การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔๑)

 

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”  วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที  และรัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ คณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์ 

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  นายกรัฐมนตรี (พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา) ได้ขอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร (พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ทรงแถลงทำการแทน

หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงกล่าวว่า  การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติ ครั้นจะดูตัวอย่างจากต่างประเทศเพื่อจะเป็นแนวทางสำหรับสภาผู้แทนราษฎรของไทย ก็มีน้อยมากที่พระมหากษัตริย์ในต่างประเทศจะทรงสละราชสมบัติโดยสมัครใจ เพราะตัวอย่างของอังกฤษนั้น ก็มีในปี ค.ศ. 1688 (ส่วนกรณีการสละราชสมบัติโดยสมัครใจของพระมหากษัตริย์ที่คนสมัยใหม่รู้จักกันดีคือ ในกรณีของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่แปด ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1936 [2479] สองปีหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว/ผู้เขียน)  แต่การสละราชสมบัติของพระมหากษัตริย์อังกฤษนั้นจะมาใช้เป็นตัวแบบสำหรับการดำเนินการต่อไปของสภาผู้แทนราษฎรไทยไม่ได้ เพราะคติการปกครองต่างกัน โดยคติการปกครองของอังกฤษ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจด้วยหลักเทวสิทธิ์ (Divine right of King) นั่นคือ พระมหากษัตริย์ทรงรับพระราชสิทธิมาจากพระผู้เป็นเจ้า เพราะฉะนั้น เมื่อพระมหากษัตริย์มีสิทธิที่ได้รับมาจากพระผู้เป็นเจ้า พระมหากษัตริย์ก็ทรงสละไม่ได้ แต่สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษจะต้องทำการถอดถอน (Depose) เท่านั้น 

แต่สภาผู้แทนราษฎรไทยไม่จำต้องขบคิดปัญหาในลักษณะนั้น เพราะ “ตามประเพณีของไทยก็ดี หรือตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยามก็ดี ราชสมบัติไม่ได้เป็นทรัพย์ที่ได้ทรงรับมาจากพระผู้เป็นเจ้า ขณะเดียวกัน ถ้าจะถามว่า การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สภาผู้แทนราษฎรไทยจะต้องทำอย่างไร ?  ต้องมีมติรับหรือไม่รับ หรือเพียงแค่รับทราบ หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้คำแนะนำแก่สภาผู้แทนราษฎรว่า

ให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบไว้ก็พอ เพราะการที่รับทราบไว้นี้ ก็แสดงว่านิติกรรมอันนั้น คืออันที่ทรงสละราชสมบัติเป็นหลักฐานในปัญหาเบื้องต้น คือทรงสละราชสมบัติ..” ด้วยเหตุผลที่ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ไม่ได้เกิดจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ทรงรับรัชทายาทสำเร็จราชการแผ่นดิน ตาม“ประกาศลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ มีรับสั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา ซึ่งได้ทรงรับรัชทายาทสำเร็จราชการแผ่นดิน ให้ประกาศจงทราบทั่วกันว่า ฯลฯ” นั่นคือ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯไม่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ด้วยการลงมติยอมรับโดยสภาผู้แทนราษฎร   แต่ในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”     

แม้ว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรจะทรงแนะนำให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบการสละราชสมบัติ แต่นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรี เห็นว่า การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในบริบทการเมืองระหว่างประเทศ และรวมทั้งความมั่นคงภายในด้วย นายทองอยู่ พุฒพัฒน์จึงเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรยังไม่รับการสละราชสมบัติ และแนะนำสภาผู้แทนราษฎรว่าให้ “กราบบังคมทูลไปว่าสภาฯนี้ยังไม่อนุมัติให้ลาออกจากราชสมบัติ ขอให้ทรงราชสมบัติต่อไปอีกตามสมควร เช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าเข้าใจว่า การบ้านการเมืองของเราคงจะเรียบร้อยไปได้”                     

หลังจากหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรได้ทรงแนะนำให้สภาผู้แทนราษฎรรับทราบการสละราชสมบัติ และนายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่ควรยอมรับและให้ปฏิเสธการสละราชสมบัติ และให้กราบบังคมทูลให้ทรงครองราชย์ต่อไป ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคาย ได้มีความเห็นว่า

“ก่อนอื่น นี่ข้าพเจ้าเกิดความสงสัยในรัฐธรรมนูญ คือว่าข้าพเจ้ายังไม่เห็นมีรัฐธรรมนูญข้อใดที่ให้สภาฯรับทราบเรื่องนี้ อีกประการหนึ่ง มีรัฐธรรมนูญข้อใดบ้างหรือไม่ที่จะให้ใครเป็นผู้รับใบลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือเป็นรัฐบาล หรือเป็นสภาฯ หรือเป็นใคร ข้าพเจ้ายังไม่พบปะ เพราะฉะนั้นเมื่อเรายังไม่มีหลักอะไรที่จะดำเนินการในสภาฯนี้แล้ว เราจะอภิปรายอะไรกันต่อไปนั้น ยังไม่น่าจะอภิปราย อีกประการหนึ่ง ข้าพเจ้าได้สังเกตมาว่า พอเริ่มต้น รัฐบาลก็กล่าวถึงเรื่องว่าได้รับใบลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็ลงมือแจก แล้วเมื่อแจกแล้วก็อ่าน อ่านแล้วจึงได้มีสมาชิกบางคนอภิปราย ข้าพเจ้ายังไม่ทราบเลยว่าที่รัฐบาลได้ตั้งนโยบายเป็นอย่างไร แล้วขอให้สภาฯช่วยวินิจฉัยนโยบายนั้นอย่างไรหรือประการใด ยังไม่มีเลย เพราะเหตุฉะนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าควรจะทำความเข้าใจเสียในเรื่องนี้ ว่าเรามีหลักเกณฑ์อะไรที่เราจะรับใบลา หรือสภาฯจะมีหน้าที่พิจารณาใบลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”     

ต่อความเห็นของขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ นายกรัฐมนตรีได้ให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรแถลงตอบ ซึ่งหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรได้ทรงตอบดังนี้                   

“ข้าพเจ้าเสียใจที่เมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าไม่ได้ชี้แจงข้อกฎหมายเกี่ยวกับการลาออก จริงอยู่ ในเอกสารที่รัฐบาลได้เสนอมา ใช้คำว่า ‘ใบลา’ และ ‘ลาออก’  แต่อันที่จริง แอบดีเคชัน (Abdication) หรือตามลายพระหัตถ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯก็ดี ไม่ได้ใช้คำนั้น แต่หากใช้คำว่าทรงสละราชสมบัติ ซึ่งทางกฎหมายต่างกัน การลาออกหรือ รีไทร์ (Retired) นั้น จะต้องลาออกแก่ผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งได้ตั้งผู้นั้นมา และเมื่อลาออกต่อผู้ใดผู้หนึ่งแล้ว ก็ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ที่ตั้งจึงจะออกได้ แต่ในที่นี้ ไม่ใช่การลาออก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงลาออกจากรัฐบาลหรือสภาผู้แทนราษฎร เป็นการที่ทรงสละราชสมบัติ คือพระราชสิทธิอย่างหนึ่ง  หรือพระราชสมบัติอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าพระราชสมบัติ เพราะฉะนั้น พระราชหัตถเลขานั้นก็เป็นนิติกรรมอันหนึ่ง ซึ่งแสดงไว้เป็นหลักฐานว่า ทรงสละพระราชสมบัติหรือสิทธิที่ทรงมีอยู่ ไม่ใช่การลาออกจากรัฐบาลหรือจากสภาผู้แทนราษฎร”

ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ได้แถลงต่อว่า “ถ้าเราได้ความอย่างนั้น ก็แปลว่า เวลานี้ว่างมหากษัตริย์ เรียกว่าว่างลงไป เพราะเหตุว่าสละแล้ว ไม่ได้ลาออก ทรงสละสิทธิ เมื่อสละแล้ว เวลานี้ก็แปลว่าว่างมหากษัตริย์ คราวนี้ ปัญหาที่จะวินิจฉัยก็ว่า เมื่อว่างมหากษัตริย์ลงแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “เรื่องนี้ ข้าพเจ้าเห็นพอจะตอบได้ว่า รัฐธรรมนูญมาตรา ๙ มีข้อความดังนี้ ‘มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”       

จากทั้งหมดข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า คำแนะนำต่อสภาผู้แทนราษฎรของหม่อมเจ้าวรรณไวทยากรในวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ที่ว่า พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชย์สมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร นั่นคือ จะต้องให้สภาฯลงมติยอมรับนั้น ได้เป็นหลักการที่ใช้ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ในกรณีที่ “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรีเสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตามมาตรา ๒๐ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ...” ซึ่งเป็นข้อความในวรรคที่สองของมาตรา 21

ส่วน “ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ”  นั่นคือ ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช ๒๔๖๗ แล้ว รัฐสภาทำหน้าที่รับทราบเท่านั้น          

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 8)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า