เผือกร้อนขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่

ถือเป็นประเด็นร้อนประจำสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากช่วงเช้าของวันที่ 9 พ.ย.2565 สมาคมรถแท็กซี่ 4 แห่ง ได้แก่ สมาคมประสานงานรถรับจ้างสุวรรณภูมิ, สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่สาธารณะ, สมาคมแท็กซี่ยานยนต์ไฟฟ้า, สมาคมแท็กซี่สาธารณะไทย สมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย และกลุ่มแท็กซี่ทวงคืนความยุติธรรม นัดรวมตัวกันกว่า 200 คน บุกมาหน้าบริเวณกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามความคืบหน้าการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถยนต์รับจ้าง (รถแท็กซี่)

เนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปรับอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่จากประชาชนระหว่างกระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภค, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ผู้แทนภาคประชาชน และคณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้บริโภค (Core CPI) โดยจะคำนึงถึงความเป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้บริการ

แต่ท้ายที่สุดแล้ว 4 สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่ยังไม่เห็นด้วยกับอัตราค่าโดยสารที่เสนอ และคณะกรรมการบริหารร่วม 4 สมาคมผู้ขับรถแท็กซี่ได้นำเสนออัตราค่าโดยสารใหม่ในที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชนแบกรับภาระจนเกินไป และไม่เกินกรอบที่กระทรวงฯ กำหนด ดังนั้นจึงได้มีการนัดสรุปอีกครั้งในวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา

จึงเป็นที่มาของการรวมตัวของผู้ขับขี่รถแท็กซี่ในครั้งนี้ เรียกได้ว่ากว่าจะสรุปกันได้ก็ใช้เวลายืดเยื้อพอสมควร หลังจากกลุ่มแท็กซี่ต้องการที่จะให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มาพูดคุยหารือด้วยตัวเอง ขณะที่ รมว.คมนาคมก็ได้ส่งตัวแทน คือนายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม นางสุขสมรวย วันทนียกุล เลขานุการ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. ร่วมประชุมหารือกับผู้แทน 4 สมาคม แม้จะมีข้อถกเถียงและบานปลายถึงขั้นปิดถนนราชดำเนินหน้ากระทรวงคมนาคมเกือบ 30 นาที แต่สุดท้ายก็ได้หาทางออกร่วมกันไปได้ด้วยดี

ท้ายที่สุดทางผู้แทน 4 สมาคมได้ยอมรับอัตราดังกล่าว จากนั้น ขบ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม มีความเป็นสากล รวมถึงการจัดหาแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างของมิเตอร์แท็กซี่ให้มีความเหมาะสมกับปัจจุบันและเป็นสากล ส่วนในขั้นต่อไปจะได้มีการออกประกาศกระทรวงคมนาคมเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่ใหม่ ก่อนเริ่มให้มีการจูนมิเตอร์ โดยผู้แทน 4 สมาคมขอให้ ขบ.ช่วยเหลือให้ค่าจูนมิเตอร์มีราคาที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระแก่ผู้ขับรถแท็กซี่จนเกินไป พร้อมทั้งเตรียมพื้นที่ในการปรับจูนมิเตอร์ให้มีความคล่องตัวและรวดเร็วต่อไป

สำหรับ การปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่ครั้งนี้ต่างจากค่าโดยสารแท็กซี่ในปัจจุบันหลักๆ คือ ระยะทาง 1 กม.แรก รถใหญ่ ปัจจุบัน 35 บาท ปรับเป็น 40 บาท, ระยะทางเกินกว่า 1-10 กม. ปัจจุบันรถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 5.5 บาท ปรับเป็น กม.ละ 6.5 บาท, ระยะทางเกินกว่า 10-20 กม. ปัจจุบัน รถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 6.5 บาท ปรับเป็น กม.ละ 7 บาท, ระยะทางเกินกว่า 20-40 กม. ปัจจุบันรถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 7.5 บาท ปรับเป็น กม.ละ 8 บาท และระยะทางเกินกว่า 40-60 กม. ปัจจุบัน รถเล็ก-รถใหญ่ กม.ละ 8 บาท ปรับเป็น กม.ละ 8.5 บาท ส่วนค่ารถติด ปัจจุบันรถเล็ก-รถใหญ่ คิดนาทีละ 2 บาท ปรับเป็นนาทีละ 3 บาท

