จาก 'จอมพล ป.' ถึง 'ป.ประยุทธ์'

เปิดตัวกันคึกคัก

การบ้านการเมืองช่วงนี้ต้องจับตากันดีๆ เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้

จากปม นายกฯ ๘ ปี มาสู่การเตรียมความพร้อมทางการเมืองของหลายๆ พรรคการเมือง ที่พากันเคลื่อนไหวถี่ยิบ บ่งบอกถึงอะไร?

ฮอตสุดช่วงนี้หนีไม่พ้นพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

พรรคการเมืองนี้ จะประชุมใหญ่วิสามัญในวันที่ ๓  สิงหาคม เพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่

ตามข่าวยืนยันค่อนข้างชัดเจน

 "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" เป็นหัวหน้าพรรค

"เอกนัฏ พร้อมพันธุ์" เป็นเลขาธิการพรรค

นับนิ้วกันแทบไม่ถูกแล้วว่า คนของพรรคประชาธิปัตย์แยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่แล้วกี่พรรค

แน่นอนครับกระทบต่อการเติบโตของพรรคประชาธิปัตย์ในอนาคตโดยตรง

ไม่มีใครรู้ได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะกลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีตได้หรือไม่ รู้แค่ว่าขณะนี้การย้ายออกไปตั้งพรรคใหม่ของคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ใช่การแตกแบงก์พันรองรับการเลือกตั้งระบบใหม่

แต่แตกเพราะต่างอุดมการณ์

พรรครวมไทยสร้างชาติ เช่นกัน แยกตัวมาเพราะคิดต่าง

วานนี้ (๑ สิงหาคม) "พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" ยังนั่งในเก้าอี้ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นการส่วนตัว ใช้เวลาพูดคุยประมาณ ๒๐ นาที

ทุกสายตาจับจ้องไปที่ "ลุงตู่" ว่าสุดท้ายแล้วจะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองอย่างไร

อยู่พลังประชารัฐต่อ

หรือจะไปรวมไทยสร้างชาติ

หากประเมินในแง่ความสำเร็จทางการเมือง หลังการรัฐประหาร ถือว่าพรรคพลังประชารัฐไปได้สวยกว่าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมารองรับคณะรัฐประหารพรรคอื่นๆ ในอดีต

ย้อนกลับไปปี ๒๔๙๘ พรรคเสรีมนังคศิลาก่อกำเนิดขึ้น   หลังการรัฐประหาร ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๔ นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง

จอมพล ป. รับบทเป็นหัวหน้าพรรค พลตำรวจเอกเผ่า  ศรียานนท์ เป็นเลขาธิการพรรค

ส่วนกรรมการบริหารเบอร์ใหญ่ทั้งนั้น สฤษดิ์ ธนะรัชต์, ประภาส จารุเสถียร

ในการเลือกตั้ง ๒๖ กุมภาพันธ์ ปี ๒๕๐๐ พรรคเสรีมนังคศิลาชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ ได้ ส.ส. ๘๖ ที่นั่ง จากจำนวน ส.ส.ในสภา ๑๖๐ คน

เกินกึ่งหนึ่งของสภา

แต่เป็นการชนะเลือกตั้งบนพื้นฐานของการโกงมากที่สุดเช่นกัน

มีทั้งอุบายไพ่ไฟ ใช้อันธพาลก่อกวน

มี ส.ส.อยู่ในมือมากมิได้หมายความว่า รัฐบาลจะอยู่ยาว

เลือกตั้งต้นปี ท้ายปีถูกรัฐประหาร

๑๖ กันยายน ปี ๒๕๐๐ จอมพลสฤษดิ์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.

พรรคเสรีมนังคศิลาล้มเหลวบนเส้นทางการเมืองอย่างสิ้นเชิง 

พรรคสามัคคีธรรม ก่อตั้งหลังการทำรัฐประหาร ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ นำโดย พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ

มี "ณรงค์ วงศ์วรรณ" เป็นหัวหน้าพรรค "ฐิติ นาครทรรพ" เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคสามัคคีธรรมมีที่มาคล้ายคลึงกับพรรคเสรีมนังคศิลา คือตั้งขึ้นเพื่อเป็นฐานทางการเมืองให้คณะรัฐประหาร

เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ พรรคสามัคคีธรรม ชนะการเลือกตั้ง ได้ ส.ส. ๗๙ คน จากจำนวน ส.ส.ในสภา ๓๖๐ คน

แม้พรรคสามัคคีธรรมจะเป็นพรรคอันดับ ๑ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่อายุรัฐบาลกลับสั้นอย่างเหลือเชื่อ

การที่พรรคสามัคคีธรรมสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ทำให้เกิดการลุกฮือของประชาชน และนำไปสู่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

พล.อ.สุจินดา เป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียง ๔๗ วันเท่านั้น

พรรคมาตุภูมิ ก่อตั้งหลังการรัฐประหารปี ๒๕๔๙ โดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. เป็นผู้นำยึดอำนาจรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร

พรรคมาตุภูมิ เป็นการเปลี่ยนชื่อมาจากพรรคราษฎร  เป็นการรวมตัวของสมาชิก ส.ส.กลุ่มวาดะห์ และกลุ่มปากน้ำของ "วัฒนา อัศวเหม"

ได้เชิญ พลเอกสนธิ เป็นหัวหน้าพรรค และ ดร.มั่น พัธโนทัย เป็นเลขาธิการพรรค

แต่พรรคมาตุภูมิกลับเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นรองรับคณะรัฐประหารที่ไม่ประสบความสำเร็จทางการเมืองเลย กลายเป็นพรรคต่ำสิบ

สุดท้ายต้องยุบรวมกับพรรคชาติไทยพัฒนา

ที่น่าสนใจคือ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีในประเทศไทย ในเดือนธันวาคม ปี ๒๕๕๑ ที่ประชุมสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเพื่อให้สมาชิกลงมติเลือก ๒ คน

คือ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์

พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก จากพรรคเพื่อแผ่นดิน   โดยการสนับสนุนของพรรคระบอบทักษิณ

ในครั้งนั้น ส.ส.พรรคมาตุภูมิ ที่มีอยู่ ๓ คน ลงมติสนับสนุน พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก เป็นนายกรัฐมนตรี

พรรคที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนายพลที่ทำการรัฐประหาร ยกมือสนับสนุน กลุ่มการเมืองที่ถูกทำรัฐประหาร

มาถึงพรรคพลังประชารัฐ

หลังรัฐประหาร ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะนายทหารใน คสช.วางแผนตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานการเมือง ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับ การตั้งพรรคเสรีมนังคศิลา พรรคสามัคคีธรรม และพรรคมาตุภูมิ

แต่ยุคสมัยเปลี่ยนทำให้การวางหมากเปลี่ยนไปด้วย

พรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคการเมืองที่รวมเอาคนเก่าของระบอบทักษิณ กับแกนนำมวลชน และนักการเมืองที่ต่อต้านระบอบทักษิณมารวมด้วยกัน

การเลือกตั้งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๖๒ แม้พรรคพลังประชารัฐไม่ใช่พรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้ ส.ส.เป็นลำดับที่ ๑  แต่กลับเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงโหวตมากที่สุด ๘,๔๔๑,๒๗๔ เสียง

ขณะที่คู่แข่งสำคัญคือพรรคเพื่อไทยได้ ๗,๘๘๑,๐๐๖  เสียง

พรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้วร่วมๆ ๓ ปีครึ่ง

ถือเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับคณะรัฐประหารที่มีอายุยืนยาวมากที่สุดพรรคการเมืองหนึ่ง

และยังเป็นรัฐบาลยาวนานกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งหลายๆ รัฐบาลอีกด้วย

แต่วันนี้สถานการณ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

เกิดพรรคการเมืองใหม่ๆ หลายพรรคในสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจากกรณี "นายกฯ ๘ ปี"

พรรครวมไทยสร้างชาติ คือหนึ่งในพรรคการเมืองที่คาดหมายว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกสมัยในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากสามารถผ่านวิกฤต "นายกฯ ๘ ปี" ไปได้

ปี่กลองเชิดแล้ว

อุบัติเหตุทางการเมืองเกิดขึ้นได้เสมอ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