การพิจารณานโยบายหาเสียง

 

มีคนเคยนิยามการเมืองไว้ว่า การเมืองเป็นเรื่องของการรักษาสิ่งที่ดีไว้หรือทำสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นและเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ไม่ดีให้ดี หรือขจัดสิ่งที่ไม่ดีให้หมดไป                     

ดังนั้น การเมืองจึงมีทั้งส่วนที่ต้องรักษาและส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลง ส่วนคำว่าดี-ไม่ดีนั้นก็คงแล้วแต่มุมมองของคนแต่ละคน แต่ละกลุ่ม และแน่นอนว่าแล้วแต่ๆละพรรคการเมือง     

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีมุมองเกี่ยวกับอะไรดี-ไม่ดีแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้คือความยุติธรรม ซึ่งดีก็ควรจะต้องไปด้วยกับกับความยุติธรรม  นโยบายหาเสียงต่างๆของแต่ละพรรคการเมืองย่อมต้องมุ่งทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม

ในทางวิชาการ  ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ มีวิชาหนึ่งที่เป็นวิชาบังคับสำหรับนิสิตทุกคนในระดับชั้นปีที่สอง วิชานี้ชื่อความรู้เบื้องต้นทฤษฎีการเมืองและสังคม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับทฤษฎีความยุติธรรมที่เป็นกรอบในการกำหนดกติกาและนโยบายสาธารณะ  และผมเป็นผู้รับผิดชอบสอนวิชานี้มาได้หลายปี และสอนตามประมวลรายวิชาที่มีผู้ออกแบบไว้ และผมก็สอนตามที่เขาออกแบบ         

ตำราพื้นฐานเล่มหนึ่งที่ชื่อ “ปรัชญาการเมือง: ความรู้เบื้องต้นสำหรับนักศึกษาและนักการเมือง(Political Philosophy: A Beginners’ Guide for Students and Politicians ตีพิมพ์ ค.ศ. 2006) คนเขียนชื่อ อดัม สวิฟท์ (Adam Swift) สาเหตุที่เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะหวังจะให้นักศึกษาที่เริ่มต้นศึกษาปรัชญาการเมืองได้ใช้อ่านเป็นเบื้องต้นแล้ว เขายังคาดหวังให้นักการเมืองอ่านด้วย เพราะเขาเห็นว่า นักการเมืองอังกฤษเองก็ไม่ค่อยจะเข้าใจในเรื่องความยุติธรรมเท่าไรนัก และในการกำหนดนโยบายหาเสียงของพรรคของตน ก็ไม่ค่อยจะมีรากฐานที่แข็งแรงเท่าไร และในหนังสือเล่มนี้ ได้นิยามความยุติธรรมไว้อย่างง่ายๆ นั่นคือ ความยุติธรรม คือ การให้ในสิ่งที่ประชาชนควรได้ และไม่ให้สิ่งที่ประชาชนไม่ควรได้

ถ้าว่าตามนิยามนี้ หากนโยบายของพรรคการเมืองไม่ให้ในสิ่งที่ประชาชนควรได้ และดันไปให้ในสิ่งที่ไม่ควรได้ ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่ไม่ยุติธรรม ที่นี้อะไรคือสิ่งที่ประชาชนควรหรือไม่ควรได้ ก็แล้วแต่ทฤษฎีต่างๆ  แต่ไม่น่ามีทฤษฎีใดปฏิเสธว่า ความยุติธรรมคือ การให้ในสิ่งที่ประชาชนควรได้ และไม่ให้สิ่งที่ประชาชนไม่ควรได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองจะต้องเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณอยู่เสมอ   คำถามคือ จะจัดสรรหรือแบ่งทรัพยากร-งบประมาณอย่างไรถึงจะยุติธรรม ?

ถ้าเริ่มต้นอย่างง่ายๆก็คือ แบ่งให้ทุกคนเท่าๆกัน  ซึ่งฟังดูดี แต่ถ้าคิดให้ดี การแบ่งให้เท่าๆกันอาจจะเป็นการให้ในสิ่งที่ประชาชนไม่ควรได้ และไม่ให้ในสิ่งที่ควรได้  เพราะบางกรณี การให้ทุกคนเท่าๆกัน ไม่ยุติธรรม เพราะบางคนไม่ควรต้องให้ และบางคนควรต้องได้มากกว่า ไม่ใช่ได้เพียงเท่าๆคนอื่น เพราะบางคนมีความต้องการจำเป็นมากกว่าคนอื่น หรือบางคนมีอยู่แล้ว จะให้ไปทำไม

ดังนั้น การแบ่งเท่าๆกันจึงไม่จำเป็นต้องนโยบายที่เที่ยงธรรมเสมอไป

ถ้าจะแบ่งตามความจำเป็น เช่น คนจนควรได้และได้มาก ส่วนคนรวยๆแล้วไม่ควรต้องให้  ปัญหาที่ตามมาคือ จะต้องให้คนจนไปนานเท่าไร เพราะคนรวยคงไม่พอใจที่ทำมาหากินเสียภาษีเพื่อไปช่วยคนจน แต่ตัวเองไม่ได้อะไร

ถ้าจะให้คนรวย-คนจน ต่างคนต่างเลือกนโยบายที่มุ่งแต่ผลประโยชน์ของตน อาจจะลงเอยเป็นความขัดแย้งทางชนชั้นได้ในที่สุด

ในการหาทางออกจากปัญหาการเลือกนโยบายจากฐานะความเป็นอยู่ที่ของเรา มีนักคิดเขาแนะนำว่า ให้ “สมมุติว่า คุณไม่รู้ว่า คุณจะเกิดมาในครอบครัวร่ำรวยหรือยากจน ฉลาดหรือไม่ฉลาด เก่งไม่เก่งเรื่องอะไร เพศอะไร  ฯลฯ  นโยบายแบบไหนที่คุณคิดว่าจะให้ความยุติธรรมแก่คุณ ?”

ทำไมต้องสมมุติแบบนั้น ? คำตอบคือ ถ้าเราไม่สมมุติ เราก็มักจะเลือกนโยบายที่เป็นคุณต่อเรา คนรวยก็ไม่อยากให้เก็บภาษีมาก ในขณะที่คนจนก็อยากให้รัฐบาลนำภาษีมาอุดหนุนเจือจุนแก้ไขความยากลำบากในชีวิต

ดังนั้น การสมมุติดังกล่าว จึงคาดหวังว่า เมื่อแต่ละคนยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นยังไง แต่ละคนก็น่าจะหากติกาที่ไม่สุดโต่งและปลอดภัยสำหรับตัวเอง

ที่ว่าไม่สุดโต่งก็คือ ไม่เทไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อสถานะของตนในยามที่ตัวเองรู้แล้วว่า ตัวเองรวยหรือจน เก่งหรือไม่เก่ง  คือเผื่อไว้ทั้งในกรณีที่ตัวเองจะมีความสามารถ มีความร่ำรวย และเผื่อในกรณีที่ตัวเองเกิดมาจน 

ที่ว่าปลอดภัยก็คือ คนรวยหรือไม่จนอาจอยู่ดีๆเกิดตกอับขึ้นมาก็ได้ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม

กติกาหรือหลักการในการกำหนดนโยบายที่เป็นผลจากการทดลองสมมุติว่าตัวเองยังไม่รู้ว่าตัวเองจะเป็นอะไรนี้ จะนำมาซึ่งหลักการกติกาที่คนทุกคนในสถานการณ์สมมุติจะเห็นพ้องต้องกัน ได้แก่

เห็นด้วยกับนโยบายที่ให้พลเมืองทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพและความเสมอภาคในทางการเมือง เพื่อจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆได้

เห็นด้วยกับนโยบายที่ให้ความเสมอภาคต่อเพศทุกเพศ เพราะหากเราไม่รู้ว่าจะเกิดเป็นเพศอะไร เพื่อความปลอดภัย เราต้องการให้ความเสมอภาคไว้ก่อน และเช่นเดียวกับเรื่องศาสนา หากเราอยู่ในสถานะของศาสนาที่เป็นคนส่วนน้อยของสังคม เราก็คงต้องการให้ได้รับการยอมรับเท่าๆกับศาสนาอื่นๆ

เห็นด้วยที่จะจ่ายภาษี เพื่อจะเอาไว้ช่วย “คนจน” ในกรณีที่เกิดมาจน รัฐบาลก็ต้องนำงบประมาณมาช่วยให้ตัวเองได้ลืมตาอ้าปาก หรือถ้ารวยแล้วตกอับยากจน ก็คาดหวังให้รัฐบาลนำงบประมาณมาช่วยให้ลืมตาอ้าปาก               

เห็นด้วยที่จะไม่จะเอาภาษีไปช่วยคนที่ไม่จน

เห็นด้วยที่จะมีนโยบายที่ไม่ปิดกั้นศักยภาพความสามารถของตัวเอง หากสามารถจะรวย ก็ต้องเปิดให้รวยได้       

เห็นด้วยว่า มีความไม่เสมอภาคหรือความเหลื่อมล้ำได้ แต่ต้องภายใต้เงื่อนไขที่มีการช่วยเหลือคนจนให้สามารถลืมตา อ้าปากเพื่อเข้าแข่งขันในการทำมาหากินได้

เห็นด้วยกับความไม่เสมอภาคได้ หากความไม่เสมอภาคนั้นเป็นไปเพื่อช่วยเหลือคนยากจน นั่นคือ การเก็บภาษีที่ไม่เสมอภาคกัน เช่น เก็บคนรวยมากกว่า หรือยกเว้นการเก็บภาษีกับคนที่มีรายได้น้อยมาก หรือ การยกเว้นค่าไฟค่าน้ำ และค่าอะไรต่างๆเพื่อช่วยเหลือคนจน

เห็นด้วยกับนโยบายช่วยเหลือคนจนที่มีการพัฒนาให้คนจนสามารถยกระดับขึ้นมาจากความยากจน

เห็นด้วยที่รัฐบาลจะให้งบประมาณส่งเสริมกิจการของคนรวย หรือยกเว้นภาษีให้กับกิจการของคนรวย หากกิจการของคนรวยนั้นนำมาซึ่งการจ้างงานคนจนอย่างประจำและมีจำนวนมากขึ้น ในกรณีนี้ เราสามารถทำความเข้าใจได้จากตัวอย่างดังต่อไปนี้ คือ แทนที่รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณเป็นตัวเงินช่วยเหลือให้แก่คนจนทุกคน เช่น มีงบประมาณ 100 บาท แจกคนจน 100 คน คนจนแต่ละคนจะได้ 1 บาท ซึ่งใช้แล้วก็หมดไป  แต่ถ้านำ 100 บาทไปส่งเสริมกิจการคนรวย ภายใต้เงื่อนไขที่คนรวยจะขยายกิจการและมีการจ้างงานเกิดขึ้น ทำให้คนจนมีงานประจำทำ เดือนหนึ่งอาจจะได้เงินเดือน  1 บาท แต่คนจนที่มีมีงานประจำทำนั้น จะมีเงิน 1 บาทใช้ประจำทุกเดือนตราบที่ตนทำงานให้กับกิจการนั้น

ท่านผู้อ่านน่าจะลองสมมุติตัวเองว่ายังไม่รู้ว่าเกิดมาแล้วจะเป็นอย่างไร  แล้วลองมาเทียบกันดูว่าตรงกับที่กล่าวไปข้างต้นไหม ?              

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 7)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 19: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 6)

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 18: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าหาก 'โดนัลด์ ทรัมป์' ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี

ด้วยวาทกรรม ‘นองเลือด’ ของเขา เวลานี้โดนัลด์ ทรัมป์กำลังยุยงให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นต่อผู้อพยพ รวมถึงโจ ไบเดนคู่แข่