คนไต้หวันเห็นอย่างไร กับการมาเยือนของเพโลซี?

ถ้าอยากรู้ว่าคนไต้หวันคิดอย่างไรกับการมาเยือนของแนนซี เพโลซี ก็ต้องไปฟังเสียงจากการสำรวจของสื่อต่างๆ ที่ไปพูดคุยกับคนที่นั่น

และคำตอบก็จะอยู่ที่ว่า คุณถามใคร คนวัยไหน และมีธุรกิจเกี่ยวกับแผ่นดินใหญ่หรือไม่

สื่อต่างชาติหลายสำนักตระเวนพูดคุยกับผู้คนบนเกาะแห่งนี้ ได้รับความเห็นที่แตกต่างกันไปพอสมควร

 “ยิ่ง [พรรคคอมมิวนิสต์จีน] ไม่มีความสุขเท่าไหร่ ฉันก็ยิ่งมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น” อิงกริด โฮ วัย 35 ปี ชาวไทเปกล่าวกับวอชิงตันโพสต์ว่า

การมาของเพโลซีอาจหมายถึงผลที่ตามมามากมายหลายอย่าง แต่เราก็ได้รับความตื่นเต้นที่อาจจะมีความสำคัญกว่าเหตุผล”

ชาวไต้หวันคนนี้ก็เหมือนกับชาวไต้หวัน 23 ล้านคน ที่ใช้ชีวิตอยู่กับภัยคุกคามของจีนมานานหลายทศวรรษ

 “บางทีอาจเป็นเพราะคนไต้หวันเคยชินกับความหวาดกลัว” โฮกล่าว “เราเป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งนี้ แต่อย่างใดฉันยังคงรู้สึกเหมือนเป็นผู้ยืนดู — แค่อยากรู้ว่าเรื่องนี้จะเดินหน้าต่อไปยังไง”

ชายวัย 72 คนหนึ่งไปยืนถือป้ายที่เขียนว่า “ฉันดีใจมากที่ Speaker Pelosi มาเพื่อแสดงการสนับสนุน ยินดีต้อนรับสู่สาธารณรัฐไต้หวัน”

เขาเป็นหนึ่งในคนบนเกาะนี้ที่สนับสนุนให้ไต้หวันเป็นเอกราชอย่างเป็นทางการมาหลายทศวรรษแล้ว

 “เราไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับจีน เราไม่ต้องการเป็นหนึ่งเดียวกับพวกเขา”

คืนที่เครื่องบินของเพโลซีเตรียมร่อนลงสนามบินไทเป ตึก Taipei101 ซึ่งเป็นตึกระฟ้าที่สูงที่สุดของไต้หวันสว่างไสวด้วยข้อความต้อนรับสำหรับเปโลซีในภาษาอังกฤษและภาษาจีน

แต่อีกด้านหนึ่งของเกาะก็มีผู้ประท้วงกลุ่มเล็กๆ รวมทั้งผู้ที่สนับสนุนการรวมชาติกับจีน กระทืบธงชาติอเมริกาและชูป้ายดูหมิ่นเพโลซี

พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะผู้แทนสหรัฐฯ กลับบ้าน คนหนึ่งชูป้ายเรียกเพโลซีว่า “แม่มดอเมริกัน”

 แม้ว่าชาวไต้หวันส่วนใหญ่เชื่อว่าสงครามเป็นสิ่งสุดท้ายที่จีนต้องการ  แต่บางคนก็ยังกังวลเกี่ยวกับผลที่จะตามมาในระยะสั้นจากการเยือนของเพโลซีครั้งนี้

วิศวกรวัย 30 ปี จากเถาหยวนเล่าให้นักข่าวฟังว่า เขาใช้เวลาทั้งวันไปดูเที่ยวบินจากท่าอากาศยานหลักของไต้หวัน เพื่อดูว่ามีเหตุขัดข้องหรือไม่

เขาบอกว่า “ผมควรจะเดินทางไปต่างประเทศเร็วๆ นี้ และผมค่อนข้างกังวลว่าการซ้อมรบของทหารจีนจะทำให้ผมไม่สามารถออกจากเกาะได้

ชาวไต้หวันคนนี้บอกว่า “ก่อนสงครามยูเครนจะเริ่มต้น ผู้คนยังบอกด้วยว่ารัสเซียจะไม่รุกราน แต่มันก็เกิดขึ้น

 “ในอดีตมีสงครามมากมายที่ระเบิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที สถานการณ์ตอนนี้มันค่อนข้างตึงเครียด”

ชายวัยเกษียณอายุ 65 ปี ที่ไทเปเห็นว่าการเยือนครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี และช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ให้เข้มแข็งขึ้น

 “ผมไม่กังวลมากนักเกี่ยวกับจีน พวกเขามักจะเก่งในการคุยโวโอ้อวด”

นักศึกษาวัย 18 บอกว่าการเดินทางมาครั้งนี้ของเพโลซีแสดงให้เห็นว่า เรื่องของไต้หวันได้รับการตระหนักรู้อย่างจริงจัง

 “แต่ส่วนตัวกังวลว่า การมาเยือนของเพโลซีอาจนำความเสี่ยงมาให้พวกเรา ตอนนี้เราใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอันสงบสุข ทำให้ดิฉันกลัวถ้าเกิดความขัดแย้งทางทหารอย่างฉับพลัน"

แต่เธอก็เชื่อว่าไต้หวันควรได้โอกาสมากขึ้นในการมีบทบาทในประชาคมโลก และได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ

วัยรุ่นวัย 18 อีกคนบอกว่า เขาไม่ได้สนใจเรื่องการมาเยือนของเพโลซีมากนัก แต่หวังว่าไต้หวันจะไม่ประสบชะตากรรมเดียวกับยูเครน เพราะเขาไม่ต้องการให้ไต้หวันได้รับผลกระทบจากสงคราม

 “ผมไม่รู้ว่าจีนจะใช้กำลังทหารกับไต้หวันจริงๆ หรือไม่ แต่หวังว่าจะไม่”

ลี เช-หยู ตัวแทนลงแข่งขันเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ที่เขตมัตสุ ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ ภายใต้การปกครองของไต้หวัน ในทะเลจีนตะวันออก ให้ทรรศนะกับวีโอเอว่า

 “จีนกดขี่เรามาตลอดบนเวทีระหว่างประเทศ ดังนั้นเราต้องการให้โลกรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับไต้หวัน ว่าเราเป็นประเทศประชาธิปไตย และเรารักประชาธิปไตย ผมคิดว่าการมาเยือนของเพโลซีสามารถช่วยให้ไต้หวันได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเรา”

หลี่ ชือ-ฮอง เจ้าของร้านค้าวัย 48 ปี ที่เกาะคินเหมิง ซึ่งเป็นเขตในไต้หวันที่อยู่ใกล้จีนมากที่สุด บอกว่า "ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีการยกระดับการซ้อมรบ (ของไต้หวัน) ที่เกาะคินเหมิง เราเห็นทหารซ้อมรบและซ้อมป้องกันดินแดน ผมคิดว่าความตึงเครียดอยู่ในระดับที่สูงมาก และคนทั่วไปคิดว่าสงครามกำลังจะเริ่มขึ้น

เขาบอกว่าไต้หวันได้กลายมาเป็นตัวเดินในกระดานหมากรุกของสหรัฐฯ ในการยับยั้งจีน          

 “การเยือนของประธานสภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ครั้งนี้เป็นเรื่องที่ดี แต่มันไปแตะจุดอ่อนไหวทั่วช่องแคบไต้หวัน”

สรุปว่าบนเกาะไต้หวัน ความหวัง, ความกลัว, ความระแวงและความอึดอัดมาพร้อมกับการ “ซ้อมรบด้วยกระสุนจริง” ของจีนปักกิ่งอย่างเห็นได้ชัด

ในการสำรวจความเห็นคนไต้หวันเมื่อปลายปีที่แล้ว กว่า 84% ของคนที่ตอบคำถามบอกว่า ต้องการจะรักษา “สถานภาพปัจจุบัน” (status quo) ของเกาะไว้

นั่นแปลว่าไม่ต้องการ “รวมชาติ”

แต่ถ้าถามว่าอยากเห็นสงครามไหม คนส่วนใหญ่ของไต้หวันก็คงจะบอกว่า “ไม่” เช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้