การปรับตัวเปลี่ยนแปลงอีกครั้งของสังคมระยอง!!!

ระยองมีบทเรียน....ที่ติดตรึงเป็นความทรงจำอันเลวร้าย จากช่วงเวลาการเปลี่ยนประเทศสู่การเป็นอุตสาหกรรมเมื่อต้นทศวรรษ พ.ศ.2530 เป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยียังไม่ก้าวหน้าและอุตสาหกรรมไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนัก กระบวนการเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นกับผู้คนในระยองและภาคตะวันออกบางส่วน จึงเผชิญปัญหามลพิษ ปัญหาสุขภาพ และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมรุนแรง!

ขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้เบียดขับผู้คนท้องถิ่น ที่เคยมีส่วนร่วมในใจกลางเศรษฐกิจท้องถิ่น ให้กลายเป็น “คนชายขอบ” ไร้ความหมายไป! การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมยุคนั้นทำลายฐานสังคมเศรษฐกิจ พื้นที่ของชีวิต เปลี่ยนทะเลและธรรมชาติที่บริสุทธิ์ร่มรื่น-อุดมสมบูรณ์กลายเป็นพื้นที่แปดเปื้อนมลพิษ คุณภาพชีวิตตกต่ำย่ำแย่! เมืองเกษตรกรรมชายทะเลระยอง กลายเป็นตำนานการทำลายสิ่งแวดล้อม-คุณภาพชีวิต ผุดเรื่องราวการต่อต้าน-ต่อสู้กับการเข้ามาของเศรษฐกิจสังคมใหม่หลากรูปแบบ มีผลรวมที่บันทึกเป็นความสูญเสียมากมายในการเปลี่ยนผ่านครั้งกระนั้น!

ต่อมาการปรับตัวเปลี่ยนแปลงเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้คนและชุมชนค่อยๆ ปรับตัวอยู่ร่วมกันระหว่างท้องถิ่นพื้นบ้านเกษตรกรรม ในความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมมาตลอด ผ่านกาลเวลามาถึงวันนี้บาดแผลของระยองค่อยๆ ลบเลือน ผู้คนปรับตัวรับความเคยชินก้าวไปกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เมื่อเผชิญปัญหาขึ้น ก็มีพัฒนาการในการจัดการปัญหาแก้ไขปัญหาและเยียวยาดูแลไปตามแต่กรณีที่เกิดขึ้น แต่คงต้องไม่ลืมว่าความทรงจำเก่าๆ ช่วงทศวรรษ พ.ศ.2530 ถึง 2550 ที่ผ่านมา ยังฝังความทุกข์เจ็บปวดไม่น้อยทีเดียว แม้กาลเวลาผ่านเลยไปนานแล้วก็ตาม!

โชคดีที่เมื่อต้นทศวรรษ พ.ศ.2560 จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ได้รับการประกาศต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบเดิมเข้าสู่โลกอุตสาหกรรม-การลงทุนยุคใหม่ในโครงการอีอีซี หรือเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการที่มุ่งยกระดับความก้าวหน้าใหม่ให้ประเทศมีศักยภาพที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ ด้วยการส่งเสริมการลงทุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมยุค 4.0 ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความก้าวหน้าจากนวัตกรรม เทคโนโลยี และการสื่อสารยุคใหม่ มีการลงทุน-การประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรแบบทำลายล้าง พูดง่ายๆ ว่าเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสะอาดมีประสิทธิภาพสูง มีศักยภาพในการแข่งขันที่ไม่ก่อมลภาวะ และไม่บริโภคทรัพยากรในการผลิตและบริการอย่างบ้าคลั่งเฉกเช่นโลกของอุตสาหกรรมเก่า รวมทั้งความก้าวหน้าของการสื่อสารที่เข้าสู่สังคมดิจิทัลที่เกิดขึ้น นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่าย-ลดการบริโภคทรัพยากรแล้ว ยังช่วยปรับสร้างความเสมอภาคเท่าเทียมและพัฒนาคุณภาพชีวิตในสังคมด้วย เรียกว่าความก้าวหน้าใหม่เกือบทุกมิติที่เกิดขึ้นจากเศรษฐกิจการลงทุนในโครงการนี้ สร้างผลรวมการพัฒนาที่มีคุณค่าต่อผู้คนทุกชีวิตในสังคม สร้างความก้าวหน้าให้ประโยชน์แบบถ้วนทั่วกับสังคมเศรษฐกิจจากท้องถิ่นจนไปถึงระดับโลกในตัวมันเอง หากมีการปรับสร้างฐานการผลิตและบริการสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามเป้าหมายที่วางไว้!

อย่างไรก็ดี การทำงานยุคใหม่ต้องสื่อสารกับผู้คน-ชาวบ้านในทุกท้องถิ่น ให้รับรู้มีความเข้าใจ พร้อมที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปด้วยกัน การดำเนินโครงการต่างๆ ต้องเข้าใจถึงมิติของถิ่นฐานการก่อตัว-แตกตัว-และเติบโตสู่ความเจริญที่ขยายกว้างออก ต้องชัดเจนในปฏิสัมพันธ์ความร่วมมือกับท้องถิ่น ต้องเชื่อมประสานสร้างความเข้าใจที่ไม่ก่อความรู้สึกแบบ “เฝ้าระวังคนภายนอก” จากคนในชุมชน

