เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๑๘): การยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙

 

การยุบสภาผู้แทนราษฎรวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ นับเป็นการยุบสภาฯครั้งที่ ๑๒ และเป็นการยุบสภาฯที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากการยุบสภาฯ ๑๑ ครั้งก่อนหน้า และในความเห็นของผู้เขียน การยุบสภาฯครั้งที่ ๑๒  ถือเป็นการยุบสภาฯที่ผิดหลักการการยุบสภาฯตามแบบแผนการปกครองระบบรัฐสภาที่มีสหราชอาณาจักรเป็นต้นแบบ

ถ้าพิจารณาสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๕๔๙ รวมทั้งสิ้น ๑๑ ครั้ง  จะพบว่า มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่มีสาเหตุของการยุบสภาแตกต่างไปจากสาเหตุของการยุบสภาครั้งอื่นๆทั้งหมดในประเทศไทย

การยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ว่านี้คือ การยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ ในสมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี เหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ผิดแผกแตกต่างไปจากกรอบเหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดของอังกฤษ รวมทั้งเหตุผลของการยุบสภาในระดับทั่วไปที่ นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการยุบสภาโดยเฉพาะอย่าง Markesinis ได้ทำการศึกษาไว้ (ผู้สนใจโปรดดู B. S. Markesinis, The Theory and Practice of Dissolution of Parliament (Cambridge: Cambridge University Press, 1972)  และรวมทั้งหลักการและเหตุผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่นำเสนอล่าสุดในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยสถาบันนานาชาติเพื่อประชาธิปไตยและการช่วยเหลือส่งเสริมการเลือกตั้ง (IDEA, International Institute for Democracy and Electoral Assistance)  ที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอไปแล้ว

จากที่ผู้เขียนได้ประมวลสาเหตุของการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๑๐ ครั้ง จะพบว่า มีสาเหตุหลักในการยุบสภาดังนี้คือ

๑. ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา 

๒. ความขัดแย้งภายในรัฐบาล 

๓. สภาครบวาระ  

๔. สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา 

๕. เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลหลังจากเกิดวิกฤตทางการเมือง   

แต่ในการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙  สาเหตุของการยุบสภาที่ประกาศไว้ในพระราชกฤษฎีการคือ

“โดยที่นายกรัฐมนตรีได้นําความกราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่ประธานสภาผู้ แทนราษฎร ได้นําความกราบบังคมทูล ฯ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ขอให้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมติเห็นชอบข้างมากเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎร ที่ลงคะแนนโดยเปิดเผยในสภาผู้แทนราษฎร และได้มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นบริหารราชการ แผ่นดินแล้วนั้น ต่อมาได้ เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรก จะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวาง และอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิด ความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นใช้อํานาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดหรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหา (เน้นโดยผู้เขียน) และความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่าง กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ ของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อย ของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของ บ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัยน่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงาม ตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์  เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลาย และยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดําเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้ จริงของประชาชนโดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบ แล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทําได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตย ที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือการคืนอํานาจการตัดสินใจทางการเมือง กลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้ แทนราษฎร เพื่อจัดให้ มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป”  (พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม ๑๒๓ ตอน ๒๐ ก (๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙): ๑-๒)

ข้อความที่ว่า “แม้แต่รัฐบาลได้พยายามดําเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหา...”  นั้นไม่เป็นความจริง

เพราะในความเป็นจริง  จะพบว่ามิได้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาเกิดขึ้นแต่อย่างใด !

และการขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวนี้ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑๒ และ ๒๑๓  ความว่า (๒๑๒)  “ในการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีต้องดําเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมายและนโยบายที่ได้แถลงไว้ตามมาตรา ๒๑๑ และต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในหน้าที่ของตนรวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรี” และ (๒๑๓) “ในกรณีที่มีปัญหาสําคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร จะฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐ สภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติใน ปัญหาที่อภิปรายมิได้”  นั่นคือ  การขอเปิดอภิปรายในลักษณะดังกล่าวเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี  ซึ่งถ้าทักษิณต้องการให้มีการเปิดอภิปรายดังกล่าวจริง     การอภิปรายดังกล่าวก็ย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับตัดสินใจยุบสภาทั้งๆ ที่ยังมีกลไกตามระบอบรัฐสภาที่จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งฝ่ายค้านก็มีเสียงไม่พอที่จะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา ๑๘๕ และ ๑๘๖ ที่ระบุให้ใช้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า ๑ ใน ๕ (คือ ๑๐๐ คน) หากจะอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล และจะต้องใช้เสียงไม่ต่ำกว่า ๒ ใน ๕ (๒๐๐ คน) หากจะอภิปรายฯนายกรัฐมนตรี  ซึ่งฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเรียกร้องขอเสียงในสภาผู้แทนราษฎรในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สำเร็จ

ดังนั้น การยุบสภาครั้งนี้จึงไม่เข้าข่ายรัฐบาลขัดแย้งกับสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด เพราะในขณะนั้น ยังมิได้มีการเปิดประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร   อีกทั้งรัฐบาลมิได้มีความขัดแย้งภายในรัฐบาลแต่อย่างใดด้วย เพราะรัฐบาลมาจากพรรคไทยรักไทยที่ได้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภา อีกทั้งยังได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งทั่วไปมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งของประเทศไทยด้วย

ขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรยังไม่ครบวาระ เพราะขณะนั้นเพิ่งมีอายุเพียงหนึ่งปีกว่า เพราะสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ 

ขณะเดียวกันก็มิได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแต่อย่างใด

แต่สาเหตุที่ “เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น” ที่ขยายตัวรุนแรงและอาจจะบานปลายได้นั้น มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวของตัวนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร เกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของครอบครัวโดยไม่เสียภาษี มิได้เป็นสาเหตุที่เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องนโยบายสาธารณะแต่อย่างใด 

อาจจะมีบางคนคิดเทียบเคียงการยุบสภาวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ กับกรณีการยุบสภาของอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๗๔  แต่ผู้เขียนพบว่า แม้ว่าในกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษในปี ค.ศ. ๑๙๗๔ ในสมัยนายเอ็ดเวิร์ด ฮีธ (Edward Heath) เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีความสับสนวุ่นวายที่เกิดจากการประท้วงและการชุมนุมของกรรมกรเหมืองแร่ จนทำให้นายฮีธต้องยุบสภา  แต่สาเหตุก็มิได้มาจากปัญหาเรื่องส่วนตัวของตัวนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากความขัดแย้งในเรื่องการกำหนดนโยบายสาธารณะ (ผู้สนใจโปรดดู Dominic Sandbrook, State of Emergency – The Way We Were: Britain 1970-1974)

ความเห็นของนักวิชาการต่อกรณีการยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๔๙ พบว่า นักวิชาการคนแรกและคนเดียวที่ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะว่าการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีไม่มีเหตุผลอันควรในการยุบสภา นักวิชาการผู้นี้คือ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ

อาจารย์บวรศักดิ์ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นนี้ไว้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ โดยกล่าวว่า

“ตอนยุบสภานั้น นายกฯ ให้ผมเตรียมร่างพระราชกฤษฎีกาเข้าไปกับเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ให้ไปหาที่กระทรวงการต่างประเทศ ผมก็ยกมือไหว้ท่านหนึ่งครั้ง ตอนยื่นพระราชกฤษฎีกาส่งให้ท่าน ผมขอท่านว่าขอแสดงความเห็นหน่อยได้ไหม ท่านก็บอกว่าได้ ว่ามาเลย ผมก็บอกว่า ท่านนายกฯครับ มันไม่มีเหตุที่จะยุบสภา แต่ท่านก็ตัดบทโดยให้เหตุผลว่า ผมรับผิดชอบเอง” 

แต่ในบทสัมภาษณ์นั้น อาจารย์บวรศักดิ์ ไม่ได้อธิบายขยายความให้เหตุผลว่า    ทำไมท่านถึงมีความเห็นว่า “ไม่มีเหตุผลที่จะยุบสภา” 

ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ขอสัมภาษณ์ท่านเพื่อให้ท่านได้อธิบายขยายความถึงการยุบสภา พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงเป็นการยุบสภาที่ไม่มีเหตุผล  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

อดีตบิ๊กข่าวกรอง ชี้ 'บิ๊กทิน' กินยาผิด! ยันทหารไม่อยากยึดอำนาจถ้านักการเมืองไม่โกง

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nantiwat Samart หัวข้อ

'ก้าวไกล' หนุนแก้กฎหมายสกัดรัฐประหาร ลั่นกองทัพต้องอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…)

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490