ใครขายชาติ

พูดกันเยอะใครขายชาติ

ถ้าจะขยายความใช้ชัดเจน เรื่องรัฐบาลขายชาติ ต้องเข้าโปรแกรมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คงต้องไปเริ่มต้นตั้งแต่รัฐบาลที่บริหารประเทศ ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปี ๒๕๔๐

รัฐบาลชวน หลีกภัย ต้องกลืนเลือดเซ็นกฎหมาย ๑๑ ฉบับ ที่ขณะนั้นพากันเรียกว่ากฎหมายขายชาติ คือการเช็ดอาจมที่รัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ทิ้งเอาไว้

ในปี ๒๕๓๙ คนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร  ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี  

แถมมีใครบางคนเสวยสุขบนความทุกข์ของประชาชนทั้งประเทศ รู้ล่วงหน้าก่อนการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ๓ วัน

โกยกันไปเยอะ

ฉะนั้นถ้าจะโทษกันว่าใครทำให้ต้องออกกฎหมายขายชาติ ก็ดูหน้าดูตากันเอาไว้

เมื่อรัฐบาลประยุทธ์ อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เนื้อหามีคนบอกว่าเรากำลังจะสิ้นชาติ

ให้ต่างชาติถือครองที่ดิน ๑ ไร่ แลกการลงทุน ๔๐ ล้าน

นักการเมืองฝ่ายค้านโจมตีกันใหญ่ กฎหมายขายชาติ ทำให้ไทยเสียดินแดน ไม่ใช่ฟื้นฟูเศรษฐกิจ

ถ้าใครอ่านหนังสือปีละ ๘ บรรทัด คงงับเข้าไปอย่างจัง

วันเสาร์ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์หลังถูกจับโป๊ะว่า มันคือกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี ๒๕๔๕

แถลงการณ์ลิ้นพันระบุว่า

"...การออกกฎกระทรวงในปี ๒๕๔๕ นั้นมีบริบทที่แตกต่างกับปี ๒๕๖๕ เนื่องจากรัฐบาลในปี ๒๕๔๕ ภายใต้การนำของพรรคไทยรักไทยนั้น เพิ่งเข้ามาบริหารประเทศในปี ๒๕๔๔ ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น

และประเทศไทยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ตามข้อตกลงที่มีกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ต้องแก้ไขกฎหมายในบางเรื่อง และชำระหนี้ไอเอ็มเอฟ

แต่การจะออกกฎกระทรวงของรัฐบาลขณะนี้ เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชี้ชัดถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลนี้..."

"ทักษิณ" กลายเป็นคนดีชั้นเอกที่หนึ่งขึ้นมาทันที

กฎหมายที่เรียกว่ากฎหมายขายชาติ ๑๑ ฉบับ แยกเป็นกลุ่มๆ

มีอยู่ ๓ ฉบับ คือกฎหมายที่ดิน กฎหมายการเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่กำหนดให้เป็นทรัพย์สิทธิ์ และกฎหมายอาคารชุด

ใจความโดยรวมคือ ต้องการให้ต่างชาติเป็นเจ้าของที่ดินได้ เช่าที่ดินเป็น ๑๐๐ ปีได้

เป็นเจ้าของอาคารชุดได้ทั้งหมด ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์

และสามารถใช้ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เช่ามา เป็น "ทรัพย์สิทธิ์" ได้ นั่นคือ นำไปจำนองได้ นำไปค้ำประกันได้ ยกให้ผู้อื่นได้ เป็นต้น

ต่อมารัฐบาลทักษิณไปออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไข การได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๔๕

สาระสำคัญคือ

กลุ่มมีสิทธิการถือครอง อยู่ในกลุ่มที่รวย  กลุ่มเกษียณอายุ  กลุ่มที่ต้องการทำงานในไทย และกลุ่มมีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

ต้องนำเงินมาลงทุนในประเทศไม่น้อยกว่า ๔๐ ล้านบาท

ต้องลงทุนดำเนินกิจการไม่น้อยกว่า ๓ ปี ถึงจะมีสิทธิซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยได้ไม่เกิน ๑ ไร่ ห้ามขาย แต่โอนให้ลูกหลานได้ และห้ามลูกหลานขายต่อเช่นกัน

ตั้งแต่มีกฎหมายนี้มาต่างชาติเข้าเกณฑ์ตัวเลขหลักเดียว

ห่างไกลกับคำว่าขายชาติ

ฉะนั้นน่าประหลาดใจเมื่อพรรคเพื่อไทย บอกว่ากฎหมายที่รัฐบาลนี้นำมาต่อยอดเป็นการขายชาติ แต่ในยุคทักษิณกลับบอกว่าต้องทำตามไอเอ็มเอฟ

มีคำถามไปถึงพรรคระบอบทักษิณ

ก่อนการเลือกตั้งปี ๒๕๔๔ ทักษิณ และพรรคไทยรักไทย หาเสียงโจมตีกฎหมาย ๑๑ ฉบับอย่างรุนแรง แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาลทำไมถึงเลือกที่จะเดินตามไอเอ็มเอฟ 

ยกตัวอย่างพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นกฎหมายอีกฉบับที่พรรคไทยรักไทย ประกาศว่าไม่เห็นด้วย แต่กลับกลายเป็นว่าคนในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ไปหลายคน

มีใครอ้างว่ารวยเพราะต้องทำตามไอเอ็มเอฟหรือไม่

ทีนี้มาดูว่า  ร่างกฎกระทรวงปี ๒๕๖๕  ที่รัฐบาลนี้ นำกฎกระทรวงในปี ๒๕๔๕ ของรัฐบาลทักษิณมาปรับใหม่เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์โลก

 การให้สิทธิคนต่างด้าวถือครองที่ดิน ๑ ไร่นั้น มีเงื่อนไขที่สำคัญคือ  ต้องเป็นคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง ๔ ประเภทที่ได้รับวีซ่าพำนักระยะยาว หรือ LTR Visa เท่านั้น คือ

๑. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง คือ มีทรัพย์สินอย่างน้อย ๑ ล้านเหรียญสหรัฐ, มีรายได้ส่วนบุคคลขั้นต่ำ ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา และมีการลงทุนในไทยอย่างน้อย ๕๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

๒. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ คือ มีอายุ ๕๐ ปีขึ้นไปที่รับเงินบำนาญและมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปี หรือมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีและมีการลงทุนในไทยอย่างน้อย ๒๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

๓. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย คือ มีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๔๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีและจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือได้รับเงินทุน Series Aในธุรกิจไม่น้อยกว่า ๑ ล้านเหรียญสหรัฐ, ทำงานในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์หรือบริษัทที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า ๑๕๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ภายใน ๓ ปีที่ผ่านมา และมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า ๕ ปี

๔. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ คือ มีรายได้ส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า ๘๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐต่อปีในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา, มีสัญญาจ้างทำงานมีทักษะเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีประสบการณ์ทำงานไม่น้อยกว่า ๕ ปี

ทั้งนี้กลุ่มต่างด้าวทั้ง ๔ กลุ่มต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และมีกรมธรรม์ประกันสุขภาพคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลในประเทศ ไทยไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ

ความต่างของกฎกระทรวงทั้ง ๒ ฉบับ คือของรัฐบาลประยุทธ์ลดเงื่อนเวลาลงมา แต่เพิ่มดีกรีการอนุญาตให้มีความเข้มข้นขึ้น                 

นี่คือหนึ่งในความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-๑๙

วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากต้มยำกุ้ง กับวิฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-๑๙ อะไรหนักหนาสาหัสกว่ากัน

พรรคเพื่อไทยน่าจะรู้ดี

คำว่าขายชาติ  เอาไปหาเสียงได้ครับ แต่ให้ระวัง  คนที่มีพฤติกรรมขายชาติจริงๆนั้น ตอนนี้หนีคุกอยู่

แถมไปมีทรัพย์สินในประเทศอื่น เพราะกฎหมายการถือครองที่ดินของคนต่างชาติในโลกนี้ไม่ได้มีเฉพาะที่ไทยประเทศเดียว

เป็นห่วงแต่สามนิ้วที่ออกมาด่าประยุทธ์ขายชาติ เพราะเห็นหลายคนบอกว่าจะย้ายประเทศ

ย้ายไปแล้วต้องซื้อบ้าน ซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อตั้งรกราก

หอบเงินไปเลยครับ เพราะเงื่อนไขทางยุโรป อเมริกา กำหนดไว้น้อยกว่าเราอยู่นะ

แต่อย่าไปด่าว่าเขาขายชาติซะหล่ะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายทุนก้าวไกล

เริ่มต้นด้วยเรื่องเงินๆ ทองๆ วานนี้ (๑๗ เมษายน) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สรุปยอดเงินบริจาคของพรรคการเมือง ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ทั้งสิ้น ๑๓ พรรคการเมือง

รวยแล้วไม่โกงไม่มี

นายกฯ เศรษฐาเปิดใจวานนี้ (๑๕ เมษายน) ฟังแล้วเหมือนเดจาวู "...มั่นใจได้ว่าเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่มีแน่นอน แต่อย่างไรก็ตามต้องพูดเรื่องทรัพย์สิน เรื่องของชีวิตส่วนตัว ส่วนตัวของผมลงตัวแล้ว มีรายได้ในอดีตที่ดีพอสมควร มีทรัพย์สินที่ทำให้อยู่ได้อย่างสบายๆ

รัฐบาลลิงแก้แห

ชี้แจงก็เหมือนไม่ชี้แจง ผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คงจะหน้าเขียวไปตามๆ กัน เพราะถูกรัฐบาลบีบให้ร่วมโครงการเติมเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต วงเงินที่รัฐบาลล้วงมาคือ ๑๗๒,๓๐๐ ล้านบาท