ส.ว.จะซักฟอกรัฐบาล

ไม่แน่ซะแล้วซิครับ

มาลุ้นกันว่า จะเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันตกหรือเปล่า

วานนี้ (๑๓ มิถุนายน) มีท่าทีแปลกๆ สมาชิกวุฒิสภา ขึงขังจะตรวจสอบรัฐบาล

ถ้าเป็นจริงถือว่าเป็นเรื่องดีครับ

เพราะยิ่งตรวจสอบมากเท่าไหร่ รัฐบาลจะระมัดระวังในการทำหน้าที่มากขึ้นเท่านั้น 

กลับกันหากไม่มีการตรวจสอบเลย รัฐบาลจะเหลิงเอาง่ายๆ และคนที่จะเดือดร้อนคือประชาชนตาดำๆ อย่างเราๆ ท่านๆ นี่แหละครับ

"วันชัย สอนศิริ" นอกจากเป็นสมาชิกวุฒิสภาแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการวุฒิสภา  (วิปวุฒิสภา) อีกด้วย

"วันชัย" บอกว่า..."วุฒิสภาอาจพิจารณาดำเนินการขอเปิดประชุมวุฒิสภาเป็นการทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรี  (ครม.) แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ  มาตรา ๑๕๓ หลังจากที่สภาอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลแล้วเสร็จ

เหตุผลการยื่น...เพราะเชื่อว่าหลังจากนั้นจะเกิดประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะใกล้ช่วงเลือกตั้ง 

ทั้งนี้ ส.ว.ปรารภว่าช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา วุฒิสภาใช้เครื่องมือตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลได้ไม่เต็มที่   หากไม่อภิปรายโดยไม่ลงมติ อาจถูกมองว่าฮั้วกับรัฐบาล

ผมเห็นว่าควรที่จะต้องอภิปราย ไม่เช่นนั้นประชาชนจะมองว่าไม่กล้า และเป็นพวกเดียวกันหรือไม่ อีกทั้งวุฒิสภาในอดีตเคยปฏิบัติมาแล้ว

ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะยื่นเมื่อใด โดยจะต้องมีการปรึกษาหารือกันอีกครั้ง             

แต่เชื่อว่าหากยื่นจะต้องยื่นหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้แทนราษฎร และอนุมานว่าน่าจะใช้กลไกนี้ในสมัยประชุมต่อไป

 มีหลายประเด็นที่จะต้องสอบถามรัฐบาล ทั้งเรื่องการติดตามเร่งรัดการปฏิรูปประเทศซึ่งยังไม่คืบหน้า ดังที่หวังว่าจะสัมฤทธิผลใน ๕ ปี รวมถึงการปฏิรูปตำรวจด้วย

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ และยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในบ้านเมือง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการทุจริต ที่คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ ของวุฒิสภามีข้อมูลอยู่

ซึ่งการดำเนินการในการอภิปรายจะต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้เห็นว่าวุฒิสภาเป็นสภาที่ไม่กล้าทำอะไรและเป็นพวกเดียวกัน 

ยืนยันว่าการอภิปรายทั่วไป ไม่ใช่การฟอกขาวให้รัฐบาล เพราะไม่ได้ประโยชน์และอาจถูกด่า สังคมจะรับรู้เพราะทุกวันนี้เขามอง ส.ว.อยู่ จะกลายเป็นการเล่นละครตบตาประชาชนที่เป็นเรื่องน่าอาย

ดังนั้นต้องทำจริง มีเหตุผล และหวังผลจะแก้ไขอะไรได้ ถ้าทำเพื่อช่วยกันอยู่เฉยๆ ดีกว่า".....

 ฟังผ่านๆ นึกว่าพรรคฝ่ายค้านแถลงข่าว

แต่นี่เป็น ส.ว. ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช.

อ่านจบ ความคิดความเห็นน่าจะแบ่งเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่ง ไม่เชื่อว่า ส.ว.จะตั้งใจซักฟอกรัฐบาลจริง  น่าจะเล่นละครฟอกขาวให้รัฐบาลมากกว่า เพราะวุฒิสภาคือมรดกสืบทอดอำนาจของ คสช.

