รู้เขา…รู้เรา

    ทุกครั้งที่ผมมีโอกาสได้ทำงานกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาติไหนก็ตาม เวลาเสร็จงานแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เราพูดคุยกันแบบสบายๆ ไม่ใช่แบบเพื่อนร่วมงาน ไม่ใช่แบบตำแหน่งต่อตำแหน่ง แต่แค่คนสองคนพูดคุยกัน ผมมักจะถามเขาคำถามหนึ่ง เพื่อเข้าใจตัวเขา และเข้าใจวัฒนธรรมเขามากขึ้น

    ผมจะถามเขาว่า เวลาไปต่างประเทศเป็นเวลามากกว่าหนึ่งหรือสองสัปดาห์นั้น เมื่อกลับมาถึงบ้าน สิ่งแรกที่เขาต้องกินคืออะไร? อาหารที่โหยหาและทำให้น้ำลายไหล เมื่อนึกถึงนั้นคืออะไร?

    คำถามนี้จะทำให้ผู้ถูกถามพูดเป็นชั่วโมงแล้วพูดไม่หยุด และจากคำถามง่ายๆ ตรงนี้ แฟนคอลัมน์จะได้ข้อมูลและเข้าใจตัวตนที่แท้จริงของคนคนนั้น บวกกับวัฒนธรรมของเขา เพราะเวลาเขาจะพูดถึงอาหารที่เขาโปรด หรืออาหารที่เขาโหยหาเมื่อห่างบ้านนาน ส่วนใหญ่เขาจะเล่าเป็นฉากๆ อธิบายละเอียดและสนุก

    เวลาผมจะอธิบายอาหารที่ผมโหยหาเวลาห่างบ้านนาน ผมจะพูดถึงส้มตำไก่ย่าง บวกกับจิ้มข้าวเหนียวทั้งในส้มตำและน้ำจิ้มไก่ คนฟังที่เป็นชาวต่างชาติจะยิงคำถามกลับมาทันทีว่า “อ้าว you ไม่คิดถึงผัดไทย ต้มยำกุ้ง หรือข้าวเหนียวมะม่วงเหรอ?”

    ผมบอกเขาเสมอว่า ตามความเป็นจริง คนไทยทานสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่ได้บ่อยอย่างที่ชาวต่างชาติชอบคิด คนทั่วโลกชอบคิดว่าพวกเรากินผัดไทย ต้มยำกุ้ง กับข้าวเหนียวมะม่วงตลอดเวลา เพราะเป็นสิ่งที่เขาชอบกัน และเป็นสิ่งที่เขารู้จัก ซึ่งไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดครับ เขารู้เท่าที่เขารู้ เหมือนพวกเรารู้เท่าที่เรารู้เกี่ยวกับเขาเช่นเดียวกัน

    เวลาคนอื่นมองผม คนมักเข้าใจว่าผมรู้เรื่องเกี่ยวกับโลกภายนอกและต่างประเทศเยอะมาก แต่ผมรู้เท่าที่ผมรู้เท่านั้นครับ ยกตัวอย่างเมื่อหลายปีก่อน ผมเคยมีแฟนเป็นคนญี่ปุ่น แล้วผมมีโอกาสไปเที่ยวบ้านเขาที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมไม่ได้ไปญี่ปุ่นแบบเที่ยวทั่วไปและอยู่ตามโรงแรม ครั้งนั้นผมจะอยู่บ้านของคนญี่ปุ่นจริงๆ และอยู่แบบคนญี่ปุ่นจริงๆ เป็นเวลา 10 วัน

    พอไปถึงบ้านเขา ผมนึกว่าประตูทุกบานทั้งในและนอกบ้าน ทำจากกระดาษและเลื่อน ผมนึกว่าจะต้องกินข้าวกับปลาทุกมื้อ พอผมเจอประตูปกติในบ้าน (ที่ไม่ได้ทำจากกระดาษและไม่ได้เลื่อน) พร้อมกับทานกับข้าวอื่นๆ ที่ไม่ใช่ข้าวกับปลาอย่างเดียว ผมถามแฟนผม (ณ ตอนนั้น) ว่า “อ้าว บ้านที่ทำมาจากกระดาษ ผู้หญิงที่ใส่กิโมโน กับถือร่มกระดาษอยู่ที่ไหนกัน?” เขาตอบผมว่า “อยู่ที่เดียวกับคนไทยใส่โจงกระเบน ขี่ควายไปทุกทีนั่นแหละ”

    ตอนที่ผมอยู่อินโดฯ ทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มเยอรมันกลุ่มหนึ่ง พอผมพูดถึงเรื่องคนไทยกินแต่ผัดไทย ต้มยำกุ้ง กับข้าวเหนียวมะม่วงในสายตาชาวโลกนั้น พวกเขาก็บอกเหมือนกันว่า ชาวโลกมองคนเยอรมันกินแต่ไส้กรอกมันบดกับขาหมูทอดทุกมื้อเช่นเดียวกัน

    เขาเล่าให้ฟังว่า เวลาใครจะเลี้ยงพวกเขาตามโรงเบียร์เยอรมัน จะสั่งขาหมูทอด 2-3 ขา ไส้กรอกเป็นรอยเส้น แล้วมันบดเป็นกะละมัง เพราะตัวเขาเองชอบ แล้วเข้าใจว่าคนเยอรมันชอบมากกว่า เพื่อนเยอรมันบอกว่า ทุกคนจะตกใจเมื่อมีแต่ชาวเอเชียนั่งกินขาหมูทอด ไส้กรอกกับมันบด แต่คนเยอรมันเองนั่งกินสลัดและแซนด์วิซเบาๆ แล้วพวกเขาต้องอธิบายว่า เขาไม่สามารถกินขาหมูทอด ไส้กรอก กับมันบดได้ทุกวันทุกมื้อ นานๆ ทีกินได้ พอๆ กับผัดไทย ต้มยำกุ้ง กับข้าวเหนียวมะม่วงของพวกเราครับ

    อันนั้นจะเป็นคำถามยอดฮิตที่ผมถามคนทั่วไป แต่ถ้าผมเจอนักการเมือง คำถามยอดฮิตที่ผมจะถามเขาเมื่อเราต้องนั่งติดกัน และไม่พูดกับเขาไม่ได้ จะถามว่า “เวลาคุณหาเสียง คุณหาเสียงอย่างไร?”

    ถามแค่นี้ปุ๊บ คนคนนั้นมักจะตอบแบบสนุกๆ และจะเล่าเป็นฉากๆ ซึ่งทำให้การสนทนาและเวลาผ่านไปเร็วมาก ดีกว่าต่างคนต่างนั่งดูการแสดงทางวัฒนธรรม ดูเมนู และแอบดูโทรศัพท์ตัวเอง ถ้าภาษาไม่ได้เป็นอุปสรรค ทุกครั้งที่ผมถามคำถามนี้กับนักการเมืองที่นั่งข้างๆ ผมนั้น เขาจะรู้จักผมมากขึ้น และผมจะรู้จักเขามากขึ้น ไม่ว่าจะชาติไหนก็ตาม และจากเริ่มต้นด้วยการเป็นคนนั่งข้างๆ หลังการสนทนาปุ๊บ จะเป็นเพื่อนทันที

    และถึงแม้ภาษาเป็นอุปสรรคก็ตาม ถ้าคนคนนั้นมีล่ามก็ยังพูดคุยได้ แล้วจะเป็นการเล่าที่สนุกอยู่ดี แต่ในกรณีที่ภาษาเป็นอุปสรรคและไม่มีล่าม เตรียมตัวดูการแสดงทางวัฒนธรรม ดูเมนู และในที่สุดดูโทรศัพท์ตัวเองครับ

    ที่ผมหยิบยกเรื่องวิธีการหาเสียง เวลานั่งติดกับนักการเมืองชาวต่างชาติ เป็นกรณีที่ผมใช้เป็นประจำ และมันเวิร์กทุกๆ ครั้งครับ เวิร์กพอๆ กับถามเรื่องอาหารที่โหยหาเวลาห่างบ้านนาน ความจริงคำถามแนวแบบนี้สามารถใช้กับทุกอาชีพและแวดวง ผมเคยใช้คำถามแนวนี้ แต่ดัดแปลงให้เข้ากับอาชีพของเขา แล้วมันก็เวิร์กพอๆ กัน

    ที่ผมแนะนำสิ่งนี้ เพราะเห็นว่าโลกของเรา (ส่วนใหญ่) เปิดแล้ว และกลับมาสู่สภาพปกติ ดังนั้นโอกาสที่พวกเราจะต้องพบปะกับชาวต่างชาติกลับมามีเยอะเหมือนเดิม แทนที่เราจะนั่งผวาว่าต้องหาเรื่องคุยกับเขา ผมว่าถ้าคิดเรื่องใกล้ตัวที่เข้าใจง่าย มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Sending a Message หรือ The Calm Before the Storm?

เมื่อสัปดาห์ก่อน ช่วงเวลาที่พวกเราสนุกและพักผ่อนกันเต็มที่ช่วงสงกรานต์นั้น มีเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่มันเกิดได้ทุกเมื่อ และในที่สุดก็เกิดขึ้นจริงๆ ครับ

หลานชายคุณปู่

สวัสดีปีใหม่ไทยครับ ช่วงเขียนคอลัมน์นี้ ผมยังอยู่ที่บ้านเฮา เจออากาศทั้งร้อนมากและร้อนธรรมดา เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องการขับรถขึ้นมาบ้านเฮากับลูกสาว

หลานคุณปู่

คอลัมน์สัปดาห์นี้กับสัปดาห์หน้า น่าจะเป็นคอลัมน์เบาๆ ครับ ผมเชื่อว่าแฟนๆ ครึ่งหนึ่งน่าจะหนีร้อนในไทยไปสูดอากาศเย็น (กว่า) ที่อื่น ส่วนใครที่ไม่ไปไหน คงไม่อยากอ่านเรื่องหนักๆ

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 2)

เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมเขียนเรื่องราวแก๊งที่ผมสัมผัสและรู้จักสมัยอยู่สหรัฐ สำหรับใครที่ชอบฟังเพลงแนว Gangster Rap ก็คงจะคุ้นเคยกับสิ่งที่ผมเขียนไป แต่สำหรับหลายท่านที่เติบโตคนละยุคคนละสมัยอาจไม่คุ้นเลย

'แก๊ง'ล้มรัฐบาลได้ด้วยเหรอ? (ตอน 1)

ผมมีความรู้สึกว่า ช่วงนี้มีข่าวประเภทแก๊งมีอิทธิพลในประเภทประเทศเอลซัลวาดอร์ โคลอมเบีย และเม็กซิโก มีผลต่อเสถียรภาพการเมืองระดับชาติประเทศเขา

To Shortchange กับ To Feel Shortchanged

จากการเรียกร้องของสาวๆ (สวยๆ) ไทยโพสต์ ผมขออนุญาตสวมหมวกฟุดฟิดฟอไฟวันหนึ่ง เพื่อพูดคุยและอธิบายสไตล์ของผม ถึงคำที่ปรากฏในช่วงต้นสัปดาห์จากนิตยสาร Time ครับ