ความเชื่อถือไว้วางใจ (TRUST) ของผู้ลงทุน-ประกอบการกับคนในท้องถิ่นนั้นสำคัญมาก ถ้าเปิดประตูความเข้าใจ-ความเชื่อถือไว้วางใจได้ ความร่วมมือ-ร่วมใจก็จะเกิด นี่คือหลักสำคัญของการเข้าถึงและการทำงานกับชุมชน ที่เป็นกระบวนการทำงานที่สร้างเสริมความเสมอภาคเท่าเทียม นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย! โครงการดีๆ หลายโครงการต้องล้มไป-เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะขาดการสร้างความเข้าใจกับผู้คนในชุมชน มีความเคลื่อนไหวที่ปกปิด-ไม่เปิดกว้าง ปล่อยให้ผู้คน-สังคมท้องถิ่นจินตนาการกันไปต่างๆ นานา จากบาดแผลที่เคยประสบมา จนก่อรูปเป็นกระแสต่อต้านและล้มพับไปในที่สุด นี่คือความเสียหายมหาศาลจากความมักง่าย มองไม่เห็นหัวคนท้องถิ่นของพวกมักง่ายหูเบา-คับแคบ-ตาดูดาว เท้าไม่ติดดิน!!!

วันนี้ทะเลระยองก็ต้องเผชิญวิกฤตเข้าอีก จากบริษัท สตาร์ ปิโตเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC) กรณีที่ทำให้น้ำมันดิบราวสี่แสนลิตรรั่วลงสู่ทะเลและชายฝั่งทะเลระยอง! จนต้องใช้ผู้คนและหน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน กองทัพ และอาสาสมัคระดมกู้วิกฤตครั้งนี้มานานกว่าสัปดาห์แล้ว ล่าสุดองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง-ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนของจังหวัด ร่วมทวงถามความรับผิดชอบและมาตรการเยียวยาจากบริษัท สตาร์ ปิโตเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (SPRC)  พร้อมกับกระตุ้นให้เร่งแก้ปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรง-ทางอ้อม รวมทั้งเร่งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด และเร่งสร้างความเชื่อมั่นคืนให้ท้องถิ่นโดยเร็วที่สุด นี่ก็เป็นความบอบช้ำอีกกรณีหนึ่ง ที่เกิดจากโลกของการประกอบการยุคเก่า ที่คงต้องเร่งปรับเปลี่ยนระบบใหม่ให้ก้าวหน้าทันโลก ไม่เป็นผู้ก่อมลพิษส่งผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมในกระแสความก้าวหน้าของยุคสมัย!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“มิจฉาธรรม .. ในอสัตบุรุษที่น่ากลัวยิ่ง”

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา สงกรานต์ร้อนที่เข้าสู่จุลศักราช ๑๓๘๖ เถลิงศกตรงกับ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗ นับว่าร้อนแล้ง ตรงกับคำพยากรณ์ที่พร้อมเกิดพายุร้อนได้ในทุกพื้นที่ เป็นการแสดงสภาวะผันผวนที่เนื่องมาจากวิกฤตร้อนของโลก (Climate Change) ที่หลายฝ่ายเฝ้าสังเกตการณ์ด้วยความเป็นห่วงว่า มนุษยชาติจะผ่านวิกฤตโลกร้อนไปได้หรือไม่..

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า น้อมถวายเป็นพระราชกุศลฯ

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ในห้วงเวลาที่อากาศร้อนจัด จนเข้าสู่วิกฤตการณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานของประเทศ

สู่.. โครงการพระคืนสู่ป่า.. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๗!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในภาวะที่เข้าสู่วิกฤตการณ์โลกร้อน.. ด้วยภาวะการเปลี่ยนแปลงแบบผิดเพี้ยนไปจากธรรมชาติปกติ (Climate Change) อันเป็นผลจากการกระทำของมนุษยชาติ ทั้งในทางตรงและทางอ้อม จึงได้ถือโอกาสคิดทำโครงการนำพระคืนสู่ป่า.. เพื่อศึกษาวงจรธรรมชาติของชีวิตที่เนื่องกับสิ่งแวดล้อม อันประกอบด้วยสรรพสิ่งต่างๆ ที่เกาะเกี่ยวเนื่องกันอย่างมีความสมดุล (Nature Cycle in Balance)

ลัทธิผีบุญ .. ภัยร้ายต่อพระศาสนา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ปัญหาของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังเจริญเติบโตมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การยึดถือคำสอนที่ผิดเพี้ยนไปจากพระสัทธรรมดั้งเดิม...

คุณค่าแท้–คุณค่าเทียม ที่ชาวพุทธควรคำนึง..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. คำว่า “วิกฤตศรัทธา” เริ่มมีการพูดถึงกันมากในห้วงเวลานี้ ด้วยเหตุปัจจัยในเรื่องนั้น ที่นำไปสู่ความสั่นคลอนในความเชื่อมั่น ที่เคยอบรมสั่งสมมานานในสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ บุคคลนั้นๆ.. ซึ่งนับเป็นเรื่องปกติของวิถีชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่พยายามหาที่ยึดเหนี่ยวทางจิตวิญญาณ

บูชาพระโอวาทปาติโมกข์ .. ณ เวฬุวันมหาวิหาร ปี พ.ศ.๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. กลับมาจาก งานมาฆบูชาโลก ที่เวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ พร้อมกับติดเชื้อเป็นของแถม ด้วยมีไวรัสแพร่ระบาดในหมู่คณะที่มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาสติดตามไปร่วมร้อยชีวิต