้จริง เพราะแม้มาตรฐานจริยธรรมปัจจุบัน อาจทำให้นักการเมืองบางคน ที่สังคมตั้งคำถามไม่สามารถเข้าไปดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีได้ แต่นักการเมืองดังกล่าว ก็ได้ตั้งตัวแทนจากครอบครัวหรือเครือข่ายตนเองเข้าไปทำหน้าที่แทนได้อยู่ดี

...ดังนั้น แม้ประชาชนบางส่วนอาจตั้งคำถามกับนักการเมืองบางคนที่ไม่ได้อยู่ในครม. แต่คนเหล่านั้นท้ายสุดก็ตั้งตัวแทนเข้าไปอยู่ในครม.ได้อยู่ดี ก็จะเห็นได้ว่ามาตรฐานจริยธรรมปัจจุบัน นอกจากถูกมองว่าไม่ได้บังคับใช้อย่างเป็นธรรม อย่างเสมอภาค ก็ยังไม่ได้มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาเรื่องจริยธรรม ตามที่สังคมบางฝ่ายต้องการอยู่ดี อันนี้คือตัวอย่างรูปธรรมของปัญหา

สำหรับการแก้ไข  แยกเป็นสี่ส่วน โดยส่วนที่หนึ่ง คือ เราต้องการแยกกลไกการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมกับกลไกการตรวจสอบเรื่องทุจริตออกจากกัน อันนี้ต้องขอย้ำ เพราะบางคนอาจมองว่าที่จะแก้ไขเรื่องจริยธรรม แล้วจะมีการไปลบเรื่องมาตรการในการตรวจสอบการทุจริตหรือไม่ ก็ขอยืนยันว่าไม่ใช่ อันนี้ยืนยันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเราแยกเรื่องจริยธรรมออกมาจากเรื่องทุจริต เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างตีความไม่เหมือนกัน มันจึงควรเป็นความรับผิด-รับชอบทางการเมืองเป็นหลัก แต่หากเป็นเรื่องทุจริต เรามองว่ามีนิยามทางกฎหมายที่ชัดเจน ดังนั้น การมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้น และให้มีความรับผิด-รับชอบทางกฎหมาย เป็นสิ่งที่จึงควรคงไว้อยู่

"ดังนั้น ขอย้ำว่าเราไม่ได้ไปลดทอน กลไกการตรวจสอบเรื่องการทุจริตแต่อย่างใด เราแค่แยกเรื่องจริยธรรมออกจากเรื่องทุจริต และวางกลไกที่ไม่เหมือนกัน"

ประการที่สอง คือเรื่องจริยธรรม เราจะยกเลิกเรื่องการให้ศาลรธน.และองค์กรอิสระมีอำนาจผูกขาดในการนิยามมาตรฐานจริยธรรมที่บังคับใช้กับทุกองค์กร คือเราจะให้กำหนดให้แต่ละองค์กรนิยามมาตรฐานจริยธรรมของตัวเองที่สอดคล้องและเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร

ประการที่สาม พอแต่ละองค์กรมีมาตรฐานจริยธรรมของตัวเองแล้ว เราจะยกเลิกการให้ศาลรธน.และองค์กรอิสระ มีบทบาทหลักในการวินิจฉัยไต่สวน ว่าใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม โดยให้แต่ละองค์กรออกแบบกลไกการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมขององค์กรตัวเอง ที่แน่นอนเราสามารถยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในกฎหมายลำดับรองตามมา

ปรับปรุงกลไกตรวจสอบทุจริต ป้องกันการฮั้ว รัฐบาลกับป.ป.ช

พริษฐ์”กล่าวต่อไปว่า ส่วนประการที่สี่ ที่สำคัญมาก ที่คนอยากเห็นให้มีการปรับปรุงกลไกการตรวจสอบการทุจริต คือเราเสนอให้มีการปรับกลไกบางส่วนเพื่อป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับป.ป.ช. โดยจากที่กฎหมายปัจจุบันเขียนไว้ว่าหากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชนเข้าชื่อกันสองหมื่นคนเพื่อร้องเรียนว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ต้องยื่นไปที่ประธานรัฐสภา แล้วประธานรัฐสภา มีสิทธิ์ที่จะใช้ดุลยพินิจว่าควรมีการดำเนินการไต่สวนต่อไปหรือไม่

...ดังนั้น เราจึงมีความกังวลว่าหากรัฐบาลและป.ป.ช. หากมีการฮั้วกันไม่ให้ป.ป.ช.มาตรวจสอบทุจริตของนักการเมืองฝ่ายรัฐบาล นั่นหมายความว่า ประธานรัฐสภา ซึ่งอย่างที่เรารู้กันว่าก็จะเป็นนักการเมืองจากฝ่ายรัฐบาล ก็สามารถใช้อำนาจและดุลยพินิจที่ตัวเองมีในการปัดตกทุกข้อร้องเรียนที่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของป.ป.ช.ได้เลย

แนวทางการแก้ไขในเรื่องนี้ เราจึงเสนอให้มีการยกระดับประสิทธิภาพของกลไกในการร้องเรียนการทำงานของป.ป.ช.โดยตัดอำนาจและดุลยพินิจของประธานรัฐสภา ในการตัดสินใจว่าจะให้มีการไต่สวนหรือไม่ ออกไป พูดง่ายๆ ประธานรัฐสภาจะเป็นแค่ทางผ่าน ถ้าประชาชนยื่นเรื่องเข้าไป ประธานรัฐสภาต้องส่งทุกเรื่องไปที่ประธานศาลฎีกา เพื่อตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจในการปัดตกข้อร้องเรียนของประชาชนได้ ทั้งหมดคือหลักการหลักของร่างแก้ไขรธน.รายมาตราในร่างที่หนึ่งของแพ็กเกจที่สอง

-ร่างแก้ไขรธน.รายมาตรา ของพรรคประชาชน ในเรื่องมาตรฐานจริยธรรมของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นรมต.ตามรธน.มาตรา 160 (4) และ (5) ไปแตะหรือไม่ ยังมีอยู่หรือไม่?

ถ้าพูดในภาพรวม สาระสำคัญคือการยกเลิกการผูกขาดเรื่องจริยธรรมไว้กับศาลรธน.และองค์กรอิสระ

ดังนั้น แต่ว่าเราจะเสนอแบบคู่ขนานกับการยกเลิกการผูกขาดเรื่องจริยธรรมไว้กับศาลรธน.และองค์กรอิสระ เราจะมีการเสนอแพ็กเกจเพื่อยกเลิกระดับกลไกการตรวจสอบการทุจริตให้เข้มข้นขึ้น 

เป็นการเสนอร่างแก้ไขรธน.ที่พยายามจะตีกรอบอำนาจของศาลรธน.และองค์กรอิสระที่มีการขยายอำนาจขึ้นมาในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 และมีที่มาซึ่งประชาชนยังไม่เชื่อมั่น -รับประกันได้ว่าจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางจริง ดังนั้นเราต้องการตีกรอบอำนาจของศาลรธน.และองค์กรอิสระบางประการเพื่อป้องกันการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง

-มีเสียงวิจารณ์ว่า การแก้ไขรธน.รายมาตราที่จะมีการพิจารณากันในที่ประชุมรัฐสภาเดือนตุลาคม ดูเหมือนว่านักการเมือง พรรคการเมือง จะแก้ไขเพื่อตัวเอง แก้แล้วตัวเองได้ประโยชน์ เข้าสู่อำนาจรัฐง่ายขึ้นแต่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งยากขึ้น เกรงหรือไม่ว่ากระแสคนจะไม่เห็นด้วย?

ผมเข้าใจข้อกังวลของประชาชน ผมพูดแทนพรรคการเมืองอื่นไม่ได้ พรรคเดียวที่ผมพูดแทนได้คือพรรคประชาชน ผมยืนยันได้ว่า พรรคประชาชนและย้อนไปถึงสมัยพรรคก้าวไกล เราเข้าใจดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรมก็ดี หรือเรื่องอื่น เช่นเรื่องระบบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้ง มันย่อมส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองอยู่แล้ว เราเข้าใจตรงนี้ดี

ดังนั้นในฐานะที่เราเป็นนักการเมือง เราเข้าใจดีและตระหนักมาโดยตลอดว่าหากเราจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอะไร เราต้องดำเนินการอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงหลักการในการออกแบบระบบการเมืองในภาพรวมที่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศ ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ผลกระทบที่จะเกิดกับตัวเอง และผมยืนยันว่าอันนี้เป็นแนวทางการทำงานที่พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชนยึดถือมาตลอด คือเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างรอบคอบ คำนึงถึงหลักการในภาพรวมไม่ใช่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง

ดังนั้น ถ้าพูดอย่างเป็นรูปธรรมเลย สำหรับประเด็นเรื่องจริยธรรม เราก็ต้องยืนยันว่าที่เราเสนอ เพราะสอดคล้องกับหลักการในภาพรวมที่เราได้แสดงจุดยืนมาโดยตลอด

ผมขอตัวอย่างยกมาอธิบายสามตัวอย่าง  ซึ่งต้องบอกว่าผมพูดแทนพรรคการเมืองอื่นไม่ได้ แต่พรรคก้าวไกลจนมาถึงพรรคประชาชน เราเสนอประเด็นเรื่องจริยธรรม พร้อมกับการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกหลายประเด็นที่มีความเชื่อมโยงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ การเพิ่มกลไกการป้องกันการทุจริต การลบล้างผลพวงรัฐประหาร ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เราพูดมาโดยตลอด ไม่ใช่เพิ่งมาพูดเวลานี้   ผมจึงยืนยันว่า เราเสนอแก้ไขเรื่องจริยธรรมพร้อมกับอีกหลายเรื่องที่เราเสนอเข้าไปเพื่อออกแบบระบบการเมืองในภาพรวม ที่เราคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติที่สุด

ตัวอย่างที่สอง หากพูดถึงเรื่องจริยธรรมแบบเจาะจง ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ เราเคยมีการเสนอเข้าไปแล้วรอบหนึ่ง ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่ตอนนั้นเราใช้ชื่อว่า"รื้อระบอบประยุทธ์"โดยเป็นการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับภาคประชาชนหนึ่งแสนกว่ารายชื่อ ในช่วงปีพ.ศ. 2563-2564

โดยตอนนั้นมีการเสนอไว้หลายประเด็นเช่นการปรับระบบรัฐสภาจากสภาคู่มาเป็นสภาเดี่ยว -การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รวมไปถึง การเสนอให้ทบทวนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่คาบเกี่ยวกับเรื่องปัญหาจริยธรรมด้วย ดังนั้น เราเสนอเรื่องนี้มาตั้งแต่ 3-4 ปีที่แล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เราเพิ่งเสนอเข้ามา

ประการที่สาม ที่ผมเห็นว่าสำคัญและหลายคนยังไม่ได้พูดถึง คือเราเสนอเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ด้วยความเข้าใจดีว่าท้ายที่สุดแล้วแม้สมาชิกรัฐสภาจะเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจนผ่านสามวาระจากรัฐสภามา แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 256(8) ก็กำหนดไว้อยู่ดีว่าเรื่องนี้ยังไงต้องไปจบที่การทำประชามติกับประชาชน

ดังนั้นจึงเป็นอำนาจของประชาชนโดยตรงที่จะประเมินว่า เรื่องที่เราเสนอเป็นหลักการที่สมเหตุสมผลหรือไม่ ถ้าประชาชนหลังจากฟังคำอภิปรายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาแล้ว เห็นว่าเรื่องดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร ประชาชนก็สามารถไปออกเสียงลงคะแนนตอนทำประชามติว่าไม่เห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ แล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็จะไม่กลายมาเป็นบทบัญญัติทางกฎหมาย ดังนั้น เราเสนอเรื่องนี้ด้วยความเข้าใจอันดีว่า ยังไง ก็จะไปจบที่การทำประชามติ และประชาชนจะมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตัวเอง และเราก็พร้อมจะเคารพเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนตอนทำประชามติ

-การที่พรรคประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ คนก็ต้องมองว่า จะมีผลต่อรูปคดีที่ 44 อดีตส.ส.พรรคก้าวไกล ที่เคยร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่ตอนนี้ป.ป.ช.กำลังดำเนินการไต่สวนอยู่หรือไม่ คนอาจมีข้อสงสัยเรื่องนี้อยู่?

เรื่องนี้ผมเข้าใจ และขอแยกเป็นสองประเด็น โดยประเด็นแรก ผมคิดว่า คดีอดีตส.ส.ก้าวไกล 44 คน ก็ดำเนินการไปตามขั้นตอนตามกรอบเวลาที่เป็นไปตามกฎหมายปัจจุบัน ก็เดินต่อไปตามขั้นตอน และในฐานะพรรค เราพร้อมจะพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเราในทุกขั้นตอนที่เราได้รับโอกาส

ส่วนประการที่สอง หากใครสงสัยว่าเราเสนอเรื่องนี้ เพื่อประเด็นเรื่อง 44 ส.ส.ดังกล่าว หรือไม่ ต้องบอกอย่างที่ย้ำข้างต้นว่าความจริงเรื่องนี้ พรรคเราได้พูดมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนที่จะเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในสังคมปัจจุบัน เราเคยมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องนี้เข้ารัฐสภาไปแล้วด้วยซ้ำ ตั้งแต่ปี 2563-2564 ดังนั้น มันเป็นการเสนอประเด็นตามหลักการที่เราได้ยืนยันมาตลอด ไม่ได้เสนอประเด็นเพื่อเป็นปฏิกิริยาต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือคดีใดคดีหนึ่ง

ยืนยันได้ว่า ไม่เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยคิดว่าจะไปแก้แค้นใดๆ แต่เสนอบนพื้นฐานหลักการที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการเมืองในภาพรวม ...ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สอง สาระสำคัญคือการตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในกลั่นแกล้งกันทางการเมือง และไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ระบบการเมืองจะมีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรมมากขึ้น

ยันไม่ได้แก้แค้น-เอาคืน ศาลรธน.-องค์กรอิสระ

-แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สองที่บอกว่าตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญฯ ก็ย่อมมีการมองกันว่า พรรคประชาชนเคยมีปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญมาก่อนหน้านี้เพราะเคยถูกยุบพรรคมาตั้งแต่อนาคตใหม่ มาพรรคก้าวไกล ก็ย่อมถูกมองว่าเป็นการเอาคืนมาริบอำนาจศาลรธน.?

ยืนยันได้ว่า ไม่เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยคิดว่าจะไปแก้แค้นใดๆ ผมเสนอบนพื้นฐานหลักการที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการเมืองในภาพรวม

ถ้าพูดถึงเรื่องศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระ ตั้งแต่ที่เราเห็นที่มีการเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนจะมีพรรคอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกลด้วยซ้ำ ผมคิดว่าหลายฝ่ายก็เล็งเห็นถึงปัญหา 3 ประการด้วยกัน

ปัญหาที่หนึ่ง คือเราเห็นว่า ถ้าดูจากวิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ฉบับปีพ.ศ. 2540 มาปี 2550 และ รัฐธรรมนูญปี 2560 เราเห็นว่ามีการขยายขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจริงๆ เราอาจจะพูดกันมากเรื่องมาตรฐานจริยธรรมในเวลานี้ แต่อำนาจอื่นๆ ก็ถูกขยายเช่นกัน อาทิเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เห็นชัดเจนและเคยเกิดปัญหาขึ้นมาในอดีตก็คือเรื่องของ"ใบส้ม"ดังนั้น เราเห็นถึงการขยายขอบเขตอำนาจ

ปัญหาที่สอง คือเราเห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่งบุคลากรในองค์กรดังกล่าว อาจไม่สามารถรับประกันได้ว่า จะได้คนที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางจริง หากพูดแบบลงลึก กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ควรจะยึดสามหลักคือ ต้องเป็นกระบวนการที่ได้คนมาทำหน้าที่อย่างหลากหลาย คือหลากหลายความคิด หลากหลายความเชี่ยวชาญ สอง คือควรจะมีกระบวนการที่มีความยึดโยงกับประชาชน แม้จะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ก็ควรผ่านกลไกที่มีความยึดโยงกับประชาชน และสาม คือควรได้คนซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้

ผมเห็นว่ากระบวนการปัจจุบันที่ทำให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ไม่ได้ผ่านสามหลักเกณฑ์ข้างต้นเลย อย่างในเรื่องความหลากหลาย จะเห็นได้ว่ามีความหลากหลายค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ที่พบว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 มีการกำหนดให้องค์กรอิสระ มีบทบาทในการคัดเลือกบุคคลหรือสรรหาคนในองค์กรอิสระด้วยกันเอง ก็คือ ผลัดกันเกาหลัง อย่างสรรหา กกต.ก็ให้องค์กรอิสระอื่นสรรหา หรือสรรหา ป.ป.ช. ก็ให้องค์กรอิสระอื่นสรรหา เป็นต้น

... อีกทั้งไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะอย่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็ผ่านการรับรองจากสว. แต่สว.ยุคดังกล่าวมาจากการเลือกตั้ง แต่มารอบนี้ สว.ชุดปัจจุบัน แม้จะผ่านบทเฉพาะกาลมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รวมถึง เรื่องการรับประกันคนที่มาปฏิบัติหน้าที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ ก็มีปัญหาเช่นกัน เพราะอย่างตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ปัจจุบัน ก็ผ่านการรับรองจากสว. 250 คน (สว.ชุดที่ผ่านมา) ที่เราก็รู้ว่า ถูกแต่งตั้งทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผู้เล่นทางการเมืองฝ่ายเดียว ที่สมัยนั้นเรียกว่า คสช. อย่างนี้ เป็นต้น

และประการสุดท้าย คือกลไกการตรวจสอบถ่วงดุล-ถอดถอน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ คือเราเข้าใจว่า องค์กรเหล่านี้มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบฝ่ายอื่น แต่เรามองว่าองค์กรเหล่านี้ก็ควรถูกตรวจสอบได้เช่นกัน ที่จะเห็นว่า จากรัฐธรรมนูญปี 2540 มา รัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2560 กลไกการเข้าชื่อถอดถอน ไม่ว่าจะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ไม่ใช่ป.ป.ช. ก็ตาม ได้หายไปในรัฐธรรมนูญปี 2560

ผมจึงคิดว่า ปัญหาทั้งสามประการดังกล่าว เป็นปัญหาที่มีมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 จะมีผลบังคับใช้ ก่อนจะมีเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ กับพรรคก้าวไกลด้วยซ้ำ ทั้งเรื่องขอบเขตอำนาจ-เรื่องที่มา ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ และกลไกตรวจสอบ ถ่วงดุล ถอดถอนที่หายไป

"ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สอง สาระสำคัญคือการตีกรอบอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เพื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในกลั่นแกล้งกันทางการเมือง และไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงในการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากเราสามารถแก้ปัญหานี้ได้สำเร็จ ระบบการเมืองก็จะมีเสถียรภาพ มีความเป็นธรรมมากขึ้น" 

-คาดหวังกับการโหวตของสว.มากน้อยแค่ไหน หลังมีการมองกันว่าสว.ส่วนใหญ่เป็นสว.สีน้ำเงิน ซึ่งหัวหน้าพรรคการเมืองบางพรรคในรัฐบาลบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน. ตรงนี้หากมีการส่งสัญญาณไป คิดว่าสว.จะโหวตให้หรือไม่?

พรรคประชาชนมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น ดังนั้นผมคิดว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่แต่ละฝ่ายทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองในส่วนของส.ส.หรือจะเป็นสมาชิกวุฒิสภา ก็อาจเห็นชอบกับบางร่างแก้ไขรธน. หรือไม่เห็นชอบกับบางร่างแก้ไขรธน.ที่พรรคเสนอ ในฐานะที่เราเป็นผู้เสนอหลายร่างแก้ไขรธน. ก็คงต้องนำเสนอหลักการและเหตุผลของทุกร่างฯ ให้รอบด้าน ตอบทุกข้อสงสัยให้ได้ และหวังว่า สมาชิกรัฐสภา ทั้งส.ส.และสว. จะเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของเรา ให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ยังไม่อยากด่วนสรุปว่าใครจะลงมติเช่นใด กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างไหน เพราะมีเสนอหลายร่าง แต่ผมคิดว่าสิ่งที่เราโฟกัสตอนนี้ คือทำอย่างไรให้เราอธิบายหลักการและเหตุผลของทุกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ทุกภาคส่วนทางการเมือง รวมถึงประชาชนนอกรัฐสภา เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของเรา

พักการผลักดันร่างแก้ไขรธน. เรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา “พริษฐ์-ส.ส.พรรคประชาชน”ได้แถลงข่าวรายละเอียดการเสอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รวม 7 แพ็กเกจ ต่อสื่อมวลชนที่รัฐสภา

ซึ่งในส่วนของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแพ็กเกจที่สอง เรื่อง “ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ”นั้น “พริษฐ์”แถลงไว้ว่า ถึงแม้เรื่องมาตรฐานจริยธรรมจะเป็นประเด็นที่หลายพรรคเคยยอมรับว่าเป็นปัญหา รวมถึงเคยมีการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ แต่ในวันนี้เป็นที่ชัดเจนแล้ว ว่าทุกพรรคตัดสินใจว่าจะยังไม่เดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว ณ เวลานี้ ดังนั้น พรรคประชาชน ยังมีความจำเป็นต้องอธิบายและยืนยันต่อสังคมว่าทำไมจึงควรจะยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ แต่ในอีกมุมหนึ่ง เราไม่อยากให้ร่างดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เดินหน้าพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราฉบับอื่นๆ

“หากพรรคร่วมรัฐบาลยืนยันดังกล่าว เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราได้เดินหน้าต่อ พรรคประชาชนพร้อมจะพักการผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะสามารถทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมได้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่พรรค ประชาชนยืนยันจะเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีก 6 แพ็กเกจ โดยหวังว่าพรรคการเมืองจะไม่ได้มองเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราจำกัดอยู่แค่ประเด็นเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และจะเห็นตรงกับเราในการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราคู่ขนานกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”(26 ก.ย.)

โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ประเสริฐ' โว 'ทักษิณ' เดินสายช่วยหาเสียงนายก อบจ. หวังชนะทุกพื้นที่

นายประเสริฐ จันทรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเลือกตั้งนายก อบจ. หลังนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

'แพทองธาร' นำประชุมใหญ่สามัญเพื่อไทย 19 พ.ย. ยังไม่ปรับโครงสร้างพรรค

พรรคเพื่อไทย (พท.) มีกำหนดการจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 พรรค พท. เพื่อรับรองผลการดำเนินงานของพรรค ตามกฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ไม่เลิก MOU 44 ได้สอง-เสียสาม !

คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ

พฤศจิกายน ศาลรธน. รับคำร้องคดี ทักษิณ-พท. ล้มล้างการปกครองฯ

ความคืบหน้าคำร้องคดีสำคัญทางการเมือง กรณีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยสั่งการให้นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกร้องที่ 1

ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ ยลมหานครโคมโลก !

ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง