'ค้าปลีก'กับหลากปัจจัยที่ยังกดดันธุรกิจ

แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคของการท่องเที่ยวที่มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวเริ่มขยับมากกว่าช่วงที่ผ่านมา ร้านค้าต่างก็เริ่มจะลืมตาอ้าปากกันได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีสถานการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่ รวมถึงต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มสูง ค่าสาธารณูปโภค และการประกาศปรับค่าแรงขั้นต่ำยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของ “ธุรกิจค้าปลีก” เห็นได้จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมาพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกเดือนตุลาคมขยับเพิ่มขึ้นเพียง 1.3 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนกันยายน โดยได้รับปัจจัยหนุนชั่วคราวจากจำนวนวันหยุดยาวสองช่วงมาช่วยชดเชยกำลังซื้อที่อ่อนแอ

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า ผลการสำรวจดัชนี RSI เดือนตุลาคมปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนชั่วคราวจากจำนวนวันหยุดยาวที่มีมากกว่าเดือนกันยายน โดยมีการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยของยอดใช้จ่ายต่อครั้ง ยอดขายสาขาเดิม และความถี่ของผู้ใช้บริการ แต่เมื่อพิจารณาการบริโภคตามประเภทร้านค้า พบว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบห้างสรรพสินค้า, ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต, ร้านอาหาร ปรับเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันด้านกลยุทธ์และราคา เพื่อกระตุ้นยอดขายในเดือนที่มีวันหยุดยาว สะท้อนถึงความแข็งแกร่งของกำลังซื้อระดับบน 

ขณะที่ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับลดลง ตามสถานการณ์ฝนตกชุกและอุทกภัยในบางพื้นที่ บ่งบอกถึงผู้บริโภคกำลังซื้อระดับฐานรากในต่างจังหวัดยังอ่อนแอ ขณะเดียวกันจากการสำรวจยังพบอีกว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2563-2564) ธุรกิจ 61% ต้องลดระดับการจ้างงานลง สะท้อนถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างรุนแรง ในขณะที่หลังการผ่อนคลายความเข้มงวดปีนี้ ธุรกิจกว่า 48.8% ยังไม่ฟื้นตัว มีการจ้างงานในระดับต่ำกว่าเดิม 10-20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด 

มาดูบทสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “การฟื้นตัวของธุรกิจภาคการค้า” ของผู้ประกอบการที่สำรวจระหว่างวันที่ 14-22 ตุลาคม 2565 ก็จะพบว่า หากประเมินผลกระทบด้านต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ กดดันให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นนั้น 34% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่เกิน 5%, 49% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น 5-10%, 12% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้น 11-15% และ 4% ระบุว่า ต้นทุนเพิ่มขึ้นกว่า 15%

เมื่อประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจจากการจ้างงาน จะเห็นได้ว่าธุรกิจ 61% ต้องลดระดับการจ้างงานในช่วงวิกฤตโควิดสะท้อนถึงผลกระทบจากโควิดค่อนข้างรุนแรง และธุรกิจ 48.8% ยังไม่ฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายความเข้มงวด ยังมีการจ้างงานในระดับต่ำกว่าเดิม 10-20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด โดยหากประเมินการฟื้นตัวของธุรกิจ พบว่าธุรกิจ 62% ประเมินว่ากำลังซื้อของปีนี้จะขยายตัวดีขึ้นเมื่อเทียบปีที่ผ่านมา, ธุรกิจ 70% ประเมินว่ากำลังซื้อไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะขยายตัวดีกว่าไตรมาสที่ผ่านมา และธุรกิจ 44% มีสภาพคล่องเพียงพอมากกว่า 12 เดือน

โดยรวมๆ แล้วดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการยังคงกังวลต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่ฟื้นตัว ในส่วนนี้เอง “สมาคมผู้ค้าปลีกไทย” ก็ต้องการให้ภาครัฐเร่งออกมาตรการเยียวยาให้กับผู้บริโภคทั้งระดับบนและระดับฐานราก อาทิ การนำมาตรการคนละครึ่ง หรือช้อปดีมีคืน กลับมาใช้อีกครั้ง รวมถึงมาตรการบรรเทาผลกระทบของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจ้างงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างงานได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงานแบบยืดหยุ่น เช่น การจ้างงานรายชั่วโมง เป็นต้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง

อย่างไรก็ตาม คงต้องมาจับตาดูกันว่าในช่วงปลายปีจะมีมาตรการไหน ที่จะเป็นของขวัญปีใหม่เข้ามาช่วยกระตุ้นโค้งสุดท้ายของปีหรือเปล่า โดยคาดการณ์กันว่าดัชนี RSI ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นตามการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และเทศกาลปีใหม่ รวมถึงมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินของภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีอีกด้วย.  

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

ช่วงนี้หลายคนกำลังสงสัยว่าเพราะเหตุใดค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าเอา อ่อนค่าเอา ตอนนี้ราคาหลุดทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐไปแล้ว แม้จะมีการแกว่งตัวแข็งค่าขึ้นบ้าง แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่า

30@30 โอกาส SME

สำหรับนโยบาย 30@30 เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 จนมาถึงปัจจุบันที่นวัตกรรมและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยแพร่หลายมากขึ้น และ EV ทั่วโลกกำลังตื่นตัวและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

Digital Walletกระตุ้นค้าปลีกไม่แรง

“โครงการ Digital Wallet” เรียกว่ามีความชัดเจนจากฝั่งรัฐบาลพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหลักเกณฑ์ เงื่อนไขทั้งในส่วนของประชาชนและร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงแหล่งเงินที่จะใช้ในการดำเนินโครงการ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความชัดเจนในส่วนนี้ก็ยังมีการตั้งคำถาม ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเร่งหาวิธีการเพื่อพิสูจน์ความชัดเจน และเดินหน้าโครงการตามขั้นตอนและวิธีการภายใต้กรอบของกฎหมายที่ได้ยืนยันมาโดยตลอด

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

Gen AI ความท้าทายยุคใหม่

การก้าวตามเทคโนโลยีใหม่อย่าง Generative AI ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอาจเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากลัว โดยไม่มีใครรู้เลยว่าบริษัทที่ใช้แนวทาง "รอดูไปก่อน" จะถูกทิ้งไว้ข้างหลังในขณะที่ระบบดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้นของโควิด-19

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท