มีจริงหรือ : ‘ฮาร์ดคอร์ต้านวัคซีน’ 7-8 ล้านคนในไทย?

กระทรวงสาธารณสุขเรียกคนไทย 7-8 ล้านคน ที่ยังไม่ฉีดวัคซีนว่าเป็น “ฮาร์ดคอร์” (hard-core)

ผมสงสัยว่าได้ข้อสรุปนั้นมาจากไหน

เพราะคำว่า “ฮาร์ดคอร์” หมายถึงคนที่มีความคิดเห็นสุดขั้ว คัดค้านและต่อต้านอย่างชัดเจน

ผมไม่เชื่อว่าคนไทย 7-8 ล้านที่ยังไม่ได้วัคซีนแม้แต่เข็มแรกนั้นจะเป็นเช่นนั้น

ตรงกันข้าม คนส่วนใหญ่ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนนั้นน่าจะมีเหตุผลที่แตกต่างกันไปหลายๆ ทาง

เช่น เข้าไม่ถึงวัคซีนเพราะอยู่ไกลปืนเที่ยง

หรือเข้าไม่ถึงข้อมูลของทางการจึงไม่สามารถลงทะเบียนขอบริการ

หรืออยู่ในสถานะที่ป่วยติดเตียง ไร้ญาติ ขาดคนช่วยเหลือให้รับวัคซีนได้

ส่วนที่ปฏิเสธวัคซีนด้วยความเชื่อว่าเป็นอันตรายหรือกลัวผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์นั้นก็เป็นอีกส่วนหนึ่ง

ผมไม่เชื่อว่าในกรณีของประเทศไทยมีขบวนการต่อต้านการฉีดวัคซีนถึงขั้นที่จะออกมาประท้วงกันเหมือนในประเทศยุโรปและสหรัฐฯ

เพราะความคิดเรื่องการเมือง, เสรีภาพส่วนบุคคลและความรับผิดชอบของรัฐต่อสวัสดิการของประชาชนของฝรั่งกับไทยนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

จึงเป็นหน้าที่ของทางการที่จะต้องเข้าให้ถึงคนเหล่านี้เพื่อให้ได้รับวัคซีนเข็มแรก

หลักปฏิบัติไม่ควรจะเป็นว่าคนไทยที่ต้องการวัคซีนต้องมาหาที่ฉีด

แต่ต้องเปลี่ยนเป็นว่าวัคซีนจะไปหาคนเหล่านี้

ทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขรับทราบถึงปัญหานี้และกำลังหาทางแก้ปัญหานี้อยู่

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกนักข่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ขณะนี้มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อยืนยันคงที่ ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักลดลง ผู้เสียชีวิตยังอยู่ในหลักสิบราย โดยจังหวัดที่มีแนวโน้มต้องจับตามองเป็นพิเศษมี 13 จังหวัด แบ่งเป็น

1) ติดเชื้อเฉลี่ยเกิน 100 รายต่อวัน และผลตรวจ ATK มากกว่า 5% มี 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช

2) ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยเกิน 100 รายต่อวัน และผลตรวจ ATK พบน้อยกว่า 5% มี 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น สระแก้ว และนครราชสีมา

3) ติดเชื้อเฉลี่ย 50-100 รายต่อวัน มี 5 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ ปัจจัยการติดเชื้อในช่วงนี้ส่วนใหญ่มาจากในชุมชน ครอบครัว กิจกรรมเสี่ยง ได้แก่ งานศพ งานบุญ งานเลี้ยงสังสรรค์ และสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน เรือนจำ โรงเรียน ซึ่งหลายจังหวัดพบเป็นคลัสเตอร์ในสถานที่มีแรงงานต่างด้าว

ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว และจับตาดูแนวโน้มผู้ติดเชื้อหลังงานลอยกระทง จนถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากยุโรปซึ่งพบการติดเชื้อสูงขึ้น

นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า สำหรับการเตรียมการเปิดประเทศให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการ เน้นกำกับติดตามมาตรการ VUCA หลัก คือ

V : Vaccine นำประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 โดยจัดบริการทั้งในและนอกสถานพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จัดลงทะเบียน แรงงานต่างด้าว ในชุมชน รวมถึงให้ อสม.ช่วยค้นหาเชิงรุก

U : Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา

C : Covid-Free Setting สถานที่บริการมีความพร้อม ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบ

A : ATK เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงเฝ้าระวังชุมชนหนาแน่น และมีแรงงานต่างด้าว

ปลัด สธ. ยังบอกว่า ได้สั่งให้ทุกพื้นที่ช่วยสำรวจรวบรวมประเด็นและเหตุผลที่คนไม่ยอมฉีดวัคซีนเพื่อนำมาปรับกลยุทธ์

โดยจะมีการอบรมทีมเชิงรุกในการให้ข้อมูลจูงใจให้เข้ารับวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส ก่อนวันที่ 5 ธันวาคมนี้

วันก่อน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ไปเล่าในการบรรยายพิเศษว่าด้วยผลการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ตามเป้าหมาย ในการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดประเทศ และการระบาดของโควิด-19 ประจำปีงบประมาณ 2565 ภาคเหนือว่า

จากตัวเลขที่เป็นทางการ รายงานว่าได้ฉีดวัคซีนไปทั้งหมด 88.9 ล้านโดส

และกำลังใส่ข้อมูลเพิ่มเติมอีกล้านกว่าคน รวมฉีดวัคซีนแล้วกว่า 90 ล้านโดส ตามที่นายกรัฐมนตรีต้องการเร่งให้ฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดส คาดว่าไม่เกินวันที่ 5 ธันวาคม

โดยเชื่อว่าการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย ไม่ควรมีผู้เสียชีวิต หรือเจ็บป่วยรุนแรงจนเกินขีดความสามารถของกระทรวงสาธารณสุข

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนไม่ถึง 5 คน ที่เกิดจากวัคซีนจริงๆ แต่เป็น 5 ในร้อยล้านโดส

ส่วนการเสียชีวิตอื่นๆ ไม่พบว่าเกี่ยวกับวัคซีน หากแต่เป็นสาเหตุที่เกิดร่วมกัน

และย้ำว่าอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนไม่เท่ากับผลข้างเคียงหรือแพ้วัคซีน

"สำหรับประชาชนที่ยังไม่ได้เข้ารับวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งปูพรมลงไปค้นหา โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ไปเคาะประตูบ้าน รวมถึงคนที่ฉีดวัคซีนไปนานแล้ว ก็ต้องเข้ามารับบูสเตอร์ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศฉีดบูสเตอร์ ตอนนี้น่าจะฉีดแล้ว 3-4 ล้านคน

“เพราะการระบาดเกิดจากภูมิที่ลดลงด้วยส่วนหนึ่ง ทางรัฐบาลได้เตรียมวัคซีนไว้ 120 ล้านโดส เข็ม 3 มีพอแน่นอน และเผื่อไปเข็ม 4 นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนโมเดอร์นาอีก 1 ล้านโดส จะเข้ามาที่สนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 14.00 น. และจะมีการจัดสรรวัคซีนต่อไป ขอยืนยันว่าเรามีวัคซีนอย่างเพียงพอ"

ผมเชื่อว่าหากมีการปรับแผนให้ “วัคซีนไปหาคน” แทนที่จะต้องให้ “คนมาหาวัคซีน” ก็จะไม่มีคำว่า “ฮาร์ดคอร์ต่อต้านวัคซีนโควิด” อย่างแน่นอน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร

จีน-อินเดีย: 'สันติภาพร้อน' ที่ทำให้ร่วมแก้วิกฤตพม่าไม่ได้

วิกฤตพม่าทำให้ผมคิดถึงความความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับอินเดียวันนี้ เพราะหากสองยักษ์แห่งเอเชียทำงานร่วมกัน ไทยก็อาจจะเป็นมือประสานให้เกิดกระบวนการเจรจาในพม่าได้