เมื่อญี่ปุ่นหวั่นวิกฤต ‘สังคมสูงวัย’ ก็ต้องหันมาดูเมืองไทยเรา

นายกฯ ญี่ปุ่นบอกว่าปัญหาประชากรลดลง และสภาพสังคมผู้สูงวัยกำลังจะเป็นวิกฤตทางสังคมที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน

ถึงขั้นที่บอกว่าในภาวะเช่นนี้ ญี่ปุ่นจะกลายเป็น  “สังคมที่ชะงักงัน” ไม่อาจจะเดินไปข้างหน้าได้ ทำให้เราต้องหันมามองปัญหาของไทยเราในเรื่องนี้อย่างจริงจังและเร่งด่วน

เพราะไทยเราก็กำลังจะเข้าสู่สังคมคนสูงวัยอย่างสมบูรณ์เช่นกัน

นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ บอกวันก่อนว่ารัฐบาลของเขาจะเร่งดำเนินการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของอัตราการเกิดใหม่ที่ยังดำเนินอยู่

แม้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางการจะพยายามสนับสนุนให้ประชาชนมีลูกเพิ่มขึ้นด้วยแรงจูงใจหลายอย่าง เช่น แจกเงินโบนัสและผลประโยชน์ต่างๆ เพิ่มแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย

ตามสถิติทางการนั้น อัตราการเกิดใหม่ของญี่ปุ่นร่วงลงมาถึงระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปีที่แล้ว ด้วยตัวเลขประชากรที่เพิ่มไม่ถึง 800,000 คนเป็นครั้งแรก

เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เกิดขึ้นเร็วกว่าที่รัฐบาลคาดไว้ถึง 8 ปี สัญญาณทั้งหลายชี้ไปว่าญี่ปุ่นน่าจะประสบภาวะประชากรหดตัวหนักขึ้นไปอีก

จากที่ปัจจุบันมีค่ามัธยฐานของอายุพลเมืองที่ 49 ปี  ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของโลก เป็นรองเพียงประเทศโมนาโกซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก

นายกฯ คิชิดะประกาศในรัฐสภาในวันเปิดสมัยประชุมสภาแรกของปีนี้ว่า เขาจะส่งแผนเพิ่มงบประมาณเพื่อกระตุ้นให้พ่อแม่มีลูกเพิ่มขึ้น

โดยงบประมาณเพื่อการนี้จะสูงขึ้นกว่าเดิมถึงสองเท่า อีกทั้งจะมีการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐที่รับผิดชอบงานด้านเด็กและครอบครัวในเดือนเมษายนเพื่อมาดูแลเรื่องนี้เป็นการเฉพาะด้วย

มีงานวิจัยที่ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีต้นทุนการเลี้ยงเด็กสูงที่สุดเป็นอันดับสามของโลก ตามหลังจีนและเกาหลีใต้

จีนก็เพิ่งจะประกาศตัวเลขของประชากรที่หดตัวลง จนรัฐบาลปักกิ่งต้องเตรียมออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเช่นกัน

สำหรับไทยเรานั้น ถูกคาดว่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์ (Aged Society)

นั่นหมายถึงสัดส่วนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นแตะ  14% ของประชากรทั้งหมดในปี 2565 สาเหตุเป็นเพราะอัตราการเกิดของคนไทยมีแนวโน้มลดต่ำลงมาอย่างต่อเนื่อง

โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 10 ของประชากร  1,000 คน หรือมีจำนวนการเกิดเพียงประมาณ 6 แสนคนต่อปี

สาเหตุเป็นเพราะการแต่งงานที่ช้าและความไม่ต้องการมีบุตรที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จำนวนการเกิดก็เริ่มมีอัตราที่ติดลบหรือหดตัวลงแล้ว

หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป นอกจากจำนวนประชากรไทยจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าแล้ว ไทยน่าจะขยับขึ้นเป็นสังคมสูงอายุแบบสุดยอด (Hyper  Aged Society) หรือมีสัดส่วนประชากรสูงอายุเข้าหา 20% โดยใช้เวลาเพียง 9 ปีหลังการเป็นสังคมสูงอายุแบบสมบูรณ์

ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศญี่ปุ่นที่ใช้ระยะเวลา 11 ปี

ปัญหาที่ตามมาคือ คนสูงวัยของเราส่วนใหญ่เข้าข่าย  “จนก่อนแก่”

มีงานวิจัยที่บอกว่า จำนวนประชากรสูงอายุไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางขึ้นบน น่าจะมีสัดส่วนไม่ถึง 20% ของจำนวนประชากรสูงอายุทั้งหมด

ที่เหลืออีกกว่า 80% อาจมีรายได้เฉลี่ยต่อปีในระดับปานกลางลงล่าง

แต่การใช้จ่ายของกลุ่มผู้สูงอายุน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 5% ต่อปี หรืออาจอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 350,000 บาทต่อคนต่อปี 

โดยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นชัดเจน สิ่งที่จะตามมาคือปัญหาแรงงานก็จะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ

มีการประเมินไว้ว่า ครอบครัวที่มีแต่ผู้สูงอายุต้องประหยัดและจะมีการใช้จ่ายที่ตํ่ากว่าปกติประมาณ 30% ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อในอนาคตหดหายอย่างมาก

สิ่งที่ตามมาคือ การลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทยก็จะยิ่งยากขึ้น

แล้วหนทางแก้ไขคืออย่างไร

เมื่อคนแก่มากขึ้นและคนวัยทำงานเท่าเดิมหรือลดลง ก็จะส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้นได้ หรือเกิดการขาดแคลนแรงงาน

จึงเริ่มมีการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยการใช้เครื่องมือเครื่องจักรหรือนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน หรือการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น

อีกด้านหนึ่งคือการลงทุนและการออม

เมื่อวัยสูงอายุหรือวัยเกษียณขาดรายได้หรือมีรายได้น้อยลง ทำให้มีการออมลดลง ในขณะที่วัยทำงานต้องรับภาระมากขึ้น ทำให้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้มีเงินออมน้อยลงและเงินลงทุนลดลง

ภาครัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการมากขึ้น เพื่อบริการสังคมทางด้านสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งทำให้การลงทุนและการออมของประเทศลดลงด้วย ในแง่ผลผลิตหรือรายได้ประชาชาติ เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ GNP  รายได้ประชาชาติน้อยลง และรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลลดลง  รวมถึงคุณภาพการผลิตลดลง

เรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องใหญ่

เมื่องบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข การแพทย์ บริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น และต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้ และการเก็บภาษีรายได้น้อยลงเนื่องจากมีวัยผู้สูงอายุซึ่งไม่มีรายได้มีสัดส่วนที่มากขึ้น

นั่นย่อมแปลว่า เราต้องเตรียมความพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งควรจะร่วมมือกันทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ

โดยเฉพาะการร่วมกันกระตุ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีการเตรียมวางแผนการออม การใช้ชีวิตในบั้นปลาย การร่วมมือกันในชุมชน การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของผู้สูงอายุ การปรับตัวทางด้านสังคมและจิตใจของผู้สูงอายุ

รวมทั้งการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและการออมเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อถึงวัยผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้เกิดการบริหารจัดการและพัฒนาที่ดี

ปัญหาเรื่องสังคมคนสูงวัยไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เพราะแนวโน้มวันข้างหน้ายังไม่มีสัญญาณว่านโยบายชักชวนให้คนไทยมีลูกมากขึ้นนั้นจะได้ผล

เพราะความขัดข้องด้านเศรษฐกิจ, วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และแรงกดดันจากด้านต่างๆ ของสังคม

เมื่อคนวัยทำงานหดตัวแต่ต้องสร้างรายได้เพื่อดูแลผู้สูงวัยมากขึ้นตลอดเวลา สังคมจะตั้งรับภาระหนักอึ้งเช่นนี้อย่างไร

นั่นเป็นคำถามหนักหนาสาหัสที่ไทยและอีกหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่วันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้