กบฏต่อต้านรูปแบบของรัฐไทย

เริ่มจะไม่อยู่กับร่องกับรอย

ไม่ได้เกิดเฉพาะนักการเมืองสูงอายุครับ

หนุ่มๆ ที่เพิ่งจะเข้ามาเล่นการเมือง ก็เริ่มจะเข้ารกเข้าพง จนพวกเดียวกันต้องคอยแปลไทยเป็นไทยอยู่เหมือนกัน

สมัยก่อนตอนพรรคความหวังใหม่เฟื่องฟู "พ่อใหญ่จิ๋ว"  พูดอย่าง จะต้องมี "จาตุรนต์ ฉายแสง" กับคณะคอยแปลให้

ถึงได้เข้าใจว่า "พ่อใหญ่จิ๋ว" พูดอะไร

แต่หลายครั้งก็แปลไทยเป็นไทยไปคนละความหมาย

ไม่ใช่อะไรหรอกครับ "พ่อใหญ่จิ๋ว" พูดผิด ขืนปล่อยไว้จะพากันพังทั้งหมด 

วานนี้ (๑๗ พฤษภาคม) "ปิยบุตร แสงกนกกุล" แปลไทยเป็นไทยให้ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เรื่องวันก่อนที่บอกว่าจะยกเลิก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ประเด็นนี้สร้างแรงกระเพื่อมให้ "ธนาธร" และชาวคณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล พอควร

กลัวเสียคะแนน การเมืองในส่วนภูมิภาคนั้น กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน ยังมีบทบาทอยู่เยอะครับ

การเสนอไอเดียยกเลิก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ของ "ธนาธร" กระแสตีกลับเยอะจน "ปิยบุตร" ต้องออกมาเคลียร์ประเด็นนี้

"...สำหรับในส่วนของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่มีกระแสข่าวออกมาต่อต้านในเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงว่าการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ไม่ได้ยกเลิกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นแต่เพียงการเอาอำนาจไปให้กับท้องถิ่นและจัดการเรื่องอำนาจหน้าที่ของส่วนกลางกับท้องถิ่นที่มันซ้ำซ้อน

สำหรับ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตามประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยที่ผ่านมาก็มีการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบในแต่ละรูปแบบ และแน่นอนว่าทางแก้ที่ดีก็คือการสร้างบทสนทนาหาทางออก ดีกว่าปล่อยให้เป็นปัญหาซุกไว้ใต้พรมไปเรื่อยๆ

สำหรับในความเห็นของผมนั้น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในยุคก่อนมีการกระจายอำนาจนั้นมีความจำเป็น เพราะช่วยเหลือประชาชนได้เข้าถึงกว่า แต่ต้องมาคิดกันว่าเมื่อกระจายอำนาจเกิดแล้ว ต้องปรับ ต้องทำอย่างไรเมื่อระบบราชการเปลี่ยน

เรื่องนี้รัฐบาลต้องไปออกแบบมา จะยกระดับเป็นพนักงานราชการท้องถิ่นมีเงินเดือนประจำไหม หรือจะมาอยู่ในส่วนสิ่งที่เราเสนอให้มีอย่างสภาพลเมือง

หรือหากเห็นว่าในเมื่อท้องถิ่นมีอำนาจ มีงาน มีเงิน มีคน มีความเป็นอิสระเต็มที่แล้ว อย่ากระนั้นเลย อาสาสมัครเป็นนายกฯ ท้องถิ่น น่าจะมีโอกาสช่วยประชาชนได้ดีกว่า  ทั้งหมดนี้เป็นไปได้ในหลากหลายรูปแบบ เรื่องนี้ต้องถกต้องคุยกันยาวๆ

แต่อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว  เพราะนี่จะทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้เกียรติยศ ศักดิ์ศรี มีบทบาทชัดเจนที่ได้ดูแลประชาชนกลับคืนมา ไม่ใช่เป็นแค่เพียงเครื่องมือของราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค ไม่ใช่เป็นเครื่องมือของมหาดไทย แต่ต้องปลดล็อกให้กำนัน  ผู้ใหญ่บ้านกลับมามีบทบาทบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน  ใกล้ชิดประชาชน ไม่เป็นเครื่องมือรัฐราชการ..."

ที่ "ปิยบุตร" สะท้อนมา ก็ยังมีแนวคิดว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็น "ส่วนเกิน" ของระบอบการปกครองที่ คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล อยากให้เป็น

การปกครองในความคิดของพรรคก้าวไกล คณะก้าวหน้า ราวกับว่าไม่มีงานให้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทำอีกต่อไป  ถ้าอยากจะอยู่ต้องปรับเปลี่ยน

ไม่ให้เป็นคนของรัฐ!

เพื่อความชัดเจนไปดูต้นเรื่อง "ธนาธร" พูดเอาไว้เมื่อปลายเดือนเมษายน

คนจัดให้ "ธนาธร" พูดคือ The Isaan Record  กับดาวดินทอล์ก X ขบวนการอีสานใหม่ ในหัวข้อ “เลือกตั้งผู้ว่าทั่วไทยในทรรศนะธนาธร” เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน ที่ผ่านมา

เนื้อหามิใช่ยกเลิก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อย่างเดียว

แต่นำเสนอโละการปกครองส่วนภูมิภาคทิ้ง ให้ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาปกครองแทน

ซึ่งแนวคิดนี้หมายรวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดด้วย

"...ในต่างจังหวัดมีโครงสร้างอำนาจที่ทับซ้อนกันอยู่เรียกว่า อำนาจแฝด อำนาจหนึ่ง คือ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ  กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สายนี้มาจากการแต่งตั้งรายงานตรงต่อส่วนกลาง กับอีกอำนาจหนึ่งคืออำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง  นั่นก็คือนายก อบจ., นายกเทศมนตรี, นายก อบต.

ทั้งนี้โมเดลหรือรูปแบบรัฐที่ควรจะเป็นก็คือ ผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดนั้นมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน  มีอิสระในการตัดสินใจ ไม่ต้องรายงานส่วนกลาง และปกครองตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก นี่คือหลักการและเนื้อหาใจความหลักของการเมืองท้องถิ่นที่ควรจะเป็น 

ปัญหาปัจจุบันถ้าเราบอกว่าเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียว หมายความว่า คุณจะมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้บังคับบัญชาคือส่วนกลาง แล้วก็มีนายก อบจ.ที่มาจากการเลือกตั้ง

ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือรวม ๒ ส่วนนี้เข้าด้วยกันเป็นผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดนั้นๆ มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีเจ้านายคือประชาชน เจ้านายไม่ใช่มหาดไทย 

จึงต้องเข้าใจตรงนี้ก่อนว่า เวลาเราพูดถึงผู้ว่าฯ นั้น ผู้ว่าฯ เป็นสายภูมิภาครายงานต่อราชการส่วนกลาง เราไม่ต้องการแบบนี้ เลือกคนที่จะมาเป็นนายเรา แล้วรับฟังนโยบายรับฟังคำบัญชาการจากส่วนกลาง

เราต้องการเลือกคนที่มาใช้อำนาจแทนเรา และเจ้านายของคนคนนั้นคือประชาชนที่เลือกเขาเข้าไป

ถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ยกเลิกสายภูมิภาคทิ้งไปเลย  ผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยกเลิกทิ้งไปเลย แล้วเอาอำนาจของสายนั้นทั้งหมดกลับมาอยู่ที่นายก อบจ.  แล้วจะเรียกนายก อบจ.ว่าผู้ว่าฯ หรือผู้บริหารจังหวัดก็ค่อยว่ากัน

ปัจจุบันนี้รัฐส่วนกลางมีความไม่ไว้วางใจประชาชน จึงไม่ยอมให้มีอำนาจเดียวในพื้นที่ จึงต้องมีอำนาจของรัฐส่วนกลาง คือแขนขาของรัฐส่วนกลาง ก็คือผู้ใหญ่บ้าน กำนัน  นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ไปดูแล รับคำสั่งจากส่วนกลาง และเอาคำสั่งจากส่วนกลางส่งต่อไปทั่ว เราไม่ต้องการแบบนี้ ซึ่งประชาชนไม่มีอำนาจที่แท้จริง

อำนาจที่แท้จริงต้องมีอำนาจเดียว และอำนาจนั้นมาจากการเลือกตั้ง มีอิสระในการออกแบบอนาคต การจัดสรรนโยบาย และการดำเนินการของตัวเอง และเขารายงานตรงต่อประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ใช่ส่วนกลาง

นี่คือไอเดียหลักใหญ่ใจความของจังหวัดจัดการตนเอง หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ถ้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียว พูดแค่นี้จะยิ่งสับสน ว่ามีทั้งผู้ว่าฯ และนายก อบจ.จากการเลือกตั้ง

รูปแบบการปกครองของประเทศไทยเป็นแบบเดิมมา  ๑๓๐ ปีแล้ว เกิดอะไรขึ้นเมื่อ ๑๓๐ ปีที่แล้ว ซึ่งเดือนเมษายน  ๒๔๓๕ เกิดการปฏิรูปการปกครองโดยในหลวงรัชกาลที่ ๕ ที่มีการรวมศูนย์อำนาจการปกครองขึ้นมา ผมคิดว่ารูปแบบไม่ได้เปลี่ยนไปเลย

หลักใหญ่ใจความปัจจุบันของระบบรัฐไทยปัจจุบันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อดึงพลังของคนออกมาใช้ ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผลักดันให้คนในพื้นที่มีอำนาจ มีสิทธิเสรีภาพในการจัดการทรัพยากรของตัวเอง ในการออกแบบอนาคตพื้นที่ของตัวเอง

แต่ออกมาเพื่อการปกครอง การควบคุมคน

หลังการปฏิรูปราชการปี ๒๔๓๕  เวลา ๑๐ ปีหลังจากนั้นเกิดผีบุญขึ้นในภาคอีสาน และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ภาคเดียว  ในช่วงกลางทศวรรษที่ ๒๔๔๐ เกิดกบฏขึ้นทั่วประเทศ

ไม่ว่าจะเป็นผีบุญ ในภาคอีสาน กบฏเงี้ยว จ.แพร่ ในภาคเหนือ กบฏ ๗ หัวเมืองแขกในภาคใต้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ปี ๒๔๔๕ เกิดกบฏขึ้นทั่วทุกภาคเพื่อต่อต้านรูปแบบของรัฐไทยที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในปี ๒๔๓๕....” 

แล้ว "ธนาธร" สรุปว่า....

"ต้องกลับไปที่จุดเริ่มต้นที่ว่าอำนาจและสิทธิมันเป็นของท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่ถูกส่วนกลางดึงเอาไป เมื่อสมัยการปฏิรูปรัฐราชการสมัยรัชกาลที่ ๕"

ครับ..."ปิยบุตร" อาจไม่ได้อ่านรายละเอียดว่า "ธนาธร"  มีแนวคิดมากกว่าเลิก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  

 จะให้ย้อนกลับไปก่อนการปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๕ ด้วย

ไม่แน่ใจว่า "ธนาธร" ต้องการสื่อถึงอะไร

รัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปแบบการบริหารประเทศมิได้เปลี่ยนแปลงไปจากรูปแบบการบริหารในสมัยอยุธยามากนัก 

ล้าสมัยไม่เหมาะสมกับสภาพทางการปกครองและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประเทศไทยมีประชากร

เพิ่มขึ้น การคมนาคมและการติดต่อสื่อสารเริ่มมีความทันสมัยมากขึ้น

ที่สำคัญคือการล่าอาณานิคม

จึงต้องปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาติไทย จนนำพาประเทศ ให้รอดพ้นจากการถูกยึดครองจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก

หรือ "ธนาธร" จะให้หัวเมืองปกครองตนเอง

จะเอาแบบพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงเลียนแบบการปกครองของสุโขทัย คือ มีหัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช

หรือแบบสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ มีหัวเมืองชั้นนอกกำหนดเป็นหัวเมืองชั้นเอก โท ตรี ตามลำดับตามขนาดและความสำคัญของเมือง ทางส่วนกลางส่งขุนนาง หรือพระราชวงศ์ไปทำการปกครอง

แต่สำหรับเมืองประเทศราช ยังปล่อยให้มีอิสระในการปกครอง

จะเอาแบบไหนดี

ถ้าเล็ง "สาธารณรัฐ" เอาไว้ก็คงตอบไม่ยาก.                         

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง