ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๑๕)

 

นายแฮโรลด์ เอน เดนนี ได้สัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่ และเขียนออกมาเป็นบทความเรื่อง “พระมหากษัตริย์ได้ทรงวางโครงการที่จะให้มีการออกเสียงลงคะแนนเพื่อทดลองประชาธิปไตย”  (https://www.nytimes.com/1931/04/28/archives/suffrage-for-siam-is-planned-by-king-to-test-democracy-fatherly.html) ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ฉบับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2474 

คำถามข้อแรกที่นายเดนนีตั้งขึ้นในการสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวคือ ขอให้พระองค์ทรงกล่าวถึงหลักการในการปกครองของพระองค์ จากมุมมองของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มุ่งให้เกิดความอยู่ดีกินดีของคนใต้ปกครองของพระองค์ (the welfare of his subjects)

พระองค์ทรงอธิบายว่า หลักการการปกครองของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่โบราณมาแตกต่างจากของตะวันตก  ด้วยหลักการปกครองของไทย “ตั้งแต่สมัยโบราณมา พระมหากษัตริย์สยามถือเป็นพ่อของราษฎร โดยหลังจากที่ผู้คนเป็นอิสระ (จากการปกครองของชนชาติอื่น/ผู้เขียน)   จึงเลือกที่จะเรียกตัวเองว่า ‘ไท’ ‘อิสระ’ (“Thai” “Free” ) และเลือกที่จะเรียกกษัตริย์ของพวกเขาว่า  ‘พ่อของประเทศ (Father of the country)’ ….พ่อเมือง (Po Muang)..ซึ่งเป็นแนวคิดในสยามที่ พระมหากษัตริย์คือพ่อของประชาชนของพระองค์ (the father of his people) และพระมหากษัตริย์จะปฏิบัติต่อประชาชนอย่างลูก….”   ในขณะที่หลักการการปกครองโดยพระมหากษัตริย์ของตะวันตกอิงอยู่กับคติการปกครองแบบเทวสิทธิ์ (divine right) ภายใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนา

จากการศึกษาประวัติความคิดทางการเมืองของอังกฤษ ผู้เสนอคติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกไว้ในศตวรรษที่สิบเจ็ด คือเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์ ในหนังสือชื่อ Patriarcha or the Natural Power of Kings (ปิตาธิปไตย หรือ อำนาจตามธรรมชาติของกษัตริย์)  (ผู้สนใจดูเพิ่มเติมได้ในตอนที่แล้ว) ในขณะที่คติการปกครองแบบพ่อปกครองลูกของไทยตามความเข้าใจของคนไทยทั่วไปเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง    ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับของไทยเรา จะพบว่า เรามีและใช้แนวการปกครองแบบพ่อปกครองลูกมาก่อนอังกฤษ  เพราะเซอร์โรเบิร์ต ฟิลเมอร์คิดทฤษฎีพ่อปกครองลูกในปี ค.ศ. 1680 หรือ ประมาณ พ.ศ. 2223 ซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา  แต่ของไทยเรามีตั้งแต่สมัยสุโขทัย นั่นคือราว พ.ศ. 1822-1841  ในสมัยของพ่อขุนรามคำแหงตามที่เข้าใจกัน

และที่ผ่านมา ผู้คน (รวมทั้งตัวผู้เขียนเอง) มักจะเข้าใจกันว่า คนแรกที่กล่าวว่า ในสมัยสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก คือ หลวงวิจิตรวาทการ

แต่จากบทสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2474  ข้างต้น จะเห็นว่า พระองค์ได้กล่าวถึงหลักการการปกครองแบบพ่อปกครองลูกไว้ก่อนหลวงวิจิตรวาทการ และถ้าหากสืบค้นต่อไปจะพบว่า ในหนังสือ “ลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณ”  ที่ตีพิมพ์ปาฐกถาของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงแสดงที่สามัคยาจารย์สมาคม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2470 มีข้อความตอนหนึ่งว่า

“5. ลักษณะการปกครองประเทศสยามชั้นสมัยดึกดำบรรพ์ เมื่อลาวยังเป็นใหญ่อยู่โดยลำพังก็ดี หรือในชั้นเมื่อมอญเข้ามามีอำนาจครอบงำก็ดี จะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าหาทราบไม่ เห็นเค้าเงื่อนปรากฎแต่ลักษณะการปกครองของขอมแลของไทย พอสังเกตได้ว่าวิธีการปกครองมาแต่คติต่างกัน คือ พวกขอมปกครองตามคติซึ่งได้มาจากชาวอินเดีย พวกไทยปกครองตามคติของไทยซึ่งพามาจากเมืองเดิม มิได้เอาอย่างชาวอินเดีย เรื่องตำนานการปกครองของขอมกับของไทยที่เอามาใช้ในประเทศสยามก็ต่างกัน คือเมื่อพวกขอมเข้ามามีอำนาจในประเทศสยามนั้น มิได้ปกครองทั่วทั้งประเทศ ข้อนี้พึงสังเกตได้ด้วยโบราณวัตถุอันเป็นแบบอย่างช่างขอมสร้าง  มีปรากฎขึ้นไปฝ่ายเหนือเพียงเมืองสวรรคโลกเท่านั้น เหนือนั้นขึ้นไปหามีไม่ คงเป็นเพราะตอนข้างเหนือพวกอื่นยังปกครองเป็นประเทศราชขึ้นต่อขอม ในเรื่องตำนานโยนกก็ปรากฎว่าในสมัยเมื่อพวขอมเข้ามาครอบงำนั้นทางเมืองหริภุญชัย พวกมอญยังปกครอง ทางเหนือขึ้นไปตอนชายแม่น้ำโขง ยังมีเจ้าลลาวราชวงศ์ลาวจักราชครอบครองอยู่อีกช้านาน  ครั้นพวกไทยได้แดนลาวทางฝ่ายเหนือก็ปกครองตามจารีตประเพณีของไทยลงมาทางข้างเหนือ เพราะฉะนั้นในสมัยเมื่อไทยได้เป็นใหญ่ ณ เมืองสุโขทัย วิธีการปกครองประเทศสยามจึงมีอยู่เป็น 2  อย่าง เมืองทางฝ่ายเหนือปกครองตามประเพณีไทย เมืองทางฝ่ายใต้ปกครองตามประเพณีขอม ก็แต่ประเพณีการปกครองของขอมกับของไทยเหมือนกันอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเอาอาญาสิทธิ์ของพระเจ้าแผ่นดินเป็นหลักในการปกครอง มาผิดกันที่พวกขอมถือลัทธิตามชาวอินเดีย สมมตว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นพระโพธิสัตว์หรือเป็นพระอิศวรพระนารายณ์แบ่งภาคลงมาเลี้ยงโลก และอาสัยพราหมณ์เป็นเจ้าตำราการปกครอง  ลักษณะการที่พวกขอมปกครองราษฎรจึงคล้ายนายปกครองบ่าว ตรงกับคำภาษาอังกฤษซึ่งเรียกว่า Autocratic Government ส่วนวิธีการปกครองของไทยนั้น นับถือพระเจ้าแผ่นดินเช่นเป็นบิดาของประชาชนทั้งปวง วิธีการปกครองก็เอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น แต่ถือว่าบิดาเป็นผู้ปกครองครัวเรือน (คำว่า ‘พ่อครัว’ เดิมทีเดียวเห็นจะหมายความว่าเป็นผู้ปกครองครัวเรือน อันธรรมดาย่อมร่วมครัวไฟกัน ภายหลังมาจึงเข้าใจคำพ่อครัวกลายเป็นผู้ประกอบอาหาร)  หลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของ ‘พ่อบ้าน’ ผู้อยู่ในปกครองเรียกว่า ‘ลูกบ้าน’  หลายบ้านรวมเป็นเมือง ถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในปกครองของ ‘พ่อเมือง’  ถ้าเป็นประเทศราช เจ้าเมืองเป็น ‘ขุน’ หลายเมืองรวมเป็นประเทศอยู่ในปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน แต่โบราณเรียกว่า ‘พ่อขุน’  ข้าราชการตำแหน่งต่างๆได้นามว่า ‘ลูกขุน’ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าวิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตร หรือเรียกตามภาษาอังกฤษว่า Paternal Government ยังใช้เป็นหลักวิธีการปกครองประเทศสยามสืบมาจนทุกวันนี้……ข้อนี้พึงเห็นได้ในศิลาจารึกของพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ถ้อยคำเป็นภาษาไทยเกือบไม่มีอื่นปน พระเจ้าแผ่นดินก็วางพระองค์แต่เป็นอย่างบิดาของประชาชน เช่น ผูกกะดึงไว้ที่ประตูพระราชวัง ใครมีทุกข์ร้อนก็ให้ไปสั่นกะดึงร้องได้ทุกข์ได้ดังนี้...”

จากปาฐกถาในปี พ.ศ. 2470 ข้างต้นของ “กรมพระยาดำรงฯ” ทำให้สันนิษฐานได้ว่า น่าจะเป็นเนื้อหาเดียวกันกับที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอธิบายหลักการปกครองของประเทศให้แก่นายเดนนีในปี พ.ศ. 2474

ผู้เขียนมีข้อสังเกตคือ ศิลาจารึกที่ถูกล่าวถึงในปาฐกถา คือ ศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง ที่ถูกค้นพบในสมัยรัชกาลที่สี่  และเป็นหลักที่มีปัญหาข้อถกเถียงในประเด็นเรื่องความเก่าและความแท้   เพราะนอกจากศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง แล้ว ก็ไม่ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นใดที่บอกว่า เรามีการปกครองแบบพ่อปกครองลูกในสมัยสุโขทัย !

ในคราวหน้า ผู้เขียนจะได้นำข้อความในศิลาจารึกหลักที่หนึ่งมาพิจารณากัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า