เมื่อมะกัน-อังกฤษ-ออสซี่ เสริมกำลัง แถวบ้านเราก็เริ่มกังวล

ทันทีที่อเมริกา, อังกฤษ และออสเตรเลีย ประกาศแผนร่วมมือสร้างกองเรือดำน้ำนิวเคลียร์ให้ออสเตรเลียภายใต้  AUKUS มาเลเซียก็ออกแถลงการณ์ส่งสัญญาณเตือนภัยทันที

เพราะกลัวว่าจะเกิดการแข่งขันสร้างเสริมแสนยานุภาพทางทหารในภูมิภาคนี้ จนยกระดับความตึงเครียดหนักขึ้น  โดยอ้างนโยบายของมาเลเซียที่ไม่ต้องการให้เรือดำน้ำนิวเคลียร์มาเพ่นพ่านในน่านน้ำของตน

อ้างถึง UNCLOS หรือ UN Convention  on the Law of the Sea ปี 1982 และอ้างถึงสนธิสัญญา Southeast Asia Nuclear Weapons Free Zone Treaty (SEANWFZ)

ตลอดจน ASEAN Declaration on the  Zone of Peace, Freedom and Neutrality (ZOPFAN)

ในคำแถลงการณ์ของรัฐบาลมาเลเซียนี้ยังขอให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้อง เห็นความสำคัญของความโปร่งใสและการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

อีกทั้งขอให้ละเว้นการยั่วยุที่อาจจะนำไปสู่การแข่งขันสร้างแสนยานุภาพทางอาวุธ ที่จะกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคนี้

อินโดนีเซียก็แสดงจุดยืนในทำนองเดียวกัน เพราะหวั่นว่าการที่ AUKUS (Australia, UK, the US)  มาตั้งกองกำลังเรือดำน้ำนิวเคลียร์ในย่านนี้ จะทำให้เกิดบรรยากาศของการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพราะหนีไม่พ้นว่าจะต้องมีการตั้งคำถามว่า แผนสร้างทัพเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์จะทำให้สหรัฐฯ และพันธมิตรผลักดันให้ใกล้ก่อเกิดสงครามกับจีนหรือไม่

เพราะฉับพลันนั้น ปักกิ่งก็มีปฏิกิริยาค่อนข้างจะแรงต่อแผนนี้

จีนมองว่านี่เป็นอีกความพยายามหนึ่งของวอชิงตันที่จะ  “กดดัน ปิดล้อม และกดทับ” จีน

จีนบอกว่านี่เป็นการ "มุ่งสู่เส้นทางอันตราย" โดยที่ "ไม่คำนึงถึงความกังวลของประชาคมโลก" และ "เสี่ยงนำไปสู่การแข่งขันด้านอาวุธ และการแพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ครั้งใหม่"

ต้องไม่ลืมว่าจีนซึ่งมีกองทัพบกและกองทัพเรือใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็รู้สึกว่ากำลังถูกสหรัฐฯ ปิดล้อมด้วย “นาโตเวอร์ชันเอเชีย” ของสหรัฐฯ

จุดยืนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในเรื่องนี้หนักแน่นมั่นคง

จีนเพิ่งประกาศเพิ่มงบประมาณกลาโหมปีใหม่อีก  7.2% และตอกย้ำถึงความสำคัญที่จะทำให้นโยบายความมั่นคงของชาติเป็นวาระที่มีความสำคัญระดับต้นๆ นับจากนี้เป็นต้นไป

ยิ่งเมื่อสี จิ้นผิง ได้นั่งเก้าอี้หมายเลขหนึ่งของจีนต่ออีก  5 ปี ก็ยิ่งต้องแสดงถึงความแข็งแกร่งทางทหารที่จะปกปักรักษาผลประโยชน์ของจีนในทุกๆ ด้าน

แต่น้ำเสียงจากผู้นำสหรัฐฯ อังกฤษ และออสเตรเลียดูเหมือนจะไม่สนใจเสียงคัดค้านจากปักกิ่ง

นายกรัฐมนตรีริชี ซูแน็ก ของสหราชอาณาจักร เน้นถึงภัยที่ประเทศต้องเผชิญในทศวรรษหน้า

จึงจำเป็นต้องเร่งเตรียมพร้อมรับมือความท้าทายด้านความมั่นคง ที่เขาอ้างว่ากำลังถูกยกระดับขึ้นทุกขณะ

นักวิเคราะห์ตะวันตกเคยประเมินว่า ถ้าจีนเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้นก็จะนำไปสู่การเปิดกว้างทางสังคมและเสรีภาพทางการเมืองด้วย

นั่นอาจจะนำไปสู่การทำให้จีนลดท่าทีที่จะเผชิญหน้ากับตะวันตก...และอาจจะยอมให้ความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในประชาคมโลกมากขึ้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเช่นนั้น

จีนต้องการจะขยายเศรษฐกิจไปพร้อมๆ กับความมั่นคง  และจะไม่ยอมให้ตะวันตกกดดันและข่มขู่ให้ต้องทำตามกฎเกณฑ์กติกาของตะวันตก

ดังนั้น จีนจึงสร้างกองทัพและเสริมศักยภาพทางด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง

ถึงขั้นที่หาญกล้าท้าทายกองทัพของตะวันตก

เพราะจีนเห็นแล้วว่าสหรัฐฯ ต้องการจะเล่นเรื่องไต้หวันอย่างไม่ลดละ จีนจึงไม่อาจจะยอมให้สหรัฐฯ ส่งอาวุธมาให้ไต้หวันเพื่อเสริมสร้างอำนาจต่อรองทางทหารกับตน

เป็น “เส้นแดง” ที่ผู้นำจีนขีดไว้ให้สหรัฐฯ อย่างชัดเจน

จีนมีความระแวงสหรัฐฯ ตลอดเวลาว่าได้พยายามสร้างเครือข่ายฐานทัพของตนในประเทศเพื่อนบ้านของจีน จนเป็นที่ประจักษ์ต่อปักกิ่งว่านี่คือ “แผนปิดล้อม" (containment) จีน

เพราะสหรัฐฯ ได้สร้างและเข้าไปใช้สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารของพันธมิตรใกล้จีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้  และฟิลิปปินส์อย่างโจ๋งครึ่ม

การเปิดเกม AUKUS รอบนี้จึงสร้างความหวาดระแวงของจีนต่อตะวันตกเพิ่มขึ้นจากความระหองระแหงในประเด็นร้อนๆ ระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันอื่นๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น กรณีไต้หวัน

สี จิ้นผิง ย้ำหลังจากได้รับไฟเขียวจากสภาประชาชนแห่งชาติให้เป็นผู้นำต่ออีกสมัยว่า จีนจะพยายาม “รวมชาติ”  กับไต้หวันอย่างสันติ

แต่ก็ยืนยันว่าหากมีความจำเป็น โดยเฉพาะถ้ามีการยุแหย่ให้กลุ่มคนในไต้หวันประกาศแยกตัวออกจากจีน ก็พร้อมจะใช้กำลังเข้ายึดไต้หวันเช่นกัน

สหรัฐฯ ก็ยังยืนกรานว่า จะต้องปกป้องไต้หวันตามพันธกิจทั้งด้านกฎหมายและความผูกพันด้านการเมือง

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ย้ำว่าสหรัฐฯ จะปกปักรักษาไต้หวันไม่ให้ถูกรุกราน แม้ว่าตามถ้อยแถลงทางการที่ผ่านมาจะไม่ได้ระบุว่า สหรัฐฯ จะต้องส่งทหารมาช่วยไต้หวันรบทหารจีนจากแผ่นดินใหญ่หากเกิดสงคราม

อีกจุดหนึ่งที่พร้อมจะปะทุระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คือทะเลจีนใต้ ระยะหลังนี้จีนก็ยังเดินหน้าใช้กองทัพเรือเข้าอ้างกรรมสิทธิ์ในหลายพื้นที่ของทะเลจีนใต้ แม้จะถูกกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างสองยักษ์คือเรื่องเทคโนโลยี อเมริกาและตะวันตกอ้างว่าจีนแอบเก็บข้อมูลส่วนบุคคล และขโมยทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงพาณิชย์