อีกทั้งรัฐธรรมนูญยังกำหนดบทบัญญัติให้วุฒิสภามีบทบาทในการสืบทอดอำนาจของ คสช.อีกด้วย โดยเฉพาะการมีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ขณะที่อีกฝ่ายมองว่า ตั้งใจจริง เพราะต้องสร้างบทบาทให้ตัวเอง

มันก็คิดได้ทั้ง ๒ ทางครับ แต่ทางไหนจะเป็นจริงมากกว่ากัน

หากวุฒิสมาชิกส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าผ่านมา ๓  ปีกว่ายังไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้เต็มที่ ก็เห็นด้วยครับว่า ถึงเวลาที่วุฒิสภาต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลบ้าง

พื้นฐานของมนุษย์ไม่มีใครทำถูกทุกเรื่องหรอกครับ  จะต้องมีการทำผิดพลาดโดยไม่ตั้งใจบ้าง หรือผิดพลาดโดยจงใจเพราะหวังประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม  ฉะนั้นหากมีการตรวจสอบจะทำให้ความผิดพลาดลดน้อยลงไปได้

ผู้ที่จะได้ประโยชน์คือประชาชน

เมื่อพูดถึงข้อผิดพลาดของรัฐบาลประยุทธ์ ตามที่ "วันชัย" ระบุถึง ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลับไม่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ

การปฏิรูปตำรวจยิ่งแล้วใหญ่

เศรษฐกิจตกต่ำ

คอร์รัปชัน

ล้วนยังคงเป็นปัญหารอแก้ไข

ก่อนนี้มีความคาดหวังจากประชาชนว่า รัฐบาลประยุทธ์ จะเข้ามาแก้ไขปัญหาหลักๆ ของประเทศได้ แต่ในข้อเท็จจริง หลายๆ ปัญหาใช่ว่าจะแก้ไขกันง่ายๆ

เพราะมันไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว

ยังมีปัญหาใหญ่ที่ "วันชัย" ไม่ได้พูดถึงคือ การปฏิรูปการเมือง

การปฏิรูปการเมือง จะต้องเริ่มต้นที่นักการเมืองต้องปฏิรูปตัวเอง หากนักการเมืองไม่ขยับ ร้อยรัฐบาลก็ทำอะไรไม่ได้

นักการเมืองคือใคร?

หลักๆ คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา   เพราะสมาชิก ๒ สภานี้มีหน้าที่ ออกกฎหมายที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองโดยตรง

ปฏิรูปการเมือง เท่าที่นักวิชาการให้ความหมายไว้ ก็คือ การผ่าตัดปรับเปลี่ยนโครงสร้างการจัดองค์กรทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง  เพื่อทำให้การพัฒนาทางการเมืองมีความเป็นประชาธิปไตยชนิดที่ประชาชนสามารถเข้าไปมีบทบาทได้มากขึ้น เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ มีวุฒิภาวะในการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ได้อย่างสันติวิธี

การปฏิรูปการเมืองมีเป้าหมายที่จะทำให้โครงสร้างการจัดองค์กรทางการเมืองแบบใหม่ สามารถมีบทบาทในการพัฒนาประเทศเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนใหญ่ในระยะยาวได้มากกว่าที่แล้วมา ซึ่งเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยในระยะสั้นเท่านั้น

รัฐธรรมนูญไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้โรคทุกอย่างได้ การปฏิรูปการเมืองที่แท้จริงจะต้องมุ่งปฏิรูปที่โครงสร้างทางอำนาจ โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย

ฉะนั้นเป็นคำถามกลับไปยังวุฒิสภาว่า ที่ผ่านมาได้แสดงบทบาทในการปฏิรูปการเมืองบ้างหรือยัง

มีแนวคิดต่อการปฏิรูปการเมืองอย่างไร

และรู้อยู่แล้วใช่หรือไม่ว่าการปฏิรูปการเมืองคือการเปิดประตูไปสู่การแก้ไขปัญหาอื่นๆ

สรุปแล้ว ก็เป็นเรื่องดีครับที่ วุฒิสภา จะเปิดซักฟอกรัฐบาลแบบไม่ลงมติ เพราะข้อผิดพลาดของรัฐบาลยังมีให้เห็นอยู่

แต่ต้องตรวจสอบอย่างมีเหตุผล อย่าใช้ความรู้สึกแบบที่ฝ่ายค้านทำ

และอย่าใช้เป็นเกมเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของบางคนบางกลุ่ม เพราะการทำเช่นนั้นเป็นการปิดประตูตายการปฏิรูปการเมือง

หากเกิดปรากฏการณ์สมาชิกวุฒิสภาเปลี่ยนขั้่วการเมืองไปซบระบอบทักษิณ จะเป็นการเปิดอีกมิติของการเมืองไทย

ในอดีต ส.ว.มีค่ายได้รับเงินเดือนจากพรรคการเมือง  ๕๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท

เชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นกับ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย คสช.ที่รัฐประหารรัฐบาลระบอบทักษิณ ด้วยเหตุผลหลักคือ...     คอร์รัปชัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