ทั้งนี้ หลังจากนี้ ขบ.ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวจะเร่งรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมพิจารณาเห็นชอบภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ หากได้รับความเห็นชอบแล้วจะมีการออกประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารแท็กซี่เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป โดยในส่วนนี้จะมีผลเฉพาะแท็กซี่ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ ที่อยู่ในระบบทั้งหมด 80,000 คัน จากที่ให้บริการจริงในปัจจุบัน 60,000 คัน โดยหลังจากมีมติให้ปรับขึ้นค่าโดยสารแล้ว รถแท็กซี่ที่เข้าเกณฑ์ทั้งหมดต้องมาปรับจูนมิเตอร์ค่าโดยสารใหม่

อย่างไรก็ดี หลังจากนี้คงต้องมารอดูกันว่าหลังจากปรับขึ้นค่าโดยสารแล้วบรรดาผู้ขับแท็กซี่จะมีการปรับปรุงการให้บริการมากน้อยแค่ไหน เพราะเรื่องนี้ ขบ.ได้เน้นย้ำแท็กซี่ในเรื่องพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดี เช่น ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร หากพบว่ามีการกระทำผิดจะลงโทษตามกฎหมายขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบตัดแต้มใบอนุญาตขับรถ หรือหากมีการทำผิดซ้ำจะพักใช้ใบอนุญาตขับรถ 3-6 เดือน และเพิกถอนใบอนุญาตขับรถแล้วแต่กรณี บทลงโทษเข้มข้นขนาดนี้ก็ไม่รู้ว่าการให้บริการจะดีขึ้นด้วยหรือไม่ ก็ต้องติดตามกันต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัปเกรดอุตฯเหล็กรับมาตรการCBAM

การเดินหน้ามาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) นั้น ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวอย่างมากของกลุ่มผู้ผลิต

อวดชาวโลกสีสันสงกรานต์2567

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี จะมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่กรุงเทพมหานครก็ได้จัดกิจกรรมอย่างยิ่งใหญ่ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมเชิญชวนชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าร่วมงาน “Maha Songkran World Water Festival 2024 เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” บริเวณถนนราชดำเนินกลางและท้องสนามหลวง ระหว่างวันที่ 11–15 เมษายนนี้

'หนี้ครัวเรือน'แนวโน้มชะลอแต่สัดส่วนยังสูง

“หนี้ครัวเรือน” เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายจับตา โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ที่ระบุว่า ภาพรวมหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3/2566 อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท

เศรษฐกิจไทยจะไปทางไหนต่อ

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเวลานี้เหมือนคนป่วยโรคเรื้อรัง ที่อาการแค่ดีขึ้นเล็กน้อย แต่รักษายังไม่หายขาด ส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ยังคงติดๆ ขัดๆ นับตั้งแต่ผ่านพ้นจากวิกฤตโควิดมากว่า 2 ปี

ไทยจะเป็นฮับเอทานอล

ประเทศไทยหลังจากที่ผลัดเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ ก็ตั้งเป้าการทำงานที่หลากหลายและแปลกตามากขึ้น แน่นอนว่าหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแล

เดินให้สุดทำอย่างจริงจัง

ปัจจุบันพบปัญหาถังก๊าซหุงต้มในท้องตลาดเสื่อมสภาพและหมดอายุตกค้างอยู่ในระบบจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการลักลอบนำถังก๊าซหุงต้มมาเติมในสถานีบริการ LPG เป็นระยะ ซึ่งนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว