จากฮัลโลวีนเกาหลีใต้ถึงลอยกระทงแบบไทยๆ

    อีกวัน-สองวัน...ก็ใกล้ๆ จะ ลอยกระทง กันอีกแล้ว!!! แต่จะด้วยวัย ด้วยสังขาร หรือด้วยธุระปะปังอะไรก็แล้วแต่ เกือบๆ สามสิบ-สี่สิบปีมาแล้ว ที่ไม่ได้มีโอกาสสร้างกระทง ทำกระทง หรือซื้อกระทง ไปลอยเหมือนใครต่อใครเขา ส่วนอนาคตอีกไม่ใกล้-ไม่ไกล ดูจะหนักไปทาง น่าจะใกล้ๆ มีโอกาสได้ ลอยอังคาร ซะมากกว่า...

    แต่จะอย่างไรก็ตาม...การลอยกระทงไม่ว่าจะโดยการสร้าง การทำ หรือการซื้อกระทงไปลอยตามแหล่งน้ำ ลำธาร ริมแม่น้ำสายต่างๆ อันถือเป็นหนึ่งในประเพณี-วัฒนธรรมที่สำคัญมิใช่น้อยของบรรดาทวยไทยทั้งหลาย

ไม่ว่าจะประดิษฐ์-คิดค้น จะประยุกต์-ดัดแปลง มาจากใครต่อใครก็แล้วแต่ ต้องถือเป็นสิ่งที่อยู่ยง-คงทน อยู่ยั้ง-ยืนยง อย่างแทบไม่น่าผันแปรไปเป็นอื่นเอาง่ายๆ จะด้วยเหตุเพราะเป็นสิ่งที่สามารถตอบสนองต่อ อารมณ์-ความรู้สึก ของผู้คนแต่ละยุค-แต่ละสมัย ได้อย่างสมบูรณ์-เบ็ดเสร็จ หรือจะด้วยเพราะการ อนุรักษ์ ที่แข็งแกร่ง ทนทาน ด้วยความร่วมมือ-ร่วมใจของผู้คนในสังคม ที่เห็นถึงความสำคัญของประเพณีและวัฒนธรรมเหล่านี้ ก็แล้วแต่จะว่ากันไป...

    แต่อย่างน้อย...ไม่ว่าจะลอยกันมาแล้วกี่หมื่นกี่แสนครั้ง ก็แทบไม่ได้ก่อให้เกิด โศกนาฏกรรม เกิดความน่าเศร้าสลด หดหู่ น่าหวาดหวั่น ขวัญสยอง อย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นในงานประเพณี ฮัลโลวีน ณ ประเทศเกาหลีใต้ ช่วงไม่กี่วันมานี้อยู่แล้วแน่ๆ!!! คือถึงขั้น...ต้องเหยียบกันตาย ต้องแตกตื่น ชุลมุน วุ่นวาย ด้วยสาเหตุแบบไหน? อย่างไร? ก็ยังมิอาจสรุปได้ชัดเจน แต่เล่นเอาบรรดาชาวเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ชาวโลก อดมิได้ที่พลอยต้องสลดหดหู่ไปตามด้วย ทั้งที่งานประเพณีที่ว่านี้น่าจะเป็นวัฒนธรรมของพวกฝรั่ง ไม่ได้ก่อกำเนิดเกิดขึ้นในดินแดนอารีดังเอาเลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยเหตุผลกลใดก็ยากที่จะจำแนกแยกแยะ บรรดาลูกหลานชาวเกาหลีใต้ที่แห่ไปเฉลิมฉลองฮัลโลวีน แทนที่จะนั่งๆ-นอนๆ รับประทานกิมจิอยู่ที่บ้าน เลยมีอันต้องเด๊ดสะมอเร่ย์ อิน เดอะ เท่งทึงเป็นร้อยๆ อย่างน่าสยดสยอง น่าขนลุกขนพอง ดังปรากฏเป็นข่าวคราวไปแล้วนั่นเอง...

