สงครามวันที่ 322: มีแต่เสียงระเบิด ไร้สัญญาณเจรจา

การสู้รบในยูเครนยังคงดำเนินต่อไป  แม้ว่ารัสเซียจะประกาศหยุดยิงนาน 36 ชั่วโมงโดยรัสเซียเมื่อวันที่ 6-7 มกราคม เพื่อฉลองวันคริสต์มาสของนิกาย Orthodox รัสเซียก็ตาม

แต่ถึงวันนี้ วันที่ 322 ของสงครามยูเครน แต่ก็ยังไม่มีวี่แววของการหยุดยิงในแนวรบที่มีการประหัตประหารอย่างถึงพริกถึงขิงที่สุดในสงครามทางตะวันออก

โดยเฉพาะที่แนวรบ Bakhmut ซึ่งกลายเป็นสุสานสำหรับนักรบทั้งสองฝ่าย

การระดมยิงอย่างต่อเนื่องช่วยสนับสนุนความสงสัยคลางแคลงของยูเครนต่อการประกาศ หยุดยิง ของปูติน

ประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนเรียกการ พักรบ ของรัสเซียว่าเป็นเพียง ลูกไม้ ของปูตินที่จะหาทางให้ทหารรัสเซียในแนวรบได้มีโอกาสหยุดหายใจเพื่อจัดทัพใหม่เท่านั้น

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ประกาศชุดความช่วยเหลือทางทหารใหม่มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ (กว่า 1 แสนล้านบาท) แก่ยูเครน ซึ่งรวมถึงยานเกราะ Bradley ที่เรียกกันว่าเป็น รถถังประจัญบานเบา

อีกด้านหนึ่ง สหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรชาวอิหร่านเพิ่มเติมโยงกับการที่อิหร่านส่งโดรนที่รัสเซียไปใช้ในสงครามยูเครน

ขณะที่ผู้นำเบลารุส อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก เยือนฐานทัพที่ทหารรัสเซียมาประจำการอยู่ในประเทศของตน

ยูเครนยืนยันว่าจะไม่มีการสงบศึกใด ๆ จนกว่ารัสเซียจะถอนทหารที่รุกรานดินแดนของยูเครนไปเสียก่อน

ปูตินสั่งให้มีการหยุดยิง เริ่มต้นตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันศุกร์ที่ 6 มกราคม จนถึงเวลา 24.00 น. ของที่ 7 มกราคม ตามการเรียกร้องของสังฆราชแห่งมอสโก (Patriarch Kirill) ประมุขแห่งคริสตจักรรัสเซียออร์โธดอกซ์

แต่ที่ปรึกษาประธานาธิบดียูเครน มิไคโล โพลโดยัก ทวีตข้อความทันทีว่า รัสเซีย “ต้องออกจากดินแดนที่รัสเซียยึดครองในยูเครน-เมื่อถึงเวลานั้น ‘การหยุดยิงชั่วคราว’ จึงจะเกิดขึ้นได้”

และสำทับว่า “จงเก็บความมือถือสากปากถือศีลนี้ไว้กับตัวเองเถอะ”

และย้ำว่ายูเครนไม่ได้โจมตีดินแดนหรือเข่นฆ่าพลเมืองของชาติอื่นเหมือนกับรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ก็เห็นชัดเจนว่า รัสเซียและยูเครนจะไม่มีแนวโน้มที่จะนั่งลงเจรจาสันติภาพระหว่างกันในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

ถือเป็นการปฏิเสธข้อเสนอไกล่เกลี่ยของประธานาธิบดีเรจิป เทยิป เออร์โดอาน ของตุรกี

ที่ยกหูถึงทั้งปูตินและเซเลนสกี แต่ก็ไร้ผล

ปูตินบอกเออร์โดอานว่า รัฐบาลมอสโกพร้อมสำหรับการเจรจา แต่ต้องเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขว่า ยูเครน “ต้องพิจารณาความเป็นจริงเกี่ยวกับดินแดนในภาคพื้นดินใหม่”

หมายถึงการที่รัสเซียประกาศผนวกรวม 4 เขตปกครองในยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย

ฝั่งเซเลนสกีแย้งฉับพลันว่าเงื่อนไขเช่นว่านี้ของมอสโก “เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”

หากมองสถานการณ์สู้รบในปีใหม่ 2023 นี้เพื่อจะมองหา ฉากทัศน์แห่งสงครามและสันติภาพ นั้นก็ต้องตอบคำถามหลักๆ ให้ได้เสียก่อน

เช่นปูตินส่งสัญญาณเริ่มจะหมดเรี่ยวแรงหรือเปล่า

คำตอบคือไม่มี โดยพิจารณาจากคำปราศรัยช่วงปีใหม่ที่ปูตินไปยืนอยู่ข้างหน้าของคนแต่งชุดทหารเพื่อประกาศว่ารัสเซียจะเดินหน้าต่อกับ ปฏิบัติการทางทหาร ในยูเครนอย่างไม่ลดละ

ด้วยภาษาและวาทะที่ดุดันและแข็งกร้าวเช่นนั้น ย่อมสรุปได้ว่าปูตินไม่มีทีท่าว่าพร้อมจะถอย...หรือแม้แต่จะหาทางเจรจาอย่างเป็นรูปธรรม

ยิ่งมีข่าวว่าปูตินเตรียมจะระดมทหารชุดใหม่ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์นี้ประมาณ 500,000 คน ก็ยิ่งเป็นการส่งสัญญาณชัดว่ารัสเซียต้องการ เผด็จศึก ในเร็ววัน

อาจจะเป็นช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิหลังจากหิมะเริ่มละลายจากสนามรบแล้ว

ปูตินพร้อมจะประกาศกฎอัยการศึกในหลายๆ ภาคของประเทศเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ชายรัสเซียหลบหนีการเกณฑ์กองกำลังทหารรุ่นใหม่

และคำปราศรัยในระยะหลังนี้เขาก็ตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกคนในประเทศมีความพร้อมรบจนกว่าจะได้ชัยชนะ

ปูตินเรียกร้องให้คนรัสเซียทุกคนสนับสนุนเป้าหมายร่วมของชาติที่จะต้องชนะศึกในยูเครน เพื่อการปกปักรักษาความมั่นคงของประเทศ มิใช่การรุกรานประเทศอื่น

อีกทั้งยังเรียกร้องให้คนรัสเซียทั้งประเทศต้องพร้อมที่จะยอมเสียสละ โดยไม่ต้องทักท้วงหรือคัดค้านแนวทางของเขา

โดยต้องผนึกกำลังกันภายใต้ธงชาติ ผนึกกำลังรอบตัวเขาในฐานะผู้นำของคนทั้งประเทศ

คำถามต่อมาก็คือ ฝั่งยูเครนมีความอึดพร้อมที่จะสู้ต่อในปีใหม่นี้แค่ไหน?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโอกาสรอดและชนะของยูเครนขึ้นอยู่ว่าตะวันตกจะช่วยเหลือทางทหารให้ยูเครนแค่ไหน

โดยเฉพาะอาวุธศักยภาพสูงจากนาโตและสหรัฐฯ

เห็นได้ว่าเซเลนสกีพยายามอย่างยิ่งที่จะปลุกเร้าคนยูเครนให้เดินหน้าสู้เพราะความพ่ายแพ้ย่อมหมายถึงการสิ้นสลายของความเป็นชาติยูเครน

โดยมุ่งไปที่การจะต้องยึดดินแดนของยูเครนที่รัสเซียยึดครองอยู่ขณะนี้กลับคืนมาให้ได้

รวมถึงคาบสมุทรไครเมีย

ผู้นำตะวันตกยอมรับว่าถึงวันนี้เซเลนสกีได้แสดงความเป็นผู้นำอย่างเข้มแข็งมาตลอด

แต่ก้าวย่างจากนี้ไปจะมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการตัดสินว่ายูเครนจะยืนหยัดแรงกระแทกจากรัสเซียได้มากน้อยเพียงใด

เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ยูเครนจะชนะหรือแพ้ก็อยู่ที่จะได้อาวุธล้ำเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และนาโตเท่าไหร่

และเมื่อไหร่

ประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐฯ ย้ำว่าสหรัฐและตะวันตกไม่อาจจะยอมให้ยูเครนแพ้

และต้องสนับสนุนจนกว่าจะได้รับชัยชนะ

แต่ก็ระมัดระวังไม่ผลักรัสเซียให้จนมุมถึงขั้นที่คำขู่เรื่องอาวุธนิวเคลียร์อาจเป็นจริงขึ้นมาได้

คำถามต่อมาก็คือว่าต่างชาติจะสนับสนุนยูเครนน้อยลงไหมหากเกิดแรงกดดันจากภายในประเทศของแต่ละสมาชิกนาโต

ปูตินพูดเสมอว่ารัสเซียถือไพ่เหนือกว่า เพราะเขาเชื่อว่าอีกไม่นานชาติตะวันตกก็จะเข้าสู่ภาวะ ล้าสงคราม  หรือ war fatigue

ด้วยเหตุผลหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเพราะประชาชนในประเทศต่าง ๆ ทางตะวันตกเผชิญปัญหาปากท้องหนักเพราะสงคราม

และเพราะการต่อสู้กันทางการเมืองในแต่ละประเทศที่อาจจะมีฝ่ายค้านที่ต่อต้านสงครามและต้องการให้มีการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครนโดยไม่สนใจว่ายูเครนจะยอมตามเงื่อนไขของรัสเซียหรือไม่

คำถามที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมจะเจรจาเพื่อหาทางออกจากสงครามหรือเปล่า

คำตอบคือขณะนี้ต่างฝ่ายต่างขึ้นว่าตนกำลังได้เปรียบในสมรภูมิ

ปูตินมั่นใจว่ายูเครนกำลังจะหมดเรี่ยวแรงในเร็ววัน

เซเลนสกียังยืนหยัดอยู่บนฐานที่มั่นคง

ชาวยูเครนเชื่อว่าจะเอาชนะรัสเซียได้ เพราะไหนๆ ก็เสียเลือดเนื้อและได้รับความเสียหายไปมากขนาดนี้จะไม่ยอมรับเงื่อนไขที่เสมือนเป็นผู้พ่ายแพ้เด็ดขาด

พอนำเอาปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงมาประเมินพร้อมๆ กันในสองสัปดาห์แรกของปีใหม่ ก็ยังต้องสรุปว่า

สงครามนี้ยังอีกไกลนัก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้