สายสีเขียวยังไม่จบ

ยังคงหาทางออกไม่เจอสำหรับปมกรณีขยายสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ลากยาวมาถึงกรณีการเก็บค่าโดยสารของส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ในกระแสความสนใจของประชาชน โดยล่าสุดถือเป็นเผือกร้อนสุดๆ ของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ สืบเนื่องจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้หยิบยกวาระการพิจารณาค่าโดยสารมาพูดอีกครั้ง และมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร (สภา กทม.) พิจารณาด้วย

เบื้องต้น เสนอให้เก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 15 บาท เป็นราคาทดลอง และอาจจะปรับอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้สภา กทม.รับทราบก่อน เนื่องจากการเก็บค่าโดยสารอัตรา 15 บาทนั้นไม่พอกับค่าจ้างการเดินรถที่บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ต้องจ่ายให้กับบริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC แต่ที่มีมูลค่าอยู่ ซึ่งชัชชาติมองว่า 15 บาทเป็นอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม

โดยคาดว่าหากสภา กทม.เห็นชอบแล้ว จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนเพื่อแจ้งไปยังบริษัท กรุงเทพธนาคม หรือ KT ประกาศให้ผู้โดยสารทราบเพื่อจัดเก็บค่าโดยสารภายใน 1 เดือน หรือประมาณเดือน ธ.ค.2565-ม.ค.2566 ขณะเดียวกันในส่วนการทำความเห็นตอบกลับกระทรวงมหาดไทย กรณีการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ให้บีทีเอส สัญญาจะหมดปี 2572) ในส่วนของผู้บริหาร กทม.มีความเห็น 2 ประเด็น คือ

1.ไม่เห็นด้วยกับการต่อสัญญาสัมปทานโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2562 โดยให้นำสัมปทานมาจัดประมูลตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุน 2562) และ 2.จะเสนอรัฐบาลเข้ามารับภาระค่างานก่อสร้างส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ วงเงินประมาณ 58,000 ล้านบาท เหมือนโครงการอื่นๆ ของรัฐบาล

เนื่องจาก กทม.มองว่าการขออุดหนุนค่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องปกติของการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งปัจจุบันค่าโครงสร้างงานโยธารถไฟฟ้าส่วนต่อขยายส่วน 2 กทม.รับโอนหนี้จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประมาณ 5.8-5.9 หมื่นล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) หากรัฐบาลไม่เห็นด้วยในการขออุดหนุน กทม.มีแนวทางที่จะเจรจา เพื่อที่จะขอโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสาย

ได้แก่ ส่วนสัมปทานช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ส่วนต่อขายที่ 1 ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการให้กับรัฐบาล โดยมีเงื่อนไขบางประการ เช่น การของบประมาณชดเชย กำหนดเพดานค่าโดยสาร เป็นต้น

ล่าสุดในการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่มีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม โดยนายวิรัช คงคาเขตร ส.ก.เขตบางกอกใหญ่ ให้ข้อมูลว่า สำหรับญัตติที่ กทม.เสนอมานั้น ต้องหารือประธานสภา กทม.และผู้ว่าฯ กทม. เรื่องคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมองว่าใหญ่กว่าข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาเรื่องนี้อีกครั้ง

แน่นอนว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ได้ข้อสรุปตามที่ กทม.นำเรื่องเสนอในที่ประชุม โดยที่ประชุมสภา กทม.เสนอว่า ควรให้ ส.ก.ชุดปัจจุบันได้รู้รายละเอียดต่างๆ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้มากกว่านี้ จึงเห็นว่าควรให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไปก่อนแล้วค่อยกลับมาหารือกันใหม่อีกครั้ง แน่นอนว่าญัตติที่ กทม.เสนอมานั้น ส.ก.ได้ขออภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ได้อยู่ในอำนาจของสภา กทม.

ดูเหมือนว่ามหากาพย์สายสีเขียวยังคงมีประเด็นถกอีกยาว ซึ่งที่ประชุมฯ มองว่าเรื่องดังกล่าวไม่ควรเป็นญัตติ ควรเป็นการเสนอขอความเห็นเท่านั้น แต่ที่สุดแล้วรายละเอียดยังไม่ชัดเจน อีกทั้งเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นอำนาจหน้าที่ของสภา กทม.และผู้ว่าฯ กทม. จึงขอให้ถอนญัตติดังกล่าวออกไป แน่นอนว่าส่งผลให้ญัตติของ กทม.ที่เสนอในที่ประชุมนั้นต้องตกไปโดยปริยาย ก็ต้องมาลุ้นว่าในการประชุมครั้งถัดไปจะมีการหยิบยกญัตติดังกล่าวมาพิจารณาและจะได้ข้อสรุปหรือไม่.

กัลยา ยืนยง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว

ดันสงกรานต์ไทยสู่เทศกาลโลก

หลังจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม และกระทรวงมหาดไทย จับมือจัดงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567”

เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุก

ก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซปิโตรเลียมเหลว (Liquefied Petroleum Gas) หรือก๊าซ LPG ด้วยคุณสมบัติพิเศษของมันก็คือ การที่มีสารโพรเพนและบิวเทนอยู่ในตัว ซึ่งสารสองนี้เป็นสารที่ติดไฟง่าย

เจาะลึกพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทย

ในช่วงที่ผ่านมาได้มีผลการวิจัยของมินเทล (Mintel) พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ช่องทางออนไลน์มากขึ้นในการหาแรงบันดาลใจด้านการท่องเที่ยว และแบ่งปันประสบการณ์ท่องเที่ยวของตนเอง

วิกฤตเลวร้ายกว่าต้มยำกุ้ง?

ตกเป็นประเด็นอีกครั้ง สำหรับเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจของไทย เพราะล่าสุด 'ทักษิณ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรีได้มาพูดย้ำว่า ประเทศไทยตอนนี้มันยากกว่าสมัยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง เพราะมีความซับซ้อนและยากมากกว่า และมองว่าการแก้ไขมันต้องมีการเปลี่ยน เพราะโลกมันเปลี่ยนไม่เหมือนเดิม

จับชีพจร“ท่องเที่ยวไทย”เริ่มฟื้นตัว

“ท่องเที่ยว” ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักๆ ที่สร้างรายได้มหาศาลให้ประเทศตลอดช่วงที่ผ่านมา