    โดยที่ โศกนาฏกรรม คราวนี้จะส่งผลให้ งานประเพณี ดังกล่าว...กลายเป็นเรื่องน่าเกลียด น่ากลัว หรือไม่? ประการใด? ก็คงยากที่จะสรุปอีกนั่นแหละ เพราะมันคงไม่เกี่ยวกับ เนื้อหา-สาระ ของประเพณี-วัฒนธรรมนั้นๆ มากมายซักเท่าไหร่ แต่น่าจะขึ้นอยู่กับ ผู้คน ในแต่ละสังคม แต่ละวัฒนธรรมซะมากกว่า ที่จะนำเอาสิ่งเหล่านี้ไปแปรรูป แปรร่าง ไปสร้างสรรค์ ปั้นแต่ง ไปประยุกต์ใช้กันในแบบไหน? อย่างไร? ถ้าหากใช้ในทางที่ดี...ก็ดีไป แต่ถ้าใช้ไปในทางที่มุ่งไปสู่ความเมามันซ์ซ์ซ์ การตอบสนองอารมณ์-ความรู้สึกพลั่กๆๆ กันในทางส่วนตัว หรือมุ่งไปสู่ ความเป็นตัวกู-ของกู แล้วล่ะก็ โอกาสที่จะเกิดการ เหยียบกันตาย แบบบรรดาลูกๆ หลานๆ ชาวเกาหลีใต้ ย่อมมีความเป็นไปได้ทุกเมื่อ...

    เพราะสิ่งที่เรียกว่า ประเพณี-วัฒนธรรม นั้น มันจึงเป็นสิ่งที่มีความยืดหยุ่น ดิ้นไป-ดิ้นมา และไหลไป-ไหลมา ผสมปนเปไปกับความเป็นไปของสังคมแต่ละสังคมได้เสมอๆ ประเพณี-วัฒนธรรมบางอย่าง บางสังคม อาจเป็นสิ่งที่น่าเกลียด-น่ากลัว ต่อผู้คนในอีกสังคมได้เช่นกัน อย่างประเพณีการจับผู้คน จับเด็กๆ มา เผาไฟ เพื่อเซ่นสรวงให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตรของพวกฝรั่งอังกฤษยุคโบร่ำ-โบราณ หรือที่เรียกๆ กันว่าพวก ดรูอิดส์ (Druids) อะไรประมาณนั้น เลยเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เดียดฉันท์ ต่อผู้บุกรุก ต่อขุนพลโรมันอย่าง จูเลียส ซีซาร์ จนต้องหาทางขจัด กวาดล้าง ชนิดแทบไม่หลงเหลืออยู่บนเกาะอังกฤษยุคนี้เอาเลยแม้แต่นิด การ เกิดขึ้น-ตั้งอยู่ และดับไป ของประเพณี-วัฒนธรรมในแต่ละชนิด มันจึงขึ้นอยู่กับ ผู้คน หรือขึ้นอยู่กับความเป็นไปในสังคมแต่ละสังคมนั่นแหละเป็นหลัก...

     การ อนุรักษ์ หรือการหาทางทำให้ ประเพณี-วัฒนธรรมอันดี ยังคงสามารถอยู่ยั้ง ยืนยง คงทน ถาวร อยู่ในสังคมแต่ละสังคม จึงแทบไม่ต่างอะไรไปจากการหาทางทำให้ ผู้คน ในสังคมนั้นๆ เป็นไปในรูปไหน แนวไหน นั่นเอง คือถ้าหากเมื่อไหร่ที่ผู้คนในแต่ละสังคม หนักไปทาง เห็นแก่ตัว หรือมุ่งไปสู่ความเป็น ตัวกู-ของกู ขึ้นมาแล้วล่ะก็!!! ไม่ว่าจะประเพณีไหนๆ วัฒนธรรมไหนๆ ไม่ว่าจะประดิษฐ์ คิดค้น ขึ้นมาเอง หรือจะลอกเลียน-ดัดแปลง จะนำมาประยุกต์ใช้ ในรูปไหนก็แล้วแต่ ล้วนแล้วแต่สามารถนำไปสู่การ เหยียบกันตาย ได้ทั้งสิ้น ทั้งปวง...

    การดำรง รักษา ประเพณี-วัฒนธรรมอันดี ไปจนถึงศิลปะ หรือค่านิยมทางสังคม ให้ยืนยง คงทน ถาวร สืบต่อไปได้เรื่อยๆ จึงไม่ต่างไปจากการหันมาให้ความสำคัญต่อการปลูกฝัง คุณธรรม-ศีลธรรม ให้ดำรง คงอยู่ ภายในสังคมนั้นๆ มิให้ต้องบุบสลาย ต้องถูกเบียดเบียน ทำลาย โดยความผันผวน ปรวนแปร ที่อุบัติขึ้นมาในแต่ละห้วง แต่ละระยะ นั่นเอง หรือพูดง่ายๆ ก็คือการหันมาเอาใจใส่ต่อ เนื้อหา-สาระ จากประเพณี-วัฒนธรรมอันดี จากความประณีต งดงามทางศิลปะ จากค่านิยมในทางสร้างสรรค์เป็นหลัก ไปจนถึงแก่นสาระในศาสนาแต่ละศาสนาเอาเลยก็ว่าได้ ฯลฯ เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการขจัด กวาดล้าง ความเห็นแก่ตัว ของผู้คนในสังคมแต่ละสังคมลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่เช่นนั้น...โอกาสที่จะ เหยียบกันตาย ภายในสังคมนั้นๆ ย่อมมีความเป็นไปได้ทุกเมื่อ...

คือต้องคอยระแวดระวัง ต้องคอยหมั่นยกข้าว-ของต่างๆ ขึ้นไว้ในที่สูง ก่อนที่น้ำท่านจะทะลักหลั่งควั่งพรู ไหลเข้ามาท่วมขังในบ้านแต่ละบ้าน จนอาจต้องเปียกๆ แฉะๆ หรืออาจต้องตกน้ำป๋อมแป๋ม เอาง่ายๆ ไม่ว่าการกิน-การอยู่-การนอน ก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องย้ายจากชั้นล่าง ขึ้นมาบนชั้นสอง หรือชั้นที่สูงขึ้นๆ ตามสภาพ ยิ่งเป็นประเภท คนป่วย อย่างอันตัวข้าพเจ้าเองต้องตะเกียกตะกายถัดกระไดขึ้นมาเป็นชั้นๆ ก่อนที่จะกักตัวเองเอาไว้บนชั้นสอง ไปไหน-มาไหนแทบไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะเวลาถัดลง อาจหัวทิ่ม-หัวตำเอาง่ายๆ ระหว่างช่วงรอยต่อ หน้าน้ำ กับ หน้าหนาว จึงเป็นอะไรที่ออกจะยุ่งยากลำบาก เป็นอะไรที่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า อยู่พอสมควรเหมือนกัน...

แต่ก็นั่นแหละ...ความเป็นมา-เป็นไปของ ฤดูกาล ท่านก็เป็นของท่านอย่างนี้มานานแล้ว อาจจะวิปริต แปรผัน ไปบ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นไปจากวงจร-วัฏจักรแห่งธรรมชาติ ที่ต้องหมุนเวียน-เปลี่ยนผันไปตามสภาพ มีหนาว มีร้อน มีแล้ง มีน้ำหลาก น้ำท่วม มีช่วงจังหวะใบไม้ผลิ ใบไม้ร่วง มีหิมะตก โดยเฉพาะแถบด้านเหนือๆ ของพวกฝรั่งเขา บรรดาวงจร-วัฏจักรเหล่านี้ต่างก็หมุนวนไป-วนมาเป็นรอบๆ ไม่ต่างไปจากวงจร-วัฏจักรของกลางวันและกลางคืน ที่มีทั้งมืด-ทั้งสว่าง สลับไป-สลับมากันโดยตลอด ไม่มีอะไรที่มืดมิดไปตลอดชั่วนิรันดร์กาล และไม่มีอะไรที่สว่างจ้า จนไม่เหลือความมืดติดปลายนวมเอาไว้เลย ส่งผลให้เกิดสภาพ ความเป็นไปตามธรรมชาติ ที่ไม่ต่างไปจากสภาพความเป็นจริง ความเป็นไปของมวลมนุษย์ทั้งหลายนั่นแหละทั่น!!! คือมีทั้งสุขๆ-ทุกข์ๆ ที่หมุนวนไป-วนมา หมุนเข้ามาในช่วงชีวิตไปเป็นห้วงๆ เป็นระยะๆ...

ด้วยเหตุนี้...จึงถือเป็นเรื่อง ไม่แปลก ที่ผู้คนนับตั้งแต่ยุคโบร่ำ-โบราณ ท่านจะมองความเป็นไปของสิ่งที่เรียกว่า กาลเวลา ในลักษณะไม่ได้ผิดแผก แตกต่าง ไปจาก ความเป็นไปตามธรรมชาติ คือมองเป็น วัฏจักร-วงจร ที่หมุนไป-หมุนมาเป็นรอบๆ มองเป็นวงกลม เป็นกงล้อ หรือเป็น หยิน เป็น หยาง ที่เคลื่อนไหวไป-มาภายในเส้นรอบวง ไม่ได้มองเป็น เส้นตรง เหมือนอย่างบรรดาพวกนักวิทยาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ฝรั่ง ที่พยายามแบ่งยุค-แบ่งสมัย แยกสัดส่วนของกาลเวลาออกไปเป็นท่อนๆ ดังนั้น...ไม่ว่าจะศาสนาพุทธ-คริสต์-อิสลาม-ฮินดู จนไปถึงศาสนาเชน หรือโซโรอัสเตอร์ ฯลฯ ก็แล้วแต่ เลยถึงต้องมีเรื่องราวของ มิคสัญญียุค กลียุค วันสิ้นโลก-สิ้นยุค ฯลฯ ติดปลายนวมเอาไว้เสมอๆ...

และถ้าหากมองถึงความเป็นไปของ กาลเวลา ในลักษณะที่ว่านี้...ก็ยิ่งไม่น่าแปลกใจ ไม่ถึงกับต้อง งุนงง-สงสัย อีกต่อไป ว่าเหตุใดแทบทุกสิ่ง-ทุกอย่างภายในโลกใบนี้ ณ ยุคนี้-สมัยนี้ มันถึงได้เสื่อมลงๆ ถึงได้มืดมนอนธกาลลงไปเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณธรรม-ศีลธรรม สติ-ปัญญา-สัมปชัญญะ ตลอดไปจนความอดทน-อดกลั้น หรือ ขันติธรรม อันถือเป็นพื้นฐานของคุณธรรมในแต่ละระดับ หรือพูดง่ายๆ ว่า...ก็ด้วยเหตุเพราะความเป็นไปตามธรรมชาติของกาลเวลานั่นเอง ที่ย่อมต้องไหลไปในลักษณะนี้ หมุนวนไปในลักษณะเช่นนี้!!!

ดังนั้น...สำหรับใครก็ตาม ที่ไม่ปรารถนาและต้องการความมืด ไม่ชอบใจ-ไม่พึงพอใจในความเสื่อม มีแต่ต้องหาทาง ทำใจ ด้วยการอาศัยความ เข้าถึง-เข้าใจ ต่อสภาวะความเป็นไปตามธรรมชาติของกาลเวลานั่นแหละเป็นหลัก หรือไม่งั้นก็ต้องพยายามตะเกียกตะกาย ดิ้นรน พยายามถัดบันไดพาตัวเองขึ้นไปอยู่ในที่สูงๆ ให้ทันท่วงที ทันเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างเจ็บป่วย เจ็บไข้ ไปถึงขั้นไหน หรือไม่ว่าจะต้องอึดอัด-ขัดข้องใจ ไปไหน-มาไหนแทบไม่ได้ระหว่างอยู่บนชั้นสอง เพราะสุดท้าย...ด้วยความเป็นไปของวัน-เวลา ของฤดูกาลนั่นเอง โอกาสที่จะได้ ฮึ้มฮึม-ฮึ้มหึ่ม กับลมหนาวที่โชยเข้ามาด้วยความสดชื่น-รื่นเริง ก็คงอีกไม่ใกล้-ไม่ไกล ด้วยเหตุเพราะยิ่งมืดเท่าไหร่ ก็ยิ่งเท่ากับใกล้สว่าง ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น...

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จะมาจากแหล่งไหน....ก็ไม่สบายใจทั้งนั้น

ก่อนการเลือกตั้ง เมื่อมีการหยั่งเสียงคะแนนนิยมว่าก้าวไกลมีคะแนนชนะเพื่อไทย ความร้อนรนกลัวแพ้ บนเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยก็มีการประกาศทันทีว่าจะแจกเงินดิจิทัล

ความแตกต่างระหว่าง'มนุษย์'กับ'สัตว์เดียรัจฉาน'

คำพูด บทสนทนา ในบทละครเรื่องพระเจ้า Richard ที่ 3 ของคุณปู่ William Shakespeare ที่กลายมาเป็นคำคม เป็นวาทะ อันถูกนำไปเอ่ยอ้างคราวแล้ว คราวเล่า คือคำพูดประโยคที่ว่า

ประวัติศาสตร์สีกากี

ต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าของ "กรมปทุมวัน" ที่มีการเซ็นคำสั่งให้ นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ระดับ "รอง ผบ.ตร." ออกจากราชการไว้ก่อน ผลพวงจากการต้องคดีฟอกเงินเว็บพนันออนไลน์

สุขสันต์วันเกิดเมืองยาวหนึ่งปี

ดวงชะตาเมืองรัตนโกสินทร์ที่ถือกำเนิดจากพิธีวางเสาหลักเมือง หรือพระราชพิธีพระนครฐาน สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัช

ยโสโอหังไม่ฟังใคร ไม่สนใจกระแส...คิดว่าแจงได้

อ่อนอกอ่อนใจจริงๆ กับสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ ตั้งแต่ถ้อยคำ วาจา ท่าที ลีลาการหาเสียงของคนที่ถูกวางตัวว่าวันหนึ่งจะได้เป็นผู้นำประเทศ ตะโกนด้วยสุ้มเสียงมั่นอกมั่นใจในสิ่งที่พูด ท