นายกฯ ๒ รัฐธรรมนูญ

รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม

วานนี้ (๕ สิงหาคม) "ศรีสุวรรณ จรรยา" นักร้องเบอร์  ๑ เจ้าเก่า ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กรณี นายกฯ ๘ ปี

ชิงตัดหน้าฝ่ายค้านไป เรียบร้อยโรงเรียนพี่ศรี

ก็คงต้องรอถึงวันที่ ๒๔ สิงหาคมครับ ถึงจะส่งต่อไปให้ศาลรัฐธรรมนูญได้      

เพราะก่อนวันที่ ๒๔ สิงหาคม ถือว่าเหตุยังไม่เกิด

คำร้องของพี่ศรี เขียนมาชัดเจนดี

สรุป ๓ ความคิด "ลุงตู่ ๘ ปี" มีดังนี้

ความคิดแรก อยู่ได้แค่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๕

เหตุผลคือ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ไม่ได้บัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลให้มีการยกเว้นการนำมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ มาบังคับใช้กับนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญประกาศใช้

ฉะนั้นระยะเวลา ๘ ปีตาม ม.๑๕๘ วรรคสี่ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงเริ่มนับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๔  สิงหาคม ๒๕๕๗ 

ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึงเพียงไม่เกินวันที่ ๒๔ สิงหาคมที่จะถึงนี้

ความคิดที่สอง อยู่ได้จนถึงปี ๒๕๗๐

เหตุผลคือ เนื่องจากหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม ไม่บังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ถ้าจะบังคับใช้ต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน

ถ้ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประสงค์จะให้บังคับใช้ย้อนหลัง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ก็จะต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ๒ ครั้งตามที่กล่าวไว้

ครั้งที่ ๑ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ 

และครั้งที่ ๒ ตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ 

กรณีนี้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ม.๑๕๘ วรรคสี่ จึงเพิ่งจะบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ นับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ ๒  เมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๖๒

ฉะนั้น พล.อ.ประยุทธ์จึงจะดำรงตำแหน่งครบ ๘ ปีในปี ๒๕๗๐

และความคิดที่สาม อยู่ได้ถึงปี ๒๕๖๘ 

เหตุผลคือ รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ประกาศบังคับใช้เมื่อ  ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาอยู่ในบังคับของ ม.๑๕๘ วรรคสี่ ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ 

ดังนั้นการนับระยะเวลา ๘ ปี ต้องเริ่มนับแต่จุดนั้น ซึ่งจะไปครบในปี ๒๕๖๘ นั่นเอง

ครับ...หากรัฐธรรมนูญของไทยใช้มาฉบับเดียวต่อเนื่องยาวนาน กรณีนี้จะไม่เกิดขึ้น ต่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในภายหลังว่าห้ามนายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งเกิน ๘ ปีก็ตามที

เพราะจะไปย้อนหลังกับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคาบเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้

รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายมหาชน (Public Law)  บังคับใช้ย้อนหลังได้หรือไม่ นักกฎหมายต่างก็รู้กันดี

ที่ยกกรณีรัฐธรรมนูญฉบับเดียวมีการบังคับใช้ยาวนานแล้วมาแก้ไขทีหลัง ก็เพื่อเปรียบเทียบกับกรณีรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับที่บังคับใช้ต่อเนื่องกัน ซึ่งบัญญัติไม่เหมือนกันจะตีความกฎหมายอย่างไร

สมมุติว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ที่้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีห้ามเกิน ๘ ปี มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ แน่นอนครับ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งในวันที่ ๒๔  สิงหาคม นี้

สมมุติต่อครับว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ ไม่ได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้ แต่เพิ่งจะมีการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อปี ๒๕๖๐ ให้ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน ๘ ปี

พล.อ.ประยุทธ์ ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ จะพ้นตำแหน่งปีไหน?

ถ้าตีความย้อนหลังก็หมดวาระ ๒๔ สิงหาคมนี้เหมือนเดิม

แต่หากหลักกฎหมายระบุว่าห้ามตีความย้อนหลัง ก็ต้องเริ่มนับหนึ่งปี ๒๕๖๐ ใช่หรือไม่

ครับ...ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียว ต่อให้มีการแก้ไขระหว่างทาง การตีความจะไม่ยาก

แต่พอเป็นรัฐธรรมนูญ ๒ ฉบับต่อเนื่องกัน ปัญหามันก็เกิด

มีทั้งปัญหาข้อกฎหมายว่าจะตีความแบบไหน และปัญหาความไม่ชอบในตัวรัฐธรรมนูญที่มองว่าเป็นเผด็จการ

เช่นที่ "ชูชาติ ศรีแสง" อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฎีกา โพสต์เอาไว้ในเฟซบุ๊ก Chuchart Srisaeng

"...เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงแหน่ง นายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปัจจุบัน

มาตรา ๑๕๘ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน

นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่  แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง

บทบัญญัติในมาตรา ๑๕๘ วรรคสี่ ที่ว่า นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้นั้น ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง ที่ว่า นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๕๙

มาตรา ๑๕๙ ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๖๐ และเป็นผู้มีชื่ออยู่ ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา ๘๘ เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรค การเมืองที่มีสมาชิก ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

การเสนอชื่อตามวรรคหนึ่งต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องกระทําโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕๘ วรรคสอง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ คิดถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง ๓ ปี ๑ เดือน ๖ วันเท่านั้น

การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ก่อนวันที่  ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ มิได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา  ๑๕๘ วรรคสอง จึงนำเวลามารวมกันตามมาตรา ๑๕๘  วรรคสี่ ไม่ได้

การอ่านและตีความกฎหมายในกรณีที่มีหลายวรรคนั้น ต้องพิจารณาประกอบกันทุกวรรค มิใช่นำมาพิจารณาใช้เพียงวรรคเดียวโดยมิได้นำวรรคอื่นมาพิจารณาประกอบด้วย...

ในแง่กฎหมายอาจตีความต่างกันได้ แต่ไม่ถูกใจก๊วนไล่ "ลุงตู่" แน่นอน

"ท่านชูชาติ" ไม่นำวาระการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ มาเกี่ยวข้อง เพราะมิได้กำหนดวาระการดำรงตำแหน่งเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นรัฐธรรมนูญคนละฉบับ

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการเลือกตามมาตรา  ๑๕๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ 

จึงต้องนับ ๑ ในวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๖๒ 

ครบ ๘ ปีในปี ๒๕๗๐     

แต่สุดท้ายแล้วจะตีความ ความต่อเนื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗ กับรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ อย่างไร

อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทักษิณคิดเพื่อไทยทำ

จะเอาจริงๆ เหรอ.... วานนี้ (๒๘ มีนาคม) นายกฯ เศรษฐา พูดถึงร่างพระราชบัญญัติสถานบันเทิงครบวงจร ฟังดูแล้ว กาสิโนน่าจะเกิดในรัฐบาลนี้

ไร้ภาวะผู้นำ

ศึกนายพลสีกากีดูเพลินๆ ไปครับ ขุดกันเยอะเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น

'ครอบงำ' หัวจรดเท้า

"พรรคของท่าน ท่านก็มีสิทธิ์ที่จะไป" วานนี้ (๒๖ มีนาคม) นายหัวชวน หลีกภัย พูดถึง "นักโทษชายทักษิณ" ผู้ป่วยที่เดินแทบไม่ได้เมื่อเดือนที่แล้ว ไปเหยียบที่ทำการพรรคเพื่อไทย ด้วยท่าทีกระฉับกระเฉง ก็จริงนะ...

ผู้สานต่อสันดาน

คนเขาสงสัย... ระหว่างการคุมประพฤติ นักโทษ จะต้องปฏิบัติตนอย่างไร?

ก้าวไกล ไม่รอด!

จะเกี่ยวกันมั้ย??? พรรคอนาคตไกล ร่อนหนังสือเชิญสื่อทุกแขนง ไปร่วมพิธีเปิดที่ทำการพรรค และพิธีบวงสรวง เจริญพระพุทธมนต์ ในวันที่ ๒๘ มีนาคม

หมากนี้จะกินรวบ

เต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ เพราะว่าไปแล้วมันก็น่าประหลาดใจกับคำสั่งเรียก "บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก" ไปช่วยราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ของนายกรัฐมนตรี