ต้นทุนพุ่งสินค้าทยอยขึ้นราคา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้กดเศรษฐกิจทั่วโลกไว้ จนกระทั่งการแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลเปิดประเทศ ทำให้กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจเริ่มมีการเคลื่อนไหว

ซึ่งทุกอย่างดูเหมือนจะเริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่สงครามที่เกิดขึ้นระหว่างยูเครนและรัสเซียกลับกลายเป็นปัจจัยที่กดเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังฟื้นให้ชะลอตัวลงมาอีก

ซึ่ง ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ระบุว่า ราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2564 มีแนวโน้มว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นคล้ายจะชะลอตัวลงในช่วงต้นปี 2565 แต่ภายหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน จึงเป็นแรงกดดันระลอกใหม่เข้ากดดันภาคธุรกิจต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนี้ยังส่งผลต่อภาคการเกษตร ที่อุปทานสินค้าเกษตรหลายรายการเริ่มประสบภาวะขาดแคลน ส่งผลต่อเงินเฟ้อกลุ่มอาหารที่ทะยานสูงขึ้นชัดเจนในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

ทิศทางของปัจจัยราคาพลังงาน ต้นทุนค่าขนส่ง และราคาวัตถุดิบทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตรที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกัน ส่งผลให้ผู้ประกอบการเริ่มประสบปัญหาในการรับต้นทุน โดยดัชนีราคาผู้ผลิตในช่วงครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเริ่มมีสัญญาณการส่งผ่านราคาไปยังผู้บริโภค สะท้อนผ่านดัชนีราคาผู้บริโภคที่ทะยานตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี ที่ระดับ 7.66% ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และทำให้ในครึ่งปีแรกเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งตามสภาวการณ์ปัจจุบัน แนวโน้มแรงกดดันฝั่งต้นทุนคาดว่ายังไม่จบลงในระยะสั้น

ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี จึงประเมินว่า ปี 2565 นับเป็นปีที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ จากภาวะต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแรงกดดันหลายระลอก และคาดว่าช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แรงกดดันฝั่งต้นทุนของผู้ประกอบการยังส่งผลต่อเนื่อง ทำให้ราคาสินค้ามีแนวโน้มทยอยปรับตัวเพิ่ม หลังเริ่มมีสัญญาณบ่งชี้ผ่านดัชนีราคาผู้บริโภคที่ทะยานสูงเกิน 7% ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา

ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบเร่งรับมือจัดการต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ควบคู่กับการบริหารจัดการตลาด จะช่วยรักษาพื้นที่กำไรให้คงอยู่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565  ด้วยการวิเคราะห์ผ่านงบการเงินและธรรมชาติของภาคธุรกิจ จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 35,000 บริษัท บนสมมติฐานความเป็นไปได้ในการส่งผ่านราคาสินค้าไปยังผู้บริโภค ประกอบด้วยปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ ความสามารถในการปรับราคา และความจำเป็นในการขี้นราคาสินค้า 

โดยกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาสูง เป็นกลุ่มที่ลักษณะสินค้าและบริการของอุตสาหกรรมมีความจำเป็นในการดำรงชีพของผู้คน สินค้ามีคุณสมบัติที่ไม่สามารถใช้สินค้าอื่นทดแทนได้ง่าย รวมถึงการแข่งขันด้านราคาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเดียวกันอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ส่งผลให้การส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นเรื่องที่ผู้บริโภคเผชิญอยู่เป็นระยะ ส่วนกลุ่มที่มีความจำเป็นในการปรับราคานั้น แบ่งเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นสูง เช่น สินค้ากลุ่มพลังงาน เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมิคอล และวัสดุก่อสร้าง, กลุ่มที่มีความจำเป็นปานกลางถึงต่ำ เช่น ผู้ค้าส่งข้าว ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า และธุรกิจสุขภาพ

และกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับราคาต่ำ เป็นกลุ่มที่ลักษณะสินค้ามีความจำเป็นไม่สูงต่อการดำรงชีพ เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กระดาษและสิ่งพิมพ์ หรือเป็นกลุ่มที่มีสินค้าป้ายราคา เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค และเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงกลุ่มโทรคมนาคมที่ราคาขายอยู่บนสัญญาระยะยาว เป็นต้น กลุ่มนี้การปรับราคาสินค้าอาจเป็นเรื่องที่ยากลำบาก และอาจต้องใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสม รวมถึงควรใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เน้นเจาะตลาดบนที่มีกำลังซื้อสูง

ดังนั้น ด้วยข้อจำกัดของการปรับราคา อาจกระทบอุตสาหกรรมที่มีความจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนทางตรงที่สูง เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ควรเร่งพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และเน้นตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อรักษาหรือเพิ่มพื้นที่กำไรในช่วงที่ต้นทุนหลายด้านยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าปัจจัยที่กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ยากจะควบคุม โดยเพราะราคาพลังงาน ดังนั้นการใช้พลังงานอย่างประหยัดและถูกต้องจึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐควรรณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนอย่างยั่งยืนกันเสียที ไม่ใช่แบบเช้าชามเย็นชาม พอพลังงานแพงที่ก็รณรงค์กันที.

บุญช่วย ค้ายาดี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต