การเมืองในทางทฤษฎี

ก็จริง...

ตราบเท่าที่ยังไม่มีการยุบสภา ลาออก หรือสภาอยู่ครบวาระ จะให้ "ลุงตู่" บอกว่าจะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่นนอกจากพรรคพลังประชารัฐคงไม่ได้

อย่างน้อยๆเรื่องมารยาททางการเมืองมันต้องมี

"จะให้ตัดสินใจอะไรล่ะ ก็วันนี้ผมก็อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ  ไม่ใช่หรือ แล้วจะไปที่ไหน เขาเป็นผู้สนับสนุนให้ผมเป็นนายกรัฐมนตรีใช่หรือเปล่า"

 “ก็ตอนนี้ก็ยังยืนยันเช่นนี้มาตลอด มีปัญหาอะไรหรือ”

เป็นคำพูดที่ "ลุงตู่" ตอบนักข่าววานนี้ (๒สิงหาคม)

การเมืองว่ากันเป็นเทอม

แต่ละเทอมอายุอาจไม่เท่ากัน

และเทอมนี้ของ "ลุงตู่" ตีความกันไปคนละทิศละทาง แล้วแต่จะเอื้อประโยชน์ให้ใคร

สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้เข้าด้ายเข้าเข็มจริงๆ เพราะจะมีเหตุการณ์สำคัญๆ มาประจวบเหมาะให้ต้องลุ้นกันว่า การเมืองไทยจะพลิกโฉมก่อนสิ้นปีนี้หรือไม่

วันก่อนพูดเรื่อง วาระ ๘ ปีของนายกรัฐมนตรีไปแล้ว ยังมีเงื่อนปมอื่นๆเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่ออนาคตการเมืองไทยเช่นกัน

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.  ถ้าเป็นหญิงสาว คงจะอยู่ในสภาพถูกรุมโทรม

เป็นร่างกฎหมายที่ถูกรุมทึ้งมากที่สุดฉบับหนึ่ง เพราะนักการเมืองแต่ละฝ่ายต้องการประโยชน์จากร่างกฎหมายฉบับนี้

อยากเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเลือกตั้งกันทั้งนั้น

ไทม์ไลน์ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กำหนดต้องแล้วเสร็จภายใน ๑๘๐ วัน คือวันที่ ๑๕ สิงหาคมนี้

แต่ยังมีกฎหมายค้างอยู่  อาทิ พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ…. ร่าง พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการกระบวนการยุติธรรม พ.ศ…..

ว่ากันตามจริงมีบางพรรคอยากให้ร่าง ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ตกไปเพราะพิจารณาไม่ทัน

เพื่อที่จะกลับไปให้สูตรหาร ๑๐๐ ตามร่างเดิม คือร่างเก่าของกกต.

ก็ต้องรอดู วันประชุมสภาที่เหลืออยู่ไม่กี่วันนี้ จะมีฝ่ายไหนสามารถใช้กำลังภายในพลิกสถานการณ์ เพื่อให้ตัวเองได้ประโยชน์สูงสุดหรือไม่

หาร ๑๐๐ แน่นอนครับว่า พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยต้องการมากที่สุด เป็นหนทางนำไปสู่การเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ได้

หาร ๕๐๐ พรรคเกิดใหม่กับพรรคเล็กต้องการมากที่สุดเช่นกัน เพราะอย่างน้อยๆมีโอกาสได้ส.ส.ปาตี้ลิสต์ติดไม้ติดมือกลับมาบ้าง

แต่อย่าลืมประเด็นลับลวงพรางที่ทับซ้อนกันอยู่ พรรคการเมืองใหญ่บางพรรคอาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงจากการตัดสินใจในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.นี้

ยกตัวอย่างกรณีของ  "สมศักดิ์ เทพสุทิน" วันนี้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่อนาคตยังไม่รู้

"สมศักดิ์" ให้ทัศนะต่อร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ว่า

"...ส่วนตัวยังยืนยันว่าสูตรหาร ๕๐๐ นั้นมีข้อเท็จจริงตามที่ยืนยันแล้วว่ามันย้อนแย้งกัน และถ้าตามสูตรคณิตศาสตร์ตัวเลขที่ออกมาก็เห็นได้ชัดไม่ต้องมาถกเถียงกัน เพราะจะเห็นว่าตัวเลขที่ออกมานั้นจะมีผลกระทบมากมาย..."

และอีกคำถามที่น่าสนใจ คือจะย้ายพรรคไปไหนหรือไม่?

คำตอบคือ....

"อย่าเพิ่งถามอย่างนี้มันเร็วไปมาก เอาว่าวันนี้ให้เดินไปด้วยความเรียบร้อยและทุกคนจะตัดสินใจว่าในส่วนพรรคเล็กๆที่เกิดขึ้นมานั้น ใครเหมาะกับตรงนั้นหรือไม่เหมาะกับตรงนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้เขาทำพรรคการเมืองที่เหมาะสมได้คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมาก..."

ก็ไม่ทราบครับว่า "สมศักดิ์" คิดอะไรอยู่ แต่ตามปกติแล้ว นักการเมืองที่ยืนยันสังกัดพรรคเดิมต่อไปจะพูดอีกแบบ

ไม่ใช่..อย่าเพิ่งถามอย่างนี้มันเร็วไป

ฉะนั้นไม่เฉพาะ "สมศักดิ์" แต่กลุ่มสามมิตร คนเก่าคนแก่ของทักษิณ  อาจตัดสินใจในอนาคตทางการเมืองของตนเอง โดยมี ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. เป็นปัจจัยสำคัญ

หากพลิกกลับไปหาร ๑๐๐  โอกาสที่รัฐบาลหน้าจะเป็นพรรคเพื่อไทยสูงมาก

นักการเมืองสายพันธุ์ที่คิดแต่เรื่องจะเป็นรัฐบาล เขาหาทางหนีทีไล่ไว้แล้วครับ

คำพูดยืนยันสถานะระหว่าง "ลุงตู่" กับ "สมศักดิ์" แม้จะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า เลือกตั้งครั้งหน้าฝุ่นตลบเป็นประวัติการณ์

แต่ละพรรคการเมืองจึงไม่อาจยืนยันอะไรได้ทั้งนั้น จนกว่าจะถึงวันที่กกต.เปิดรับสมัครส.ส.

ว่ากันตามเกม การที่พรรคพลังประชารัฐเปลี่ยนใจไปเอาหาร ๕๐๐ ก็เพราะความไม่มั่นใจว่าจะเอาชนะพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งได้นั่นเอง

และสูตรนี้ทำให้พรรคเพื่อไทยสะดุด ไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยแม้คนเดียวในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ส่วนสูตรหาร ๑๐๐ มีหลักให้จำฝ่ายๆคือ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ได้จำนวนส.ส.เขตมาก  ก็จะยิ่งได้ที่นั่งในสภาเพิ่มอีกจากส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ที่เพิ่มขึ้นตามสัดส่วน

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.  จึงมีความสำคัญต่อทุกพรรคการเมืองอย่างยิ่งยวด

ออกมาหาร ๕๐๐ การเมืองจะเป็นโฉมหนึ่ง

แต่หากออกมาหาร ๑๐๐ การเมืองจะพลิกเป็นอีกโฉมเช่นกัน

คงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กระมั่ง ที่ระบบการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินอนาคตของนักการเมือง

นำไปสู่การย้ายพรรคกันขนานใหญ่ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง

ฉะนั้นพรรคใหม่ที่ตั้งขึ้นในวันนี้บางพรรค อาจโตพรวดเป็นพรรคขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ได้เช่นกัน หากผู้นำพรรคมีกระแสตอบรับจากประชาชนมากพอ

และอาจทำให้พรรคใหญ่บางพรรคกลางเป็นพรรคเล็กในพริบตาเดียว

กรณีพรรคพลังประชารัฐ กับพรรครวมไทยสร้างชาติ จึงน่าจับตามองเป็นพิเศษ

วันนี้ "ลุงตู่" ยืนยันยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ

แต่วันข้างหน้า "ลุงตู่" ยังไม่พูดถึง  เพราะยังไม่ถึงเวลา

สถานการณ์ทางการเมืองปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

หาก "ลุงตู่"ผ่านกรณี นายกฯ ๘ ปีไปได้  และมีคำอธิบายที่ชัดเจน แน่นอนครับ "ลุงตู่" จะเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยที่ทำหน้าที่เป็นประธานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค

และหาก "ลุงตู่" ใช้เวทีนี้เพื่อประโยชน์ของประเทศได้สูงสุด   ทั่วโลกพากันยกย่องในความสำเร็จของไทยในฐานะเจ้าของเวทีระดับโลก

"ลุงตู่" ยังขายได้ในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

มีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีได้ถึงเดือนมิถุนายน ๒๕๗๐.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ

ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นักการเมืองคนไหนที่บอกว่า "รวยพอแล้ว" อย่าไปเชื่อ เพราะถ้าพอจะไม่แสวงอำนาจการเมือง