ไทยกับการรักษาระยะห่าง ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

ช่วงหลังนี้มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ มาเยือนไทยค่อนข้างถี่...และล้วนโยงกับเรื่องต่างประเทศและความมั่นคงทั้งสิ้น

ล่าสุดรัฐมนตรีกลาโหม Lloyd Austin มาพบกับนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกลาโหมด้วย

หนีไม่พ้นว่าจะต้องพูดถึงเรื่องความมั่นคง, สงครามยูเครน และความร่วมมือในภูมิภาค Indo-Pacific ที่วอชิงตันวางตนเป็นผู้คุมเกมอยู่ขณะนี้

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากิจกรรมของสหรัฐฯ มุ่งจะสกัดการขยายอิทธิพลและบทบาทของจีนในภูมิภาคนี้ด้วยอย่างแน่นอน

ก่อนหน้านั้นไม่กี่วันไทยก็ได้ต้อนรับคนสำคัญของกองบัญชาการทหารภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ

เขาคือ พลเรือเอกจอห์น ซี. อากีลีโน ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา (U.S. Indo-Pacific Command) ที่มาเยือนระหว่างวันที่ 7-9 มิถุนายนนี้

มาในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ กับไทย (U.S.-Thai Senior Leader Dialogue) ครั้งแรก

การเยือนครั้งนี้เป็นการเดินทางมาไทยครั้งที่ 2 ของ พล.ร.อ.อากีลีโน ในตำแหน่งนี้

ขณะเดียวกัน Derek Chollet ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนไทย สิงคโปร์ และบรูไน วันที่ 7-14 มิถุนายน 

ในแต่ละจุดแวะพัก เขาจะติดตามผลการประชุมสุดยอดพิเศษสหรัฐฯ-อาเซียน เมื่อเดือนที่แล้วในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรและพันธมิตรเพื่อฟื้นฟูเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของพม่า

 ในประเทศไทย ที่ปรึกษาโชเลต์จะพบปะกับเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นทวิภาคีและพหุภาคีต่างๆ ตลอดจนพบปะกับองค์กรด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับความพยายามของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนประชาชนชาวพม่า 

ที่สิงคโปร์ โชเลต์จะเข้าร่วมการสนทนาแชงกรี-ลา และเข้าร่วมการอภิปรายเกี่ยวกับความขัดแย้งในพม่ากับเจ้าหน้าที่อาวุโส 

และที่บรูไน เขาจะพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศ II Erywan Yusof และเจ้าหน้าที่อาวุโสคนอื่นๆ รวมถึงผู้นำภาคประชาสังคม

อีกด้านหนึ่ง ในสัปดาห์เดียวกัน รองนายกรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ Wendy Sherman ก็แบ่งสายไปเยือนฟิลิปปินส์ เวียดนาม และลาวแล้ว

กระทรวงต่างประเทศที่วอชิงตันรายงานว่า การเยือนของระดับนำจากสหรัฐฯ ยังเน้นย้ำถึง “ความมุ่งมั่นอย่างลึกซึ้งของสหรัฐฯ ที่มีต่ออาเซียน และหุ้นส่วนทวิภาคีที่สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ไม่ต้องสงสัยว่าจีนและรัสเซียต้องจับตาความเคลื่อนไหวล่าสุดของสหรัฐฯ ในอาเซียนด้วยความระแวดระวังท่ามกลางความตึงเครียดในยูเครน, ไต้หวันและเกาหลีเหนือ

ทั้งหมดนี้เกี่ยวอะไรกับข้อสังเกตของนักวิเคราะห์บางคนที่บอกว่าไทยกำลังถูกสหรัฐฯ ดึงเข้าไปเป็นพันธมิตรเพื่อจะสกัดจีนหรือไม่

หรือไทยเรากำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่เจ้าหน้าที่จีนบางคนเรียกว่าเป็น “NATO เอเชีย” หรือ “นาโต 2” หรือไม่

ร้อนถึง คุณธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องออกแถลงการณ์ยืนยันว่าข้อกล่าวหาเช่นนี้เป็นเพียง

“วาทกรรมที่ไม่มีพื้นฐานอยู่บนข้อเท็จจริง”

โฆษกกระทรวงต่างประเทศย้ำว่า

ไทยมีเพียงความร่วมมือทวิภาคีด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศเท่านั้น และไม่ได้เป็นภาคีความร่วมมือทางทหารที่มีเป้าประสงค์ในการป้องกันร่วมกัน (collective defence) ซึ่งถือว่าการรุกรานประเทศหนึ่งเป็นการรุกรานทุกประเทศที่เป็นภาคีในสนธิสัญญา ดังเช่น สนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO)

คุณธานีพูดถึงเอกสารยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ มีคนสงสัยว่าเป็นการดึงไทยเข้าไปร่วมด้วยหรือไม่

ท่านชี้แจงว่าสหรัฐฯ จัดทำขึ้นฝ่ายเดียวเพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ กับแต่ละภูมิภาค ไม่ใช่ความตกลงกับประเทศใดทั้งสิ้น

ส่วนกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework : IPEF) มีขึ้นเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและครอบคลุม และเสริมสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนใน ๔ เสาความร่วมมือ

ได้แก่ ๑) การค้า ๒) ห่วงโซ่อุปทาน ๓) พลังงานสะอาด การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และโครงสร้างพื้นฐาน และ ๔) ภาษีและการต่อต้านการทุจริต โดยไม่มีการลงนามและไม่มีถ้อยคำหรือบริบทที่จะทำให้เกิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

คำถามคือ ไทยเราถูกมหาอำนาจกดดันให้ไปถือหางข้างใดข้างหนึ่งหรือไม่

คุณธานียืนยันว่าไทยดำเนินนโยบายการต่างประเทศที่สมดุลกับมิตรประเทศตลอดมา

โดยยึดความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia : TAC) ที่ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพของภูมิภาคโดยการระงับข้อพิพาทอย่างสันติ สนธิสัญญา TAC มีอัครภาคีรวมทั้งสิ้น ๔๐ ประเทศ รวมถึงสมาชิกถาวรแห่งคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติทั้ง 5 ประเทศ

โดยไทยมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นราบรื่นทั้งกับจีนและสหรัฐฯ ดังเห็นได้จากการเยือนระดับสูงกับทั้งจีนและสหรัฐฯ เช่น

เมื่อ ๑-๒ เมษายน ศกนี้ คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนที่เมืองหวงซาน มณฑลอานฮุย ตามคำเชิญของนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน โดยนำคณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจของไทยร่วมคณะเดินทางด้วย เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างไทยกับจีน

และขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน และความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่าง EEC กับเขตเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำแยงซี (Yangtze River Delta : YRD)

ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจแนวหน้าของจีน และมีมณฑลอานฮุยเป็นสมาชิก และหารือถึงผลประโยชน์ร่วมกันทั้งในกรอบทวิภาคี อนุภูมิภาค (แม่โขง-ล้านช้าง) และภูมิภาค (อาเซียน-จีน) และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สนใจร่วมกัน

และเมื่อ ๑๒-๑๓ พฤษภาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ ๒  ที่สหรัฐฯ เพื่อฉลอง ๔๕ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐฯ โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคหลังโควิด-๑๙

ทั้งหมดนี้คือแนวทางการชี้แจงของกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งควรจะต้องมีการสื่อสารกับคนไทยที่สนใจติดตามเรื่องราวระหว่างประเทศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มิใช่รอให้มีการแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลแล้วจึงออกมา “ตอบโต้” ซึ่งจะไม่เกิดความกระจ่างแจ้งเท่าที่ควร

การทูตวันนี้คือ “การทูตประชาชน” ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐกับประชาชน และผู้เห็นต่างที่กว้างขวางและครบทุกมิติมากขึ้นกว่าที่ผ่านมาอย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร