ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต (MNNA)

สหรัฐทำสนธิสัญญาเป็นพันธมิตรทางทหารกับหลายประเทศ หลายฉบับ ต่างมีข้อตกลงเฉพาะ มักขึ้นกับบริบทของยุคสมัย เช่น เกาหลีใต้เป็นพันธมิตรสหรัฐภายใต้สนธิสัญญา Mutual Defense Treaty 1953

ตั้งแต่สมัยสงครามเกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐ มีสนธิสัญญา Security Treaty Between Australia, New Zealand, and the United States of America (ANZUS) 1951 ปัจจุบันลดเหลือสนธิสัญญาระหว่างออสเตรเลียกับสหรัฐเท่านั้น ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตเป็นสนธิสัญญาด้านความมั่นคงอีกฉบับ บางประเทศผูกพันกับสหรัฐทั้ง 2 สนธิสัญญา

ภาพ: ตัวอย่างแผนปิดล้อมจีนของ AUKUS
เครดิตภาพ: https://fmes-france.org/the-aukus-security-pact-aligning-australias-strategy-with-americas-geopolitical-vision/

ก่อนจะเข้าใจชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโตควรเข้าใจนาโตก่อน องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) เกิดขึ้นเพื่อต้านภัยคุกคามจากรัสเซียหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนนั้นกองทัพรัสเซียเข้ายึดหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันออก ยึดอุดมการณ์เศรษฐกิจการเมืองแบบสังคมนิยม ชาติยุโรปตะวันตกอยู่ในสภาพอ่อนแอจากการทำลายล้างของสงคราม การตั้งกลุ่มพันธมิตรทางทหารโดยมีสหรัฐร่วมอยู่ด้วยจึงเป็นประโยชน์

บทบาทของนาโตปรับเปลี่ยนตามยุคตามสมัย ปัจจุบันเป็นเสาหลักความมั่นคงของสหรัฐกับพันธมิตร 2 ฝั่งแอตแลนติก เป็นพันธมิตรทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นาโตทวีความสำคัญขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 21 เมื่อรัฐบาลสหรัฐกับพวกมองจีนที่กำลังก้าวขึ้นมา กับรัสเซียที่ฟื้นฟูในยุคปูตินว่าเป็นภัยคุกคามร้ายแรงขึ้นทุกที

ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต:
แม้จะชื่อว่า “ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต” (Major Non-NATO Ally: MNNA) แต่เป็นพันธมิตรหรือข้อตกลงทวิภาคี ไม่อยู่ภายใต้องค์การนาโต

1) นิยาม MNNA กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐให้นิยามว่า Major Non-NATO Ally หมายถึง ประเทศที่ได้ประโยชน์บางอย่างด้านการป้องกันประเทศ การค้าและความมั่นคงตามที่ระบุไว้ เล็งถึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ให้ความเคารพกันและกันอย่างสูง แต่ไม่ถึงขั้นให้หลักประกันความมั่นคงแต่อย่างใด

กระทรวงการต่างประเทศไทยอธิบายการได้รับสถานะเป็นชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต “ไม่ได้หมายถึงการมีหลักประกันด้านความมั่นคงและการป้องกันประเทศร่วมกันเช่นเดียวกับที่สหรัฐมีกับประเทศสมาชิกนาโต แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่สหรัฐให้แก่ความสัมพันธ์ในลักษณะพันธมิตร”

ดังนั้น แม้จะเอ่ยว่าเป็นพันธมิตร (Ally) แต่ MNNA ไม่ใช่สนธิสัญญาป้องกันประเทศร่วม (Mutual Defense Treaty)

เนื่องจากเป็นพันธมิตรที่ไม่ใช่นาโต ประเทศเหล่านี้จึงกระจายอยู่ในทวีปต่างๆ ยกตัวอย่าง อิสราเอล อียิปต์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อาร์เจนตินา ไต้หวัน โคลอมเบีย และกาตาร์ (2 ประเทศหลังเป็นประเทศล่าสุด 2022) ส่วนชาติสมาชิกอาเซียนมีเพียง 2 ประเทศที่ทำข้อตกลงนี้ คือ ฟิลิปปินส์ กับไทย (ทำสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ.2546)

ดังที่กล่าวแล้วว่า สถานะ MNNA ไม่ถึงขั้นสหรัฐจะเข้ารบช่วยปกป้องประเทศนั้น แต่บางประเทศมีสนธิสัญญาทางทหารอื่นๆ ที่สหรัฐจะส่งกองทัพเข้าปกป้อง MNNA มีจุดเด่นเป็นสนธิสัญญาสดใหม่ ไม่ใช่ของเก่าจากยุคสงครามเย็นในอดีต

2) ลักษณะสำคัญ MNNA แบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามการเกิดก่อนหลัง ลักษณะความร่วมมือแตกต่างกัน บางประเทศอยู่ในประเภทเดียว บางประเทศอยู่ในทั้ง 2 ประเภท มีขอบเขตความร่วมมือที่พอจะสรุปรวมๆ ได้แก่ สามารถซ่อมแซมอาวุธสหรัฐนอกแผ่นดินสหรัฐ ร่วมวิจัยโครงการต่อต้านก่อการร้ายบางโครงการ สหรัฐช่วยเหลือโครงการวิจัยเพื่อการป้องกันประเทศ ได้รับอาวุธอุปกรณ์ทางทหารจากสหรัฐ สิทธิ์ในการซื้อกระสุน depleted uranium ammunition สหรัฐช่วยฝึกหรือซ้อมรบร่วม สามารถเช่าหรือยืมอุปกรณ์ทางทหารบางอย่าง ความร่วมมือด้านดาวเทียมเพื่อการพาณิชย์

3) เหตุและผล ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต (MNNA) ให้ภาพว่า เป็นประเทศที่มีสัมพันธ์ทางทหารใกล้ชิด ได้รับการเอาใจใส่เป็นพิเศษ แม้กระทั่งไต้หวันที่ไม่เป็นประเทศแต่อยู่ในข้อตกลงนี้ ถือเป็นกรณีพิเศษ แน่นอนว่ารัฐบาลสหรัฐน่าจะมีเหตุผลเฉพาะ เช่น หวังให้โคลอมเบียสนับสนุนนโยบายต่อต้านเวเนซุเอลา รัฐบาลไบเดนหวังให้กาตาร์ขายน้ำมันก๊าซธรรมชาติแก่ยุโรปในช่วงนี้ที่กำลังคว่ำบาตรรัสเซีย เป็นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน

อย่างไรก็ตาม มีตัวอย่างที่ทำให้ความสัมพันธ์เปลี่ยน เช่น สมัยรัฐบาลโอบามากล่าวว่า อียิปต์ไม่เป็นมิตรและไม่เป็นศัตรู ทั้งๆ ที่ตอนนั้นอียิปต์มีสถานะ MNNA เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี (Muhammad Morsi) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ดำเนินนโยบายยึดมั่นศาสนาอิสลามตามแนวทางของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood)


ฟิลิปปินส์ในสมัยรัฐบาลโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ก็เช่นกัน ดำเนินนโยบายใกล้ชิดจีนกับรัสเซียมากขึ้น มีบางเรื่องที่คิดเห็นตรงข้ามกับสหรัฐแต่ยังคงความเป็น MNNA กันยายน 2016 ดูเตร์เตกล่าวว่า “ไม่ได้ตัดความเป็นพันธมิตร รวมทั้งด้านการทหาร” แต่ฟิลิปปินส์จะเป็นอิสระมากขึ้น มีนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ จะเห็นว่าความสัมพันธ์ขึ้นกับตัวรัฐบาลด้วย

ความร่วมมือเชิงประจักษ์:
ลำพังการเป็น MNNA ไม่ใช่ความสัมพันธ์ทั้งหมด มีนโยบายอื่นที่ทำสำเร็จแล้ว บางอย่างกำลังทำ ในที่นี้ขอนำเสนอ 2 ตัวอย่าง

1) AUKUS
พันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย (AUKUS) ที่เริ่มเมื่อกันยายน 2021 ใน 3 ประเทศนี้ออสเตรเลียมีฐานะเป็น MNNA และมีจุดเด่นคืออังกฤษเป็นประเทศนอกภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเข้ามาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย หมายความว่าเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์อังกฤษจะมีภารกิจอย่างสม่ำเสมอในย่านนี้ ด้วยแนวทางนี้อนาคตอาจมีสมาชิกอื่นนอกภูมิภาคเข้าร่วมอีก

2) กรณีติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง
รัฐบาลสหรัฐประกาศตั้งแต่สมัยทรัมป์ว่าหวังจะติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลางในอินโด-แปซิฟิก ล่าสุดเอ่ยถึงออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้และไทย ทั้ง 5 ชาติล้วนเป็นพันธมิตรเก่าแก่และเป็น MNNA 10 ชาติอาเซียนมีเฉพาะฟิลิปปินส์กับไทยเท่านั้นที่ทำข้อตกลง MNNA กับสหรัฐ จึงไม่แปลกที่ 2 ประเทศนี้อยู่ในรายชื่อคาดหวังติดตั้งขีปนาวุธพิสัยกลาง

ไม่ว่าจะเป็นขีปนาวุธนิวเคลียร์หรือหัวรบธรรมดาล้วนมีอานุภาพทำลายสูง มุ่งยิงเป้าหมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ และชัดเจนว่าเป้าหมายคือจีน (อาจรวมรัสเซียฝั่งเอเชียตะวันออกไกล) และต้องมองไกลกว่าตัวตัวขีปนาวุธ เพราะจะรวมระบบป้องกันทางอากาศ มีฐานทัพอากาศ ศูนย์บัญชาการ ฯลฯ รวมความแล้วเป็นฐานทัพถาวรขนาดใหญ่นั่นเอง ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นการประกาศการเป็นศัตรูกับจีนอย่างชัดเจน และคงยากจะเปลี่ยนแปลง (ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือญี่ปุ่นที่มีฐานทัพสหรัฐในประเทศตนหลายทศวรรษแล้ว ปัจจุบันมีทหารพร้อมอาวุธหนักประจำการอยู่ราว 54,000 นาย)

น่าติดตามว่าบรรดาประเทศที่เป็น MNNA จะตอบสนองต่อการแข่งขันระหว่างชาติมหาอำนาจอย่างไร
ชาติพันธมิตรหลักนอกกลุ่มนาโต (MNNA) อาจมองว่าเป็นเพียงสนธิสัญญาความมั่นคงอีกฉบับ แต่เมื่อพิจารณาชื่อและข้อมูลอื่นๆ พบว่ามีความสำคัญในตัวเอง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่รัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาเครือข่ายหรือโครงสร้างความมั่นคงอินโด-แปซิฟิกตามแนวทางของตน การปรากฏตัวของ AUKUS ทั้งหมดเกิดภาพการสร้างเครือข่ายความมั่นคงที่อาจรวมประเทศอื่นนอกภูมิภาคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินโด-แปซิฟิก การแข่งขันทางทหาร ความตึงเครียดจึงเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกิดความขัดแย้งซ้อนความขัดแย้ง ทุกเรื่องถูกทำให้สัมพันธ์กันหมด ประเทศที่อยู่ใน MNNA มักจะถูกเอ่ยถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

อิสราเอลโจมตีกงสุลอิหร่านและการตอบโต้

ฮามาสทำศึกกับอิสราเอลได้ครึ่งปี เกิดสงครามตัวแทนระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังที่อิหร่านสนับสนุน คราวนี้ถึงรอบอิหร่านปะทะกับอิสราเอลโดยตรงแล้ว

BRICSขยายตัวหมายถึงอะไรบ้าง

BRICS ที่ขยายตัว ชี้ว่ามีประเทศที่หันเข้าสู่ฝ่ายตรงข้ามสหรัฐมากขึ้น แต่ทั้งนี้บางประเทศเพียงอยากมีมิตรหลากหลาย ร่วมมือกับประเทศที่ไม่อยู่ขั้วสหรัฐ

ไบเดนสนับสนุนเนทันยาฮูมากแค่ไหน

ถ้าพุ่งความสนใจ สถานการณ์ล่าสุดดูเหมือนว่ารัฐบาลไบเดนขัดแย้งเนทันยาฮู แต่หากมองภาพใหญ่จะพบว่านับวันพื้นที่ปาเลสไตน์ลดน้อยลงทุกที และกำลังจะเป็นเช่นนี้อีกที่กาซา

ข้อมติให้กาซาหยุดยิงเพื่อใคร

รัฐบาลสหรัฐเสนอร่างมติให้กาซาหยุดยิง เป็นมิติใหม่ที่ใช้ UNSC กดดันอิสราเอล แต่เรื่องนี้มีความแหลมคมซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วเป็นการช่วยอิสราเอลมากกว่า

ศึกยูเครนสงครามที่รัสเซียจะไม่แพ้

สงครามยูเครนฝ่ายรัสเซียมีแต่ชนะกับเสมอ ส่วนยูเครนมีแต่เสมอกับแพ้ เพราะรัสเซียพร้อมใช้นิวเคลียร์ถ้าใกล้แพ้ ส่วนนาโตไม่กล้าใช้นิวเคลียร์ช่วยยูเครนที่กำลังปกป้องประชาธิปไตยยุโรป