เอาคนโกงกลับบ้าน

น่าปลื้มใจจริงๆ

คนในพรรคเพื่อไทยออกมาพูดถึงสเปกของผู้นำประเทศ

"นพดล ปัทมะ" รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย บอกว่า

"...หลังการเลือกตั้งอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ประเทศต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ ตัวผู้นำมีความสามารถ สมองดี ทำงานเก่ง และต้องซื่อสัตย์ต่อนโยบายที่หาเสียงช่วงเลือกตั้ง นำไปลงมือปฏิบัติให้สำเร็จ มิใช่ละทิ้งความรับผิดชอบ ไม่เดือดร้อนกับสัญญาหาเสียงที่พรรคต้นสังกัดเคยให้ไว้กับประชาชน

ปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนคือการแก้ความยากจนด้วยรายได้ การเร่งสร้างโอกาสให้คนไทยในทุกมิติ การเพิ่มขีดความสามารถของประเทศด้านทุนมนุษย์ การศึกษา

โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ความโปร่งใส เทคโนโลยี รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมายและระบบราชการ..."

นี่...ด่ากราดกระเทือนไปถึงนายกรัฐมนตรีทุกคนในอดีตกันเลยทีเดียว

จะว่าไปแล้วสเปกนายกฯ ของ "นพดล ปัทมะ" ยังถือว่า "ไม่สุด" ก็ตรงที่ ต้องซื่อสัตย์ต่อนโยบายที่หาเสียงช่วงเลือกตั้ง

ความซื่อสัตย์ของผู้นำ มันต้องซื่อสัตย์ทุกเรื่อง

ซื่อสัตย์ในการบริหารประเทศ ไม่ทุจริตคดโกง นี่จึงจะถือเป็นผู้นำที่มือสะอาดอย่างแท้จริง

แต่เอาเถอะ...การซื่อสัตย์ต่อนโยบายที่หาเสียงเลือกตั้งก็ยังดีกว่าไม่ซื่อสัตย์อะไรเลย

เข้าใจว่าความคิดนี้ต้องการบลัฟรัฐบาลประยุทธ์ ที่ทำไม่ได้หลายเรื่อง

เผื่อยังมีคนเข้าใจผิด

ปฏิรูปตำรวจ

ปฏิรูปการเมือง

สารพัดปฏิรูป ไม่ได้อยู่ในแผ่นพับหาเสียงเลือกตั้งของพรรคพลังประชารัฐเมื่อปี ๒๕๖๒ นะครับ

ที่มีคือ ค่าแรงขั้นต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตร

แคมเปญหาเสียงคือ "นโยบาย ๗-๗-๗"

๗ สวัสดิการประชารัฐ

๗ สังคมประชารัฐ

๗ เศรษฐกิจประชารัฐ

สำเร็จบ้าง ไม่ได้เรื่องได้ราวบ้าง

แต่ที่โดดเด่นรัฐบาลในอดีตเทียบไม่ได้คือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

โดยเฉพาะการต่อยอด เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ต่อเนื่องจากรัฐบาลเผด็จการ คสช. ซึ่งจัดตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีในปี ๒๕๕๘

ฉะนั้นการซื่อสัตย์ต่อนโยบายที่ใช้หาเสียง แม้พรรคเพื่อไทยเคลมได้ว่า ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ปริญญาตรีเงินเดือน ๑๕,๐๐๐ บาท คือผลงานมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นโยบายประชานิยมเหล่านี้สร้างปัญหาอื่นตามมาเช่นกัน 

ทั้งรัฐและเอกชนต้องจ่ายเพิ่ม แต่นโยบายพรรคเพื่อไทยไม่พูดถึงการวางรากฐานให้ประเทศแต่อย่างใด

หนำซ้ำนโยบายจำนวนข้าว นำมาซึ่งการคอร์รัปชันอย่างกว้างขวาง

นโยบายขายข้าวจีทูจีก็เอื้อให้เอกชนบางราย สุดท้ายติดคุกกันกราวรูดทั้งรัฐมนตรีและพ่อค้า

ฉะนั้นเมื่อคนในพรรคเพื่อไทยออกมาบอกกับสังคมว่า  ผู้นำประเทศหลังการเลือกตั้ง จะต้องมีความสามารถ สมองดี ทำงานเก่ง และต้องซื่อสัตย์ต่อนโยบายที่หาเสียงช่วงเลือกตั้ง นำไปลงมือปฏิบัติให้สำเร็จ ก็ต้องย้อนกลับไปดูรัฐบาลยิ่งลักษณ์ว่าซื่อสัตย์กับนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งแค่ไหน

ในเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย เขาลงบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อปลายปี ๒๕๖๔ เอาไว้ดังนี้ครับ

....หลังชนะเลือกตั้ง ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔ อย่างถล่มทลาย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ ๕ สิงหาคม  ๒๕๕๔ ด้วยคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่ง หลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรี #ณ วันนั้น ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๔ รัฐบาลชุดใหม่แถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามมาตรา ๑๗๖ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐

. “เนื่องจากวันนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แนวคิดในการบริหารบ้านเมืองจึงไม่สามารถใช้กรอบแนวคิดแบบเดิมที่เคยเป็นมาในอดีตได้ ดังนั้นกรอบแนวคิดใหม่ๆ จึงมีความจําเป็นที่จะต้องนํามาใช้เพิ่มเติมร่วมกับต้นทุนดั้งเดิมของประเทศที่เรามี เพื่อรวบรวมพลังจากทุกภาคส่วน มาช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศของเราให้ดียิ่งขึ้น”

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา

การแถลงนโยบายถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ๑.นโยบายเร่งด่วนที่จะเริ่มดำเนินการในปีแรก ๒.นโยบายตลอดระยะการบริหารราชการ ๔ ปีของรัฐบาล โดยเนื้อหาทั้งหมดเป็นการนำนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยมาแถลงเป็นนโยบาย

สำหรับนโยบายระยะเร่งด่วนมีทั้งสิ้น ๑๖ นโยบาย ดังนี้

๑.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย

๒.กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ

๓.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐอย่างจริงจัง

๔.ส่งเสริมให้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ และเร่งรัดขยายเขตพื้นที่ชลประทาน

๕.เร่งนำสันติสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้

๖.เร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและนานาประเทศ

๗.แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและผู้ประกอบการ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมันเชื้อเพลิง

๘.ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ สร้างสมดุลและความเข้มแข็งอย่างมีคุณภาพให้แก่ระบบเศรษฐกิจมหภาค

๙.ปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

๑๐.ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุน

๑๑.ยกระดับสินค้าการเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน

๑๒.เร่งเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว โดยปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕ เป็นปีมหัศจรรย์ไทยแลนด์ (มิราเคิลไทยแลนด์)

๑๓.สนับสนุนงานศิลปหัตถกรรมเพื่อสร้างเอกลักษณ์และผลิตสินค้าในท้องถิ่น

๑๔.พัฒนาระบบประกันสุขภาพ ๓๐ บาทรักษาทุกโรค

๑๕.จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้โรงเรียน

๑๖.เร่งรัดและผลักดันการปฏิรูปการเมืองให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขว้าง

จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้น ทุกนโยบายหาเสียงที่ได้ทำการแถลง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ดำเนินการในทุกนโยบายอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งหลายนโยบายได้กลายเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน อย่างเช่น ค่าแรงขั้นต่ำระดับปริญญาตรีของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังเป็นผลงานการดำเนินนโยบายจากรัฐบาลสมัยนั้น คงอยู่ที่ ๑๕,๐๐๐ บาท แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ ๑๐ ปีแล้วก็ตาม หรือนโยบายการเร่งนำสันติสุขกลับสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เน้นการเจรจาประสบผลสำเร็จอย่างชัดเจน รวมไปถึงนโยบายการคลังที่วางเป้าหมายให้ประเทศไทยมีความมั่นคงในระยะยาว มีความสมดุลทางการคลังนั้นส่งผลถึงปัจจุบันเช่นกัน

แต่ก่อนที่ทุกนโยบายจะได้ดำเนินการเสร็จสิ้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหารเมื่อปี  ๒๕๕๗ ตัดตอนทุกนโยบายหยุดการพัฒนาทุกโครงการ  หากมองความเป็นจริงที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐประหารจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยถูกทำให้หยุดพัฒนา ไม่มีการพัฒนาประเทศ ไม่เปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และไม่มีความหวังถึงอนาคต เหมือน ๗ ปีที่ผ่านมาคือความว่างเปล่า....

ถ้าถามถึงความซื่อสัตย์ต่อนโยบาย เอาแค่ข้อ ๓ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนที่ต้องทำในปีแรก แทนที่จะ  "ซื่อสัตย์" กลับกลายเป็น "ทรยศ"

โครงการรับจำนำข้าวก็เห็นๆ กันอยู่ นายกฯ หนี  รัฐมนตรีติดคุก จะอ้างรัฐประหารไม่ได้

เพราะหากไม่มี รัฐบาลจะโกงมากกว่าที่เห็น

ครับ...นายกฯ คนต่อไปต้องชัดเจนครับ อย่างน้อยๆ ต้องไม่มีประวัติคอร์รัปชันในตระกูล

ต้องไม่หาเสียงเอาคนโกงกลับบ้าน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'นักโทษ'ตรวจการบ้าน

ยกประเทศให้ไปเลยดีมั้ยครับ นานๆ ประชดที เพราะทนเห็นบางคนยังใช้สันดานเดิม เป็นสันดานที่ทำให้ต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศนานถึง ๑๗ ปีไม่ได้

เลือกคุกจะได้คุก

ว่อนสิครับ! หนังสือจาก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

ตายหมู่ไปกับ 'ดิจิทัลวอลเล็ต'

ในที่สุดก็ชัดเจน ถือเป็นความรับผิดร่วมกันของคณะรัฐมนตรี โดยมิอาจมีใครปฏิเสธในภายหลังได้เลยว่า ไม่มีส่วนรับรู้กับนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ให้ประชาชนหัวละ ๑ หมื่นบาท ด้วยงบประมาณกว่า ๕ แสนล้านบาท

มันมากับความเงียบ

งานเลี้ยงใกล้เลิกรา... สมาชิกวุฒิสภาชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงเดือนพฤษภาคมนี้แล้วครับ

แผนแทรกแซงกองทัพ

ก็ยังไม่เห็นว่าหน้าตาชัดๆ เป็นอย่างไร หมายถึงกฎหมายต้านการปฏิวัติรัฐประหารครับ