แม้แต่เรื่องฮ่องกงก็ยังเป็นหัวข้อที่ตะวันตกคอยใช้สกัดจีนอยู่เป็นประจำ

อเมริกากล่าวหาว่าปักกิ่งเข้าไปครอบงำฮ่องกงหนักขึ้นทุกที และได้ปราบปรามกลุ่มผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่อง

ถ้าฟังถ้อยแถลงของสี จิ้นผิง อย่างต่อเนื่องมาตลอด จะเห็นถึงความเด็ดเดี่ยวที่ต้องการจะพัฒนาด้านการทหารอย่างไม่ลดละ

กองทัพจีนทุ่มเทการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างคึกคัก

จีนสามารถสร้างขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง "ตงเฟิง"  ที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์และระเบิดอานุภาพสูงได้แล้ว

และยังพัฒนาโครงการขีปนาวุธข้ามทวีปอย่างเร่งรีบ โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนหัวรบนิวเคลียร์ให้ได้ 3 เท่าจากปัจจุบัน

และเงินงบประมาณก็ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับรัฐบาลจีน ที่มีความสามารถในการสร้างรายได้อย่างชัดเจน

แน่นอนว่าถ้าเลือกได้จีนก็จะพยายามไม่ทำสงคราม เพราะจะมีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเป้าหมายหลักๆ อย่างอื่น

แต่การที่ออกมาสำทับว่าพร้อมรบนั้น ก็เป็นการใช้ยุทธศาสตร์วาทกรรมเพื่อป้องกันการทำสงคราม

ดังนั้นจะเห็นจีนใช้การทูต การเมือง และเศรษฐกิจเพื่อสลัดแรงกดดันจากตะวันตก

ขณะเดียวกันก็ใช้การทูตและการเมืองเพื่อกดดันให้ตะวันตกได้ถอยห่างออกจากการ “แทรกแซงกิจการภายในของจีน”

โดยหวังว่าจะไม่ต้องใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน เพราะจีนรู้ว่าการเปิดศึกไม่ยาก แต่การระงับสงครามนั้นยากกว่าหลายเท่านัก

เห็นได้จากกรณีสงครามยูเครนเป็นตัวอย่างชัดแจ้งในวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

งบมะกันก้อนใหม่จะช่วยยูเครน พลิกสถานการณ์สู้รบได้แค่ไหน?

แม้ว่ารัฐสภาสหรัฐฯจะเปิดไฟเขียวให้งบประมาณช่วยเหลือทางทหารก้อนใหม่ แต่ยูเครนก็ยังต้องดิ้นรนไม่ให้แพ้สงครามกับรัสเซีย

ทิม คุกบินไปเวียดนาม-อินโดฯ ทำไมไม่แวะประเทศไทย?

สัปดาห์ก่อน ทิม คุก ซีอีโอของ Apple บินข้ามไทยไปเวียดนาม, อินโดนีเซียและสิงคโปร์ เพื่อสรุปแผนการลงทุนหรือเพิ่มกิจกรรมในประเทศเหล่านั้น

มะกันทุ่ม 3.5 ล้านล้านบาท ให้ยูเครน, อิสราเอล, ไต้หวัน!

งบประมาณก้อนใหญ่ที่สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ อนุมัติเพื่อช่วยยูเครน, อิสราเอล และไต้หวันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยลดความกังวลของยูเครนว่ากำลังจะแพ้สงครามได้หรือไม่...ยังต้องคอยดูของจริงในสมรภูมิรบต่อไป

เชื่อไหม:อิสราเอลกับ อิหร่านเคยรักกัน?

อิสราเอลกับอิหร่านเปิดศึกสงครามที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่วโลกวันนี้ มีคำถามว่าทั้ง 2 ชาตินี้กลายเป็นศัตรูคู่อาฆาตกันอย่างรุนแรงเช่นนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีเหตุผลแห่งความบาดหมางกันอย่างไร