ครบรอบ 2 ปีของรัฐประหารพม่า: ปูทางเลือกตั้งเอื้อพรรคทหาร

พรุ่งนี้ 1 กุมภาพันธ์ 2566 คือวันครบรอบ 2 ปีของการก่อรัฐประหารที่พม่าโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย

สถานการณ์ความตึงเครียด, ปัญหาเศรษฐกิจ, การล่มสลายของประชาสังคมและการถูกประชาโลกโดดเดี่ยวดูเหมือนจะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ

ทุกสัญญาณบ่งบอกว่ากองทัพเมียนมาเตรียมผนึกอำนาจต่อ

และแม้จะอ้างว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ แต่ก็มีการ ออกกฎเลือกตั้งตัดโอกาสคู่แข่งโดยเฉพาะแกนการเมืองที่นำโดยอองซานซูจี

ที่วันนี้กลายเป็นผู้ถูกศาลทหารสั่งจำคุกในหลายคดีเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว

สัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลทหารของเมียนมาประกาศกฎเกณธ์กติกาการเลือกตั้งใหม่สำหรับพรรคการเมืองที่จะลงเเข่งในสนามเลือกตั้งปีนี้

มีรายละเอียดที่เขียนเงื่อนไขว่าด้วยคุณสมบัติของพรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เพิ่มเกณฑ์ให้ยากและสลับซับซ้อนมาขึ้น

ชัดเจนว่าเพื่อเป็นการปูทางสำหรับบทบาทของกองทัพเพื่อให้ผูกขาดอำนาจทางการเมืองต่อไป

โดยให้การจัดการเลือกตั้งเป็นเพียงการจัดฉากให้ดูดีเท่านั้น

พรุ่งนี้เมื่อสองปีก่อน กองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารแล้วก็ให้คำมั่นว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคมปีนี้

ตามกฎกติกาชุดใหม่ที่ประกาศผ่านสื่อของรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองต่าง ๆ ที่ต้องการลงเเข่งเลือกตั้งในครั้งนี้ ในระดับประเทศ จะต้องมีสมาชิกพรรค อย่างต่ำ 1 แสนคน เพิ่มขึ้นจากคุณสมบัติเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสมาชิก 1 พันคนเท่านั้น

นอกจากนี้ พรรคที่เข้าเกณฑ์ใหม่ จะต้องแสดงความจำนงว่าจะลงเเข่งขันภายใน 60 วันจากนี้

หากช้ากว่านี้ก็จะถูกปลดออกจากระบบทะเบียนพรรคการเมือง

แน่นอนว่าพรรคที่มีความพร้อมที่สุดในยามนี้ก็คือพรรคที่เป็นตัวเเทนของทหารเมียนมา นั่นคือ Union Solidarity and Development Party (USDP) ซึ่งมีสมาชิกจำนวนมากที่เป็นอดีตนายพลของกองทัพ

พรรคนี้พ่ายแพ้เลือกตั้งต่อพรรค National League for Democracy หรือ NLD ของนางอองซานซูจี ในปี 2005 และ 2020 อย่างหมดท่า

ก่อนกองทัพทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลของซูจีในปี 2021 โดยอ้างว่ามีการโกงการเลือกตั้งทั้ง ๆ ที่ฝ่ายทหารไม่เคยแสดงหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนี้อย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด

วันนี้ สมาชิกพรรค NLD หรือพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ถูกคุมขังหรือถูกจับไปแล้วหลายพันคน

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกจำนวนมากที่ต้องหลบซ่อนตัวเพื่อหนีการตามไล่ล่าของทหารที่ยิ่งวันยิ่งเพิ่มความรุนแรงในการปฏิบัติต่อผู้คัดค้านการใช้อำนาจเผด็จการของกองทัพ

นักวิเคราะห์ที่ติดตามการเมืองพม่ามายาวนานตั้งข้อสังเกตว่ากฎใหม่ที่ถูกเพิ่งประกาศออกมานั้นไม่ต้องสงสัยว่ามีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมระบบการเมืองที่ทหารสามารถมีบทบาทเข้าควบคุมได้อย่างเต็มที่

มีคำถามว่าตลอดเวลาสองปีที่ผ่านมา แม้ว่าผู้นำทหารพม่าจะถูกโดดเดี่ยวโดยนานาชาติ แต่ไฉนจึงยังสามารถเอาตัวรอดมาได้ถึงทุกวันนี้

ทำไมมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศต่าง ๆ จึงไม่มีผลทำให้มิน อ่อง หล่ายต้องยอมผ่อนปรนมาตรการปราบปรามประชาชนอย่างหนักของตน

คำตอบคือผู้นำทหารพม่าคนนี้พยายามฉวยจังหวะและโอกาสที่มีความปริแยกของประเทศใหญ่ ๆ ในสังคมโลกเพื่อยังสามารถแทรกตัวให้ได้รับความช่วยเหลือจากประเทศที่อยู่คนละข้างกับโลกตะวันตก

เดิมทีสหรัฐฯ และยุโรปหวังว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจและการทูตจะบีบให้กองทัพเมียนมายอมอ่อนข้อแต่ต้องเลิกใช้วิธีการเผด็จการกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตย

แต่ผู้นำทหารพม่ากลับหาประโยชน์จากความแตกแยกทั่วโลก โดยยิ่งเข้ามากลุ่มประเทศที่มีมีความขัดแย้งกับโลกตะวันตก

การจับกุมยาเสพติดในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า ลูกชายของนายพลอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมหรูมูลค่าเกือบ 30 ล้านบาท ณ ใจกลางกรุงเทพฯ

ผลการสืบสวนยังพบสมุดบัญชีเงินฝากของลูกสาวนายพลของสถาบันการเงินชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเจ้าหน้าที่ทหารของเมียนมาและบริษัทในเครือทางทหารหลังการยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2021

อีกทั้งทรัพย์สินของลูกๆ ของมิน อ่อง หล่ายก็ถูกอายัดในสหรัฐฯ

หลายประเทศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับพม่ารวมถึงการไม่ส่งเอกอัครราชทูตไปประจำพม่า

สถาบันป้องกันประเทศของญี่ปุ่นจะหยุดรับนายทหารจากเมียนมาในปีงบประมาณใหม่นี้

กองทัพเมียนมาตอบโต้ว่ามาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ

แต่จีนและรัสเซียยังคบหาพม่าในระดับเดิม

พม่ายังคงรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับจีนและประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ ที่ไม่ฝักใฝ่ตะวันตก

น่าเชื่อได้ว่าคนที่เกี่ยวข้องกับการทหารหลายคนก็คงถือครองทรัพย์สินและเป็นเจ้าของธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านพม่าเช่นเดียวกับลูกของมิน อ่อง หล่าย เช่นกัน

พม่ายังคงติดต่อค้าขายกับเพื่อนบ้านบางกลุ่ม จีน อินเดีย และไทยรวมกันมีสัดส่วนมากกว่า  50% ของการค้าทั้งหมดของเมียนมา

ในทางตรงกันข้าม สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรปมีสัดส่วนเพียง 14%

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าเศรษฐกิจของเมียนมาวันนี้ยังมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งแม้ว่าจะไม่เฟื่องฟูก็ตาม

กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่แท้จริงของเมียนมาจะเติบโตมากกว่า 3% ในปีงบประมาณปีใหม่นี้

ถือเป็นการฟื้นตัวจากการหดตัว 18% ในปีงบประมาณปี 2021

ก็ด้วยเสถียรภาพทางเศรษฐกิจนี่แหละที่ทำให้กองทัพสามารถเริ่มเตรียมการเลือกตั้งทั่วไปได้เร็วสุดในเดือนสิงหาคมนี้

โดยหวังว่าจะมอบอำนาจให้พรรคในเครือข่ายทหารเพื่ออ้างความชอบธรรมกับสังคมโลกว่าได้จัดให้การเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแล้ว

นอกจากนี้ เมียนมายังกระชับความสัมพันธ์กับรัสเซีย ซึ่งมีความขัดแย้งกับชาติตะวันตกในเรื่องสงครามยูเครน

พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย พบกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ในเดือนกันยายน เพื่อยืนยันความร่วมมือทวิภาคี

เมื่อเดือนธันวาคมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติลงมติมติครั้งแรกที่เรียกร้องให้เมียนมาร์เป็นประชาธิปไตย

แต่รัสเซีย จีน และอินเดียงดออกเสียง

สำหรับกองทัพเมียนมา การเป็นแนวร่วมกับรัสเซียและจีนได้ประโยชน์ประการหนึ่งตรงที่ไม่กังวลเรื่องสิทธิมนุษยชนมากเท่ากับสหรัฐฯและยุโรป

ทุกวันนี้ ออง ซาน ซูจี ยังถูกควบคุมตัวหลังการปฏิวัติและถูกตัดสินจำคุกรวม 33 ปีแล้วในหลาย ๆ คดี

กองทัพยังคงทรมานและประหารชีวิตฝ่ายตรงข้าม

สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองระบุว่า พลเรือน 2,827 คนถูกสังหารตั้งแต่การยึดอำนาจ

ไม่แต่เท่านั้น กองทัพพม่ายังได้เดินหน้าโจมตีทางอากาศต่อกลุ่มต่อต้านติดอาวุธและเผาหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านในการสู้รบ บ้านเรือนมากกว่า 48,000 หลังถูกทำลายจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม

อาเซียนหรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่สามารถจะกดดันให้กองทัพพม่ายอมทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” เพื่อให้อาเซียนช่วยสร้างสมานฉันท์ในประเทศนั้น

ดูเหมือนว่ารัฐบาลทหารของเมียนมาจะมีความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับการกุมอำนาจรัฐของตนด้วยซ้ำ

ในการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันเอกราชปีที่ 75 ของเมียนมาเมื่อวันที่ 4 มกราคมที่ผ่านมา มิน อ่อง หล่ายประกาศจะรักษาความสัมพันธ์ฉันท์มิตรกับเพื่อนบ้านอย่างจีน ไทย และอินเดีย

“ผมขอแสดงความขอบคุณอย่างจริงใจสำหรับความร่วมมือและข้อเสนอแนะขององค์กรระดับนานาชาติและระดับภูมิภาคและประเทศต่างๆ ท่ามกลางแรงกดดันและการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา” เขากล่าว

ผมไม่แน่ใจว่าเราควรจะดีใจหรือกังวลที่เขากล่าวขอบคุณประเทศไทยด้วย?